รัฐบาลญี่ปุ่นเร่งเครื่องสู้ศึก EV ให้เงินโตโยต้า 1.2 แสนล้านเยน หนุนผลิตแบตเตอรี่

Photo by Kazuhiro NOGI / AFP

รัฐบาลญี่ปุ่นให้เงินส่งเสริม 120,000 ล้านเยน หรือประมาณ 30,000 ล้านบาทแก่โตโยต้า เพื่อพัฒนาและเพิ่มการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่รัฐบาลหลายประเทศกำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือด 

ขณะที่สหรัฐอเมริกา จีน และอีกหลายประเทศต่างก็กำลังเร่งสนับสนุนการผลิตแบตเตอรี่ในประเทศของตนเอง ญี่ปุ่นถูกมองว่าเป็นประเทศเจ้าตลาดรถยนต์ที่ยังค่อนข้างล้าหลังในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่นก็เริ่มขยับแล้วโดยการให้เงินสนับสนุนภาคเอกชนหลายบริษัทในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา 

ล่าสุด วันที่ 16 มิถุนายน 2566 สำนักข่าว Nikkei Asia (นิกเคอิ เอเชีย) รายงานว่า รัฐบาลประเทศญี่ปุ่นจะให้เงินส่งเสริม บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอรปอเรชั่น (Toyota Motor Corporation) ประมาณ 120,000 ล้านเยน (ประมาณ 30,000 ล้านบาท) สำหรับขยายการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า เพื่อเพิ่มผลผลิตภายในประเทศ และลดความเสี่ยงในห่วงโซ่อุปทาน 

กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (Ministry of Economy, Trade and Industry) ของญี่ปุ่น ได้กำหนดให้แบตเตอรี่ที่ชาร์จไฟได้ (storage battery) เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญอย่างมากต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น และได้กำหนดวงเงินเพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมนี้รวม 330,000 ล้านเยน ในปีงบประมาณ 2565 

ปัจจุบัน บริษัทญี่ปุ่นครองส่วนแบ่งตลาดแบตเตอรี่รถยนต์อยู่เพียง 10% ของการใช้แบตเตอรี่รถยนต์ทั่วโลก นำโดยบริษัทพานาโซนิค (Panasonic) ที่เป็นซัพพลายเออร์ผลิตแบตเตอรี่ให้เทสลา (Tesla) ในขณะที่บริษัทจีนครองส่วนแบ่งตลาดอยู่มากกว่าครึ่ง อ้างอิงตัวเลขตามรายงานของ SNE Research 

รัฐบาลญี่ปุ่นจัดลำดับความสำคัญให้การเพิ่มปริมาณการผลิตแบตเตอรี่ในประเทศเป็นความสำคัญหลัก ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เปลี่ยนไปสู่การผลิตและส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า

โตโยต้าจะลงทุนราว 330,000 ล้าน เพื่อขยายกำลังการผลิตแบตเตอรี่ภายใต้บริษัท Prime Planet Energy & Solutions ซึ่งเป็นกิจการร่วมค้าแบตเตอรี่ของโตโยต้ากับพานาโซนิค และโตโยต้ายังจะเริ่มการผลิตแบตเตอรี่ภายใต้บริษัท Primearth EV Energy ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกับพานาโซนิคอีกแห่งหนึ่งที่ผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฮบริดโดยตรง 

สำหรับเงินอุดหนุนที่ได้รับจากรัฐบาลนั้น โตโยต้าจะนำไปลงทุนในการพัฒนาและผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนฟอสเฟตแบบสองขั้ว (Bipolar LFP) ซึ่งเป็นแบตเตอรี่เจเนอเรชั่นต่อไปที่มีระยะการใช้งานไกลขึ้น 20% และมีราคาต่ำกว่าแบตเตอรี่ที่ใช้ในรถยนต์อเนกประสงค์ bZ4X ประมาณ 40% 

โตโยต้าหวังจะนำเทคโนโลยีแบตเตอรี่นี้มาใช้ในเชิงพาณิชย์ภายในปี 2569 หรือ 2570 โดยจะใช้ในรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นที่ราคาต่ำ 

ทั้งนี้ โตโยต้าตั้งเป้าจะขายรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 1.5 ล้านคัน ในปี 2569 และ 3.5 ล้านคัน ในปี 2573 โดยมีแผนลงทุน 5 ล้านล้านเยน (1.23 ล้านล้านเยน) ในด้านที่เกี่ยวข้องภายในปี 2573 

นอกจากโตโยต้าแล้ว ผู้ผลิตวัสดุแบตเตอรี่และส่วนประกอบหลายรายจะได้รับเงินส่งเสริมเช่นกัน รวมเป็นเงินส่งเสริมประมาณ 130,000 ล้านเยน 

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ได้ตัดสินใจให้เงินส่งเสริมสูงถึง 160,000 ล้านเยน แก่ฮอนด้า มอเตอร์ (Honda Motor) และ จีเอส ยัวซ่า (GS Yuasa) สำหรับแผนการลงทุนด้านแบตเตอรี่ไปก่อนแล้ว  

เงินส่งเสริมจากรัฐบาลนั้นครอบคลุม 1 ใน 3 ของเงินลุงทุน และครึ่งหนึ่งของงบค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของบริษัทที่ได้รับเงินสนับสนุน 

ในยุคก่อนหน้านี้ บริษัทญี่ปุ่นเคยเป็นผู้นำในด้านแบตเตอรี่รถยนต์ โดยมีส่วนแบ่งตลาดทั่วโลกประมาณครึ่งหนึ่งในปี 2558 แต่ปัจจุบัน ผู้เล่นในจีนและเกาหลีใต้มีการผลิตที่มากขึ้น ขณะที่บริษัทญี่ปุ่นก็พึ่งพาทั้งวัสดุและเซลล์แบตเตอรี่สำเร็จรูปจากซัพพลายเออร์ในจีนและเกาหลีใต้มากขึ้น

ผู้ผลิตในจีนอย่าง Contemporary Amperex Technology (CATL) และ BYD เป็นผู้นำในด้านแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนฟอสเฟต (LFP) ส่วนเทคโนโลยีแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนฟอสเฟตแบบสองขั้ว (Bipolar LFP) ที่โตโยต้ากำลังพัฒนาอยู่นั้น ถูกมองว่าเป็นทางเลือกที่มีศักยภาพในการแข่งขัน 

ขณะที่สหรัฐอเมริกาได้ใช้กฎหมายลดอัตราเงินเฟ้อ และสิ่งจูงใจต่าง ๆ ที่มุ่งสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ดึงให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติอเมริกัน เกาหลีใต้ และรายอื่น ๆ เพิ่มการลงทุนในสหรัฐอเมริกามากขึ้น

เมื่อเร็ว ๆ นี้ Nikkei ประมาณการว่า ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุด 10 อันดับแรกของโลก มีแผนลงทุนประมาณ 140,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 4.9 ล้านล้านบาท) ในสหรัฐอเมริกา ในช่วงปี 2565-2571 หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นอย่างโตโยต้ากับฮอนด้าเอง