คำเตือนจาก “ดร.ดูม” เศรษฐกิจสหรัฐกำลัง “หายนะ”

สหรัฐ
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

“นูรีล รูบินี” นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ชื่อดังที่ได้ฉายา “ดร.ดูม” (Dr.Doom) มาจากการคาดการณ์ถึงวิกฤตการณ์ระดับโลกเมื่อปี 2007-2008 ได้อย่างแม่นยำ ล่าสุดได้ส่งสัญญาณเตือนไว้ในคอลัมน์ประจำของตนเองที่เผยแพร่โดย “โปรเจ็กต์ ซินดิเคต” เมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมาว่า เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกากำลังเดินหน้าเข้าสู่ “วัฏจักรหายนะ” ที่แก้ไขได้ยากเย็นอย่างยิ่ง

สภาพเศรษฐกิจที่ยังความเจ็บปวดหนักหนาสาหัสและวนเวียนไม่รู้จบที่ว่านั้น เกิดขึ้นเพราะในเวลานี้ สหรัฐอเมริกา กำลังเผชิญปัญหาใหญ่ 3 ปัญหาพร้อม ๆ กัน นั่นคือ ภาวะเงินเฟ้อสูง, ภาวะหนี้สินสูงทั้งในภาครัฐและเอกชน และสุดท้ายคือสถานการณ์ไร้เสถียรภาพทางการเงิน

ทั้ง 3 ปัญหาตึงเครียดนี้แก้ไขได้ยากมาก เนื่องจากทางแก้ปัญหาหนึ่งจะกลายเป็นเหตุปัจจัยทำให้อีกปัญหาหนึ่งเลวร้ายลงไปอีก

ตัวอย่างเช่น หากต้องการแก้ปัญหาหนี้ ธนาคารกลางจำเป็นต้องลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อบรรเทาภาระหนี้ แต่การลดดอกเบี้ย ก็จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น ทำให้เกิดความจำเป็นในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อยับยั้งภาวะเงินเฟ้อ

รูบินีระบุว่า สถานการณ์ดังกล่าวยิ่งซับซ้อนมากขึ้นไปอีกเมื่อเกิดปัญหาขึ้นในระบบธนาคารถึงขนาด “ซิลิคอนวัลเลย์ แบงก์” และ “ซิกเนเจอร์ แบงก์” ล้มทั้งยืน เมื่อเดือนที่แล้ว เพิ่มแรงกดดันมากขึ้นให้กองทุนสำรองของรัฐบาลกลาง (เฟด) ต้องพลิกนโยบายจากหน้ามือเป็นหลังมือ หันมาลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับระบบการเงิน

แต่เขาเชื่อว่า เฟด ที่ถึงทางตัน จะเลือกใช้วิธีการที่ง่ายที่สุดแบบ “โง่ ๆ” ด้วยการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อไป ซึ่ไม่เพียงส่งผลให้ปัญหาหนี้หนักหนาสาหัสขึ้น ยังทำให้ระบบการเงินสั่นคลอนมากยิ่งขึ้นไปอีก และในที่สุดก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้เลย แต่จะทำให้เศรษฐกิจทั้งระบบเกิดภาวะเงินเฟ้อสูง, หนี้สินสูง และตลาดเงินตลาดทุนถล่มขึ้นตามมา

“ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรงเท่านั้นที่จะทำให้สถานการณ์เงินเฟ้อสงบลงได้ทั้งในแง่ของราคาสินค้าและค่าจ้าง แต่ก็จะส่งผลให้วิกฤตหนี้ยิ่งหนักหนาสาหัสมากขึ้น ซึ่งในที่สุดก็จะย้อนกลับมาทำให้เศรษฐกิจยิ่งทรุดลงหนักมากขึ้นไปอีก” รูบินีระบุ ก่อนที่จะย้ำเตือนไว้ว่า

“ด้วยเหตุที่ว่าการอัดฉีดสภาพคล่องไม่สามารถป้องกันวัฏจักรแห่งหายนะนี้ได้ ดังนั้นทุกคนควรเตรียมตัวต้อนรับวิกฤตสินเชื่อในภาวะ stagflation ที่กำลังจะมาถึง”

สภาวการณ์ดังกล่าวซึ่งรูบินีเรียกว่า “stagflationary debt crisis” และเคยเตือนมาตลอดในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา คือการผสมผสานระหว่างลักษณะที่เลวร้ายที่สุดของภาวะเศรษฐกิจแบบ stagflation คือเงินเฟ้อสูงในขณะที่เศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนักเมื่อทศวรรษ 1970 เข้ากับวิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งใหญ่ที่แพร่ระบาดออกไปทั่วโลกเมื่อปี 2008

เขาเชื่อว่า เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจะตกอยู่ในสภาพเงินเฟ้อสูง อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำ และตลาดหุ้นจะถล่มทลายลงมากถึง 30%

แน่นอนว่ามีนักวิชาการและผู้สันทัดกรณีในวงการที่ไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นของรูบินี แต่ก็มีนักเศรษฐศาสตร์อีกไม่น้อยเช่นกันที่เห็นพ้องว่า เฟดกำลังตกที่นั่งลำบากอย่างยิ่ง และภาวะถดถอยกำลังจะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา

โมฮัมเหม็ด เอล-เอเรียน นักเศรษฐศาสตร์ระดับหัวแถวของสหรัฐอเมริกา เขียนบทความแสดงความคิดเห็นไว้เผยแพร่ผ่านสำนักข่าวบลูมเบิร์ก พูดถึง “ปัญหาสามเส้า” ที่เปี่ยมอันตรายของเฟดไว้เช่นเดียวกัน เขาชี้ให้เห็นว่า ที่ผ่านมาเฟดต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ แต่ตอนนี้กำลังถูกกดดันให้ต้องลดดอกเบี้ยเพื่อลดความผันผวนในภาคการเงิน ทำให้สหรัฐอเมริกาต้องเผชิญกับปัญหาสามเส้า ทั้งต้องแก้ปัญหาเงินเฟ้อ พร้อม ๆ ไปกับการพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ถดถอยและต้องฟื้นฟูภาคการเงินให้กลับมามีเสถียรภาพ

กระนั้น เอล-เอเรียน ก็ยังย้ำว่า ไม่แน่นักว่าภาวะถดถอยจะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาแน่นอนแล้ว

แต่ผู้สันทัดกรณีอีกไม่น้อยเล็งเห็นว่า ภาวะถดถอยแทบหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว

โกลด์แมน แซกส์ เพิ่งปรับเปลี่ยนการคาดการณ์สถานการณ์เศรษฐกิจในปี 2023 ของตนเอง ยกระดับโอกาสที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอยขึ้นจากเดิม 25% ขึ้นเป็น 35%

ในขณะเดียวกัน “เจเรมี แกรนท์แทม” นักลงทุนระดับตำนาน ออกมาเตือนว่า สหรัฐอเมริกาจะเผชิญกับภาวะถดถอยที่เจ็บปวดอย่างยิ่ง ที่อาจทำให้มูลค่าในตลาดหุ้นวอลล์สตรีตวูบหายไปมากถึง 50% เลยทีเดียว

คำทำนายของใครหรือฝ่ายไหนจะเป็นจริงหรือไม่ ดูเหมือนจะไม่สำคัญเท่าใดนักในเวลานี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่ในแวดวงการค้าและการเงินระหว่างประเทศในยามนี้ก็คือ เตรียมตัวให้พร้อมที่สุดสำหรับรองรับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นให้ได้เป็นดีที่สุด