จีนสวนกระแส “หั่นดอกเบี้ย” อีกรอบ กู้วิกฤตอสังหาริมทรัพย์

จีน อสังหาริมทรัพย์
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

พีเพิลส์ แบงก์ ออฟ ไชน่า (พีบีโอซี) แบงก์ชาติของจีน ประกาศหั่นดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยลงเป็นครั้งที่ 2 ในปีนี้ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยหวังว่าจะช่วยจำกัดผลกระทบจากวิกฤตสภาพคล่องในภาคอสังหาริมทรัพย์ หลังจากที่เคยดำเนินการไปแล้วครั้งหนึ่งก่อนหน้านี้

อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธนาคารพาณิชย์ให้แก่ลูกค้าชั้นดี หรือ LPR ระยะ 5 ปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในการกําหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ และธนาคารกลางของจีนเป็นผู้ประกาศทุก ๆ วันที่ 20 ของเดือน ถูกหั่นลงมาอยู่ที่ 4.3% จากระดับ 4.45% ซึ่งถือเป็นการปรับลดลงมากกว่าที่บรรดานักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์กันไว้

และถือเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ เท่ากับการปรับลดเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

การปรับลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงดังกล่าว จะส่งผลเป็นการลดต้นทุนในการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ ช่วยอุ้มภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ตกอยู่ในสภาพหนี้ท่วมของจีน ซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่มีสัดส่วนสูงถึง 1 ใน 3 ของผลผลิตทางเศรษฐกิจของประเทศ

ในขณะที่เงินกู้แอลพีอาร์ระยะ 1 ปี ซึ่งเดิมอยู่ที่ 3.7% ถูกปรับลดลงมาอยู่ที่ 3.65%

อย่างไรก็ตาม ที่น่าสังเกตก็คือ การปรับลดดอกเบี้ยมากกว่าที่คาดกันไว้ในครั้งนี้ ไม่ได้ส่งผลกระตุ้นกว้างขวางมากนัก เห็นได้จากดัชนีอ้างอิง ซีเอสไอ 300 ของตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้และเสิ่นเจิ้น ปรับตัวสูงขึ้นเพียงแค่ 0.4%เท่านั้น

นักวิเคราะห์ของ “แคปิตอล อีโคโนมิกส์” ระบุว่า การปรับลดดอกเบี้ยแอลพีอาร์ระยะ 5 ปีลง จะไม่ส่งผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย จนกว่าจะถึงต้นปีหน้า แต่ในเวลาเดียวกัน ก็สะท้อนให้เห็นว่า ธนาคารกลางของจีนมีความกังวลเป็นพิเศษต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในตลาดอสังหาริมทรัพย์

นอกจากนั้น นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังเชื่อกันว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ไม่น่าจะช่วยแก้ปัญหาในแง่ของวิกฤตความเชื่อมั่นในหมู่บริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั้งหลายของจีน ซึ่งกำลังต่อสู้ดิ้นรนอย่างหนักเพื่อดำเนินการให้โครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ “ขายไปแล้วล่วงหน้า” โดยได้รับเงินดาวน์ครบถ้วนแล้วแต่โครงการยังไม่แล้วเสร็จให้แล้วเสร็จสมบูรณ์

วิธีการขายโครงการล่วงหน้าดังกล่าวนี้ถูกนำมาใช้กันจนเป็นเรื่องปกติในจีน จนกระทั่งทางการต้องเข้ามาจัดการกับปัญหาฟองสบู่ที่เกิดขึ้นในภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างเด็ดขาดในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา

เดวิด เชา นักยุทธศาสตร์อสังหาฯโลก ของ อินเวสโก ระบุว่า จนถึงขณะนี้การปรับลดดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยลง ยังไม่ส่งผลให้ยอดขายอสังหาฯขยับสูงขึ้น สาเหตุสำคัญเป็นเพราะเกิดความไม่ไว้วางใจในบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ทั้งหลาย เช่นเดียวกับการไม่ไว้วางใจต่อรูปแบบการขายล่วงหน้าที่เป็นปัญหาอย่างหนักอยู่ในเวลานี้

เขาเชื่อว่าเพียงแค่มาตรการลดดอกเบี้ยจึงอาจไม่เพียงพอ แต่ทางการจีนอาจจำเป็นต้องประกาศใช้มาตรการอื่น ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะมาตรการพิเศษนอกรูปแบบ หรือไม่ก็ต้องเข้าแทรกแซง เพื่อฟื้นศรัทธาต่อตลาดอสังหาฯของจีนขึ้นมาใหม่

เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้ “คันทรีการ์เดน” ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่สุดของจีนในแง่ของยอดขาย ประเมินผลกำไรของกลุ่มในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ว่า ลดลงมากถึง 70% กลายเป็นสัญญาณบ่งชี้ที่สำคัญที่สุด ว่าวิกฤตซึ่งเดิมเคยเชื่อกันว่าจำกัดอยู่แต่เฉพาะในกลุ่มบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง อย่างเช่น ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ นั้น กำลังลามออกไปถึงส่วนที่เหลือของภาคอุตสาหกรรมนี้แล้ว

นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งเชื่อว่า หลังจากการปรับลดครั้งนี้แล้ว ธนาคารกลางของจีนมีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยแอลพีอาร์ระยะ 5 ปีลงต่อไปอีก อย่างน้อยก็อีกครั้งหนึ่งในปีนี้

ไอริส หยาง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำจีนแผ่นดินใหญ่ของ ไอเอ็นจี เชื่อว่า หากต้องการให้เกิดความรู้สึกอยากซื้อขึ้นในหมู่ผู้บริโภคอีกครั้ง และต้องการให้ราคาอสังหาริมทรัพย์มีเสถียรภาพมากขึ้น ก็ต้องทำให้ตลาดได้เห็นความคืบหน้าในการก่อสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคาราคาซังกันอยู่ แต่ขายล่วงหน้าไปก่อนให้เป็นรูปธรรมขึ้นมา

ไม่เช่นนั้นก็ยากที่จะปลุกภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนขึ้นมาได้ในเร็ววัน