แบงก์ชาติจีน ปรับลดดอกเบี้ย เศรษฐกิจซึมกว่าที่คาด ฤทธิ์ล็อกดาวน์-อสังหาฯ

(AP Photo/Ng Han Guan)

นักลงทุนพากันประหลาดใจที่ แบงก์ชาติจีน ยอมปรับลดดอกเบี้ย สะท้อนเศรษฐกิจชะงัก

วันที่ 15 สิงหาคม 2565 ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า ธนาคารประชาชนแห่งชาติจีน หรือธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่อัดฉีดเสริมสภาพคล่องให้บรรดาธนาคารระยะสั้น จาก 2.1% เป็น 2% ขณะเดียวกัน ยังปรับลดอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมหนึ่งปี จาก 2.85% เป็น 2.75% เพื่อรักษาสภาพคล่องในระบบธนาคาร นับเป็นการปรับลดครั้งแรกจากเดือนมกราคม

การปรับลดดอกเบี้ยดังกล่าว ทำให้นักลงทุนพากันประหลาดใจ เพราะปกติแบงก์ชาติจีนจะไม่ลดดอกเบี้ย ด้วยเห็นว่าจะไปเพิ่มความวิตกถึงความเสี่ยงที่หนี้จะเพิ่มขึ้น รวมถึงอัตราเงินเฟ้อผู้บริโภค และแรงกดดันต่อเงินหยวน แม้กระทั่งช่วงไตรมาสสองที่เศรษฐกิจอึมครึม

A resident waits at a bus-stop near an ad depicting shoppers in Beijing, Saturday, Aug. 13, 2022. (AP Photo/Ng Han Guan)

“การที่ธนาคารกลางดูจะตัดสินใจได้แล้ว ว่าขณะนี้ปัญหากดดันมากขึ้น ตัวเลขล่าสุดแสดงให้เห็นว่า โมเมนตัมเศรษฐกิจเดือนกรกฎาคมซึม และการเติบโตชะลอตัว มีการตอบสนองต่อนโยบายผ่อนคลายน้อยลงกว่าช่วยพลิกผันทางเศรษฐกิจก่อนหน้านี้”  จูเลียน อีแวนส์ พริตชาร์ด นักเศรษฐศาสตร์ระดับสูงประจำองค์กรวิจัยเศรษฐกิจ Capital Economics ระบุ

นักเศรษฐศาสตร์ขององค์กร ING ระบุว่า ตลาดมองการตัดลดดอกเบี้ยของจีนตอนนี้ว่างุ่มง่ามไป ส่วนปฏิกิริยาจากตลาดหุ้นของจีนพากันร่วง ไม่ว่า หั่งเส็งของฮ่องกง ดิ่งลง 0.7% เซี่ยงไฮ้ คอมโพสิต SHCOMP ตกลง 0.80% ขณะที่เงินหยวนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเดือน ก.ค.พลาดเป้า

สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจของจีนจากสำนักงานสถิติ เดือนกรกฎาคมออกมาไม่ดีกว่าที่คาดไว้

ตัวเลขค้าปลีกโต 2.7% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอตัวลงจากเดือนมิถุนายนที่มีอัตราขยายตัว 3.1% และพลาดจากตัวเลขที่เหล่านักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ที่ 5%

ส่วนผลผลิตทางอุตสาหกรรมเดือน ก.ค.เพิ่มขึ้น 3.8% ลดจากเดือน มิ.ย.ที่เพิ่มขึ้น 3.9% และหลุดจากที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะโต 4.6%

Delivery men sort out their deliveries on the street in Beijing, Monday, Aug. 15, 2022.  (AP Photo/Ng Han Guan)

มาถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ตึงเครียด ตัวเลขการลงทุนจากนักพัฒนาอสังหาฯ อยู่ที่ 6.4% ในช่วง 7 เดือนแรกของปี เร่งขึ้นมาจากตัวเลขครึ่งปีที่อยู่ที่ 5.4% ส่วนราคาบ้านสร้างใหม่ลดลงเป็นเดือนที่ 11 เมื่อเดือน ก.ค.

“ข้อมูลตัวเลขเดือนกรกฎาฯ สะท้อนว่าการฟื้นตัวหลังล็อกดาวน์เสียแรงขับเคลื่อน ไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้ อีกทั้งการที่ผู้ซื้อไม่ยอมจ่ายเงินผ่อนบ้าน ทำให้สถานการณ์ในภาคอสังหาฯ ย่ำแย่ลงอีกครั้ง” อีแวนส์-พริตชาร์ด จาก บริษัท แคปิทอล อีโคโนมิกส์ กล่าว

โควิดเป็นศูนย์ทำศก.ชะงัก

แนวทางของรัฐบาลจีนที่ไม่ประนีประนอมให้กับการระบาดของโควิด-19 ทำให้มาตรการล็อกดาวน์ใช้นานหลายเดือนและในหลายสิบเมืองทั่วประเทศ โดยเฉพาะเซี่ยงไฮ้ ฮับการเงินของประเทศ เมื่อธุรกิจถูกระงับ โรงงานถูกปิด และชาวบ้านหลายล้านคนต้องกักบริเวณอยู่ในบ้าน จึงทำให้เศรษฐกิจถูกชะงักจากกิจกรรมอย่างหนัก

เจ้าหน้าที่เพิ่งจะเริ่มเปิดเศรษฐกิจอีกครั้งเมื่อเดือนมิถุนายน เมื่อยกเลิกมาตรการคุมเข้มในเมืองสำคัญ ทำให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการบริการเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น แต่เมื่อหลายเมืองถูกล็อกอีกหลังเดือน มิ.ย. ถึงวันที่ 18 ก.ค. มี 41 เมืองถูกล็อกเพื่อควบคุมโควิดสายพันธุ์ BA.5 จาก 31 เมืองในสัปดาห์ก่อนหน้า จึงทำให้เศรษฐกิจสะดุดอีก

A delivery man walks near a Chinese flag after picking up an order at a mall in Beijing, Monday, Aug. 15, 2022. (AP Photo/Ng Han Guan)

ปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ มีสัดส่วนในจีดีพีของจีนถึง 30% จึงเป็นแรงกดดันทางเศรษฐกิจของจีนมาก บรรดาผู้ซื้อบ้านที่ไม่พอใจพากันขู่ที่จะไม่ผ่อนบ้านที่ยังไม่ติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ ยิ่งทำให้ตลาดสั่นสะเทือน และบีบให้นักพัฒนาอสังหาฯ และเจ้าหน้าที่รัฐต้องหาทางปลดชนวนวิกฤต

บริษัท โกลด์แมน แซคส์ (GS) ระบุว่า สถานการณ์คว่ำบาตรการผ่อนบ้านทำให้ประชาชนลังเลที่จะซื้อบ้านใหม่ ซึ่งอาจส่งผลให้ยอดขายตกลงอีก ขณะที่อีแวนส์-พริตชาร์ด ให้ความเห็นว่า การลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางจีนจะเพียงพอที่จะกระตุ้นการเติบโตของเครดิตกลับมาได้หรือไม่

“สถานการณ์ย่ำแย่ขณะนี้ ในด้านความต้องการกู้เงินเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างที่สะท้อนถึงการสูญเสียความมั่นใจในตลาดที่อยู่อาศัย และมาจากการชะงักงันจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ด้วย เรื่องนี้ไม่ง่ายที่จะแก้ไขด้วยนโยบายทางการเงิน” อีแวนส์-พริตชาร์ดกล่าว

Depositors protest in front of the Henan branch of the China Banking and Insurance Regulatory Commission, demanding their money back after their funds were frozen. Lan Nuo Nuo in February/Weibo

คลื่นความร้อนถล่มซ้ำ

ฟุ หลิงฮุ่ย โฆษกรัฐบาลจีน ยังแสดงความวิตกกังวลอีกด้านจากสภาพอากาศสุดขั้วที่จีนเผชิญ ทั้งคลื่นความร้อนตั้งแต่เมื่อเดือนมิถุนายน หลายเมืองอุณหภูมิพุ่งทะลุ 40 องศาเซลเซียส กระทบต่อประชาชนมากกว่า 900 ล้านคน ภัยแล้งทางภาคเหนือกระทบพื้นที่เพาะปลูก ทำให้ราคาพืชผักพุ่งสูง 12.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ขณะเดียวกัน พายุฝนฟ้าคะนองที่รุนแรงทางภาคใต้ก่อให้เกิดน้ำท่วมและดินถล่ม ทั้งยังทำลายพืชผลทางการเกษตร ช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนยังเป็นช่วงเพาะปลูกธัญพืช ดังนั้น ต้องจับตาผลกระทบต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ

คลื่นความร้อน
July 14, 2022, Beijing. A heat wave is sweeping through parts of China. (AP Photo/Ng Han Guan)

ด้านสำนักข่าวเอพี มองในมุมผลกระทบทางการเมืองว่า ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ไม่สวยงามนี้มาตรงกับช่วงเวลาล่อแหลมทางการเมืองสำหรับการขยายอายุผู้นำของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง สมัยที่สาม ต่อไปอีก 5 ปี

พรรคคอมมิวนิสต์แถลงแล้วว่า ไม่อาจจะบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจประจำปีนี้ที่ตั้งไว้ 5.5% หลังจากการควบคุมไวรัสไปสะดุดการค้า และการกวาดล้างฟองสบู่ในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ทำให้ยอดขายและการสร้างบ้านดิ่งลง

โฆษกฟุ หลิงฮุ่ย กล่าวว่า แรงกระตุ้นให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างช้า ๆ และจำเป็นต้องรวมพลังเพิ่มความพยายามในการฟื้นฟูเศรษฐกิจมากขึ้นอีก

…..