เหตุผลที่ Apple ชอบเวียดนามมากกว่าไทย เลือกเป็นศูนย์กลางการผลิตใหม่ เมื่อออกห่างจีน

เหตุผลที่ apple ชอบเวียดนามมากกว่าไทย
AFP/ GREG BAKER

เปิดเหตุผลที่ Apple ชอบเวียดนามมากกว่าไทย หลังซัพพลายเออร์รายหนึ่งของ Apple เซ็นสัญญาสร้างโรงงานในเวียดนามด้วยงบลงทุน 4,100 ล้านบาท ขณะที่ไทยอาจดีใจเก้อ แม้มีข่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ซัพพลายเออร์ชักชวน Apple มาผลิต MacBook ในไทย แต่ยังไม่ม่คำตอบรับจาก Apple 

เมื่อช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา มีข่าวฮือฮาว่า มีความเป็นไปได้ว่า Apple (แอปเปิล) จะเลือกผลิตคอมพิวเตอร์ MacBook ในประเทศไทย ผ่านการดำเนินการของซัพพลายเออร์ซึ่งคาดว่าเป็นบริษัทไต้หวัน เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศจีนของ Apple เพื่อกระจายความเสี่ยง

ผ่านมาเพียงสัปดาห์กว่า ๆ มีข่าวว่า บริษัท หยวนต้า คอมพิวเตอร์ (Quanta Computer) จากไต้หวัน ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์รายหนึ่งของ Apple ได้เซ็นสัญญาตั้งโรงงานผลิตในเวียดนามเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา ใช้งบลงทุนมูล 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 4,100 ล้านบาท 

รัฐบาลเวียดนามออกแถลงการณ์ระบุว่า หยวนต้าจะสร้างโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดนามดิ่ญ (Nam Dinh) ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงฮานอยไปทางใต้เป็นระยะทาง 90 กิโลเมตร โรงงานนี้จะเป็นโรงงานแห่งที่ 9 ของหยวนต้าทั่วโลก ซึ่งในระยะแรกจะก่อสร้างโรงงานขนาด 22.5 เฮกตาร์ หรือประมาณ 140 ไร่ 

ทั้งนี้ โรงงาน Foxconn ในจังหวัดบั๊กซาง (Bắc Giang) จะเป็นโรงงานแรกในเวียดนามที่ผลิต MacBook โดยจะเริ่มการผลิตในเดือนพฤษภาคม 2566 นี้ 

 

ไทยจะได้ผลิต Macbook หรือไม่ เมื่อเวียดนามปิดดีลแล้ว ?

ไทยจะแห้ว-อดเป็นฐานการผลิต MacBook ของ Apple หรือจะมีลุ้นได้ผลิต ยังไม่มีคำตอบในเวลานี้ 

หากพิจารณาตามข่าวที่ให้ความหวังกับไทยก่อนหน้านี้ มีซัพพลายเออร์ของ Apple จำนวน 3 รายที่เกี่ยวข้องกับการผลิต MacBook ซึ่งกำลังเจรจาเรื่องฐานการผลิตกันอยู่ ส่วนข่าวล่าสุดที่ว่าหยวนต้าเซ็นสัญญาตั้งโรงงานผลิตในเวียดนามนั้นเป็นซัพพลายเออร์รายเดียว ซึ่งอาจจะใช่หรือไม่ใช่บริษัทที่มีข่าวเกี่ยวกับไทยเลยก็ได้ ดังนั้น ก็ยังนับว่าไทยยังมีโอกาสลุ้นอยู่ 

คำตอบจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่สิ่งที่เราทราบแน่แล้วก็คือ Apple ชอบเวียดนามมากกว่าไทย เวียดนามเป็นประเทศแรกที่ Apple เลือกหลังจากขยายการผลิตออกจากจีน และปัจจุบันมีโรงงานผลิตของ Apple ในเวียดนามราว 30 แห่ง ส่วนใหญ่อยูในภาคเหนือของเวียดนาม ซึ่งใกล้กับประเทศจีน 

บทวิเคราะห์ของ JP Morgan เมื่อปลายปี 2565 คาดการณ์ว่า สัดส่วนการผลิตผลิตภัณฑ์ของ Apple ในประเทศจีนจะลดจากสัดส่วน 95% ในปี 2565 เหลือประมาณ 75% ภายในปี 2568 โดยประเมินว่า Apple จะย้ายการผลิต 20% ของ iPad, 5% ของ MacBook, 20% ของ Apple Watch และ 60% ของ Airpods มายังเวียดนาม ภายในปี 2568 และคาดว่าการย้ายฐานการผลิตของ Apple ออกจากจีน จะทำให้เวียดนามกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง 

ส่วนในข่าวที่บอกว่าอาจจะมีการผลิต MacBook ในประเทศไทยนั้น ยังไม่สามารถสะท้อนได้ว่า Apple สนใจประเทศไทย เพราะตามข่าวบอกว่า เป็นฝั่งซัพพลายเออร์เองที่เสนอให้ใช้โรงงานในประเทศไทย โดยที่ยังไม่มีการระบุว่า Apple สนใจหรือได้ตอบตกลงกับแนวทางที่ซัพพลายเออร์เสนอ 

 

ย้อนดูข่าว Apple อาจผลิต MacBook ในไทย แต่ชอบเวียดนามมากกว่า

ข่าวต้นทางที่ Nikkei Asia รายงานจากประเทศไต้หวันเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2566 ระบุว่า ซัพพลายเออร์ของ Apple จำนวน 3 รายบอกกับ Nikkei Asia ว่า มีความเป็นไปได้ที่จะผลิต MacBook ในประเทศไทย ซึ่งซัพพลายเออร์บางรายผลิต Apple Watch ในประเทศไทยมาหลายปีแล้ว 

บริษัทซัพพลายเออร์รายหนึ่งบอกว่ามีโรงงานในประเทศไทยสำหรับผลิตสินค้าให้ลูกค้าเจ้าอื่นอยู่แล้ว และกำลังหารือกับ Apple ถึงความเป็นไปได้ที่จะประกอบ ผลิตชิ้นส่วน และผลิตโมดูล MacBook ในประเทศไทย 

“ตามหลักการแล้ว Apple ขอให้เราตั้งโรงงานในเวียดนามสำหรับผลิต MacBook ตามรอยซัพพลายเออร์รายอื่น ๆ ของ Apple แต่เราเสนอทางเลือกการผลิตที่โรงงานในประเทศไทยของเรา ซึ่งยังมีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สามารถสงวนไว้สำหรับลูกค้า”

“การประกอบ MacBook จะเริ่มในเวียดนามก่อน เราสามารถสนับสนุน (โดยผลิต) ชิ้นส่วนจากโรงงานในประเทศไทยของเราได้เช่นกัน … ใช้เวลา 2-3 วันเท่านั้นสำหรับการขนส่งและพิธีการศุลกากร” ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทซัพพลายเออร์แห่งหนึ่งกล่าวกับ Nikkei Asia  

ผู้บริหารของบริษัทซัพพลายเออร์ของ Apple อีกรายหนึ่งบอกกับ Nikkei Asia ว่า บริษัทของเขากำลังสร้างโรงงานใหม่ในประเทศไทยสำหรับผลิต MacBook และโปรดักต์อื่น ๆ ของ Apple ซึ่งการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปีนี้ 

ส่วนผู้บริหารของบริษัทซัพพลายเออร์รายที่สามกล่าวว่า บริษัทของเขาได้จัดตั้งสายการผลิต MacBook รุ่นทดลองในประเทศไทย แต่ก็กำลังมองหาที่ดินในเวียดนามเพื่อเป็นแผนสำรอง (หาก Apple ไม่ตกลงให้ผลิตในไทย) 

เอ็ดดี ฮาน (Eddie Han) นักวิเคราะห์อาวุโสของ Isaiah Research กล่าวว่า ปัญหาด้านแรงงาน ที่ดิน และต้นทุนในภาคเหนือของเวียดนามดำเนินมาระยะหนึ่งแล้ว และซัพพลายเออร์บางรายเริ่มมองหาที่ดินในภาคกลางของเวียดนาม

“เราทราบดีว่าซัพพลายเออร์บางรายกำลังหารือกับ Apple เกี่ยวกับการสร้างสายการผลิต MacBook ในประเทศไทย แต่ดูเหมือนว่า Apple จะไม่กระตือรือร้นกับความคิดนี้มากนัก” ฮานกล่าวโดยอ้างอิงถึงการรายงานการตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานที่เขาทำ 

 

ทำไม Apple (และใคร ๆ) ชอบเวียดนาม ?

“เวียดนามมีความใกล้ชิดกับจีนในเชิงภูมิศาสตร์ และมีข้อตกลงการค้าเสรีมากกว่าไทย” คือเหตุผลสองประการที่เอ็ดดี ฮาน นักวิเคราะห์อาวุโสของ Isaiah Research วิเคราะห์ว่าทำไม Apple ชอบเวียดนามมากว่าไทย 

AFP/ HOANG DINH NAM / File photo 2012

Vietnam Briefing วิเคราะห์ไว้เมื่อช่วงปลายปี 2565 ว่า เวียดนามได้ประโยชน์จากการที่บริษัทต่างชาติ (โดยเฉพาะบริษัทสินค้าไฮเทค) ย้ายฐานการผลิตออกจากจีน เนื่องด้วยคุณสมบัติที่บริษัทต่าง ๆ มองหา ดังนี้ 

1.เศรษฐกิจที่เติบโตท่ามกลางความไม่แน่นอน : เศรษฐกิจเวียนามเติบโตอย่างรวดเร็ว และเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเศรษฐกิจเวียดนามสามารถรับมือความผันผวนที่เกิดในภูมิภาคได้ ทำให้เป็นจุดหมายปลายทางในฝันของนักลงทุนต่างชาติ

2.เวียดนามมีความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์กับห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมไฮเทคในเอเชีย : เวียดนามเป็นประเทศที่ได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งมาก เพราะเวียดนามอยู่ใกล้กับเสิ่นเจิ้น ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตของจีน 

การสร้างระบบนิเวศการผลิตใหม่ทดแทนการผลิตในจีนนั้นต้องใช้เวลานานและมีค่าใช้จ่ายสูง และแม้ว่า Apple ต้องการย้ายการผลิตออกจากจีน แต่จีนยังเป็นผู้จัดหาวัตถุดิบและส่วนประกอบต่าง ๆ ให้ Apple อยู่ ดังนั้น การย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่ใกล้กับจีนจึงทำให้มั่นใจได้ว่ากระบวนการจะดำเนินไปอย่างราบรื่น และค่าใช้จ่ายในการขนส่งก็สมเหตุสมผล 

นอกจากนี้ เวียดนามยังตั้งอยู่ใกล้กับจุดเชื่อมต่อห่วงโซ่อุปทานของ Apple เช่น ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

3.เวียดนามเป็นจุดเชื่อมต่อการค้าแห่งใหม่ : ด้วยตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่เอื้ออำนวย เวียดนามจึงมีศักยภาพที่จะกลายเป็นศูนย์กลางการค้าในภูมิภาค เวียดนามมีข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศในเอเชียตะวันออก เช่น จีนและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทหลักในห่วงโซ่อุปทานของ Apple และการที่เวียดนามเป็นสมาชิกอาเซียน ก็ทำให้สินค้าที่ผลิตในเวียดนามส่งขายในประเทศสมมาชิกอาเซียนได้โดยปลอดภาษี 

อีกทั้งเวียดนามยังเป็นเจ้าของสถานะ “ชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่ง” (Most Favored Nation : MFN) ของสหรัฐอเมริกา ตามกฎการค้าโลก ซึ่งทำให้การค้าขายระหว่างสหรัฐกับเวียดนามง่ายกว่าประเทศอื่นที่ไม่มีสถานะนี้ 

4.มีแรงงานจำนวนมากและค่าจ้างยังไม่สูง : เวียดนามมีประชากรเกือบ 100 ล้านคน มีคนวัยกำลังแรงงานมาก ซึ่งมีความจำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ปัจจัยต่าง ๆ เกี่ยวกับตลาดแรงงานของเวียดนามถือเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศจำนวนมาก 

ในปี 2563 อัตราการมีส่วนร่วมของคนวัยกำลังแรงงานในเวียดนามอยู่ที่ 74.4% สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก (60.5%) และค่าเฉลี่ยในเอเชียตะวันออกเฉียง (67.2%) อย่างมีนัยสำคัญ ส่วนค่าจ้างขั้นต่ำในเวียดนาม ในปี 2563-2564 อยู่ในช่วงประมาณ 132-190 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน (ประมาณ 4,500-6,500 บาทต่อเดือน) 

นอกจากนั้น จากข้อมูลขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ระบุว่า แม้ว่าได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 หรือการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ แต่อุปทานแรงงานของเวียดนามจะยังคงมีเสถียรภาพในระยะสั้นและระยะกลาง

5.ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง : โครงสร้างพื้นฐานในทางตอนเหนือของเวียดนามพร้อมสำหรับการเป็นฐานการผลิต และการนำเข้า-ส่งออก อย่างเช่น มีนิคมออุตสาหกรรมจำนวนมาก และมีท่าเรือในเมืองไฮฟอง ท่าเรือน้ำลึกที่ทางการเวียดนามกำลังวางแผนจะขยายเพื่อรองรับเรือขนาด 100,000 เดดเวตตัน (DWT) 

ท่าเรือเวียดนาม
ท่าเรือดิงห์หวู (Dinh Vu Port ) ในเมืองไฮฟอง AFP/ Nhac NGUYEN

 

มีอะไรที่ Apple ไม่ชอบเวียดนามไหม ?

Vietnam Briefing รายงานว่า ผู้นำระดับสูงของ Apple เคยแสดงความกังวลเกี่ยวกับขั้นตอนทางศุลกากรของเวียดนามที่ใช้เวลานาน และใช้เวลามากกว่าหลักปฏิบัติสากลทั่วไปในการผ่านพิธีการศุลกากรสำหรับสินค้า 

แม้มีการยื่นคำขอมากมาย (จาก Apple) เพื่อจะให้ถูกกำหนดเป็นธุรกิจที่มีลำดับความสำคัญเป็นพิเศษ ภายใต้โครงการอย่างเป็นทางการของศุลกากรเวียดนาม ซึ่งธุรกิจอื่น ๆ จำนวนมากได้รับและกำลังเพลิดเพลินกับสิทธินั้นอยู่ แต่ความพยายามของ Apple กลับถูกปฏิเสธจากหน่วยงานศุลกากรเวียดนามด้วยเหตุผลหลายประการ

ความกังวลของ Apple ที่มีต่อเวียดนามก็เป็นความกังวลของธุรกิจต่างชาติอื่น ๆ อีกหลายแห่งเช่นกัน เห็นได้จากในการประชุมและสัมมนาต่าง ๆ องค์กรและสมาคมจากต่างประเทศได้เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงในทางปฏิบัติ และได้รับการตอบสนองคำร้องจากรัฐบาลเวียดนาม แต่ประเด็นต่าง ๆ ที่พวกเขาเรียกร้อง เช่น การพัฒนาทักษะแรงงาน หรือการแก้ไขกฎระเบียบสำหรับนักลงทุนต่างชาติ ยังเป็นเรื่องที่ไม่สามารถแก้ไขได้ในเวลาสั้น ๆ