“ดอลลาร์แข็งค่า” เพิ่มกำลังซื้อ คนอเมริกันแห่เที่ยวยุโรป

ดอลลาร์แข็งค่า

การแข็งค่าของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ จากการดำเนินนโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ เป็นแรงหนุนให้ “คนอเมริกัน” มีอำนาจในการใช้จ่ายและเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น หลังจากที่ซบเซาไปนานจากสถานการณ์โควิด-19

ไฟแนนเชียลไทมส์ รายงานว่า รายได้ของสายการบินที่ให้บริการเที่ยวบินระหว่างสหรัฐ-ยุโรปมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐที่ทำให้ชาวอเมริกันกลับมาเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะการเดินทางไปยุโรปและสหราชอาณาจักรที่นักท่องเที่ยวอเมริกันได้ประโยชน์จากค่าเงินที่อ่อนกว่า

“ยูไนเต็ด แอร์ไลน์” สายการบินชั้นนำของสหรัฐ เปิดเผยว่า รายรับจากเที่ยวบินสหรัฐ-ยุโรปในไตรมาส 3/2022 อยู่ที่ 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 40% เทียบกับช่วงเดียวกันปี 2019 ส่วน “อเมริกัน แอร์ไลน์ส” ก็ระบุว่า รายได้จากเที่ยวบินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกอยู่ที่ 1,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 19% จากช่วงเดียวกันของเมื่อ 3 ปีก่อน

เช่นเดียวกับรายได้เที่ยวบินระหว่างประเทศของ “เดลต้า แอร์ไลน์” ที่เพิ่มขึ้น 12% และไม่เพียงสายการบินอเมริกันเท่านั้น สายการบินยุโรปอย่าง Norse Atlantic Airways น้องใหม่จากนอร์เวย์ ที่เพิ่งเปิดเที่ยวบินตรงลอนดอน-นิวยอร์ก เมื่อ ส.ค.ที่ผ่านมา ก็ระบุว่า มีความต้องการเดินทางอย่างแข็งแกร่งจากสหรัฐไปยังอังกฤษเช่นกัน

ข้อมูลของ Dohop แพลตฟอร์มจองเที่ยวบินของสายการบินกว่า 60 แห่งแสดงให้เห็นว่าปริมาณของผู้โดยสารจากอเมริกาเหนือไปยังยุโรปเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยในช่วง พ.ค.-ส.ค.ที่ผ่านมา มีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 2.8 เท่าจากช่วง ม.ค.-เม.ย. 2022

“แอนดรูว์ โนเซลลา” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพาณิชย์ของยูไนเต็ด แอร์ไลน์ ระบุว่า การแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นปัจจัยบวกที่กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวอเมริกันจองทริปไปยุโรปมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันค่าเงินปอนด์ของอังกฤษอยู่ที่ราว 1.12 ปอนด์/ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนค่าเงินยูโรอยู่ที่ 1.02 ยูโร/ดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่การเดินทางภายในประเทศของสหรัฐก็กลับมาคึกคักด้วยเช่นกัน โดยอินเตอร์คอนติเนนตัล โฮเทล กรุ๊ป (IHG) เครือโรงแรมยักษ์ใหญ่ระดับโลก เปิดเผยว่า รายได้เฉลี่ยต่อห้อง จากกลุ่มนักเดินทางท่องเที่ยวในสหรัฐไตรมาส 3/2022 เพิ่มขึ้นราว 13% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2019 ขณะที่รายรับจากการเดินทางเชิงธุรกิจ ก็เพิ่มขึ้น 6.2%

แม้ว่าทั้งหมดนี้จะเป็นสัญญาณที่สะท้อนว่าการท่องเที่ยวของสหรัฐกลับมาแข็งแกร่ง แต่ภาวะเงินเฟ้อและราคาพลังงานที่พุ่งสูงยังคงเป็นปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น โดย IHG ยอมรับว่าราคาห้องพักในขณะนี้เพิ่มขึ้นราว 11% จากปี 2019

ซีเอ็นบีซี รายงานว่าค่าโดยสารเครื่องบินเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา เพิ่มสูงขึ้นราว 33% เมื่อเทียบกับ ส.ค. 2021 หรือเพิ่มขึ้น 9.3% หากเทียบกับปี 2019 เช่นเดียวกับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าโรงแรม ค่าเช่ารถ ค่าน้ำมัน รวมถึงราคาอาหารที่ล้วนปรับตัวสูงขึ้น

ผลสำรวจของบริษัทผู้ให้บริการทางการเงิน Bankrate เปิดเผยว่า ชาวอเมริกันวัยผู้ใหญ่ 43% วางแผนท่องเที่ยวในวันหยุดเทศกาลปลายปีนี้ แต่ในจำนวนดังกล่าวมีราว 79% ที่ระบุว่า กำลังปรับเปลี่ยนแผนการเดินทางเพื่อลดค่าใช้จ่าย เช่น ปรับการเดินทางสั้นลงและเลือกจุดหมายปลายทางที่ประหยัดลง

“เทด รอสแมน” นักวิเคราะห์ของ Bankrate ชี้ว่า ค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นทำให้การวางแผนล่วงหน้าและการคำนวณค่าใช้จ่ายเป็นเรื่องสำคัญ แต่ยังเชื่อว่าการเดินทางในช่วงปลายปีนี้อาจจะยุ่งเหยิงเป็นพิเศษ เนื่องจากความต้องการเดินทางของผู้คนที่อัดอั้นมานานได้รับการปลดปล่อย