
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ
จีนได้สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดและนักวิเคราะห์อยู่ไม่น้อย เมื่อมีการประกาศจะออกพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มเติมอีก 1 ล้านล้านหยวน (1.37 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในไตรมาส 4 ปีนี้ เพื่อบูรณะซ่อมแซมพื้นที่ซึ่งได้รับหายนะจากภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งใหญ่ และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ การออกพันธบัตรดังกล่าวจะทำให้การขาดดุลงบประมาณปี 2023 ขยับขึ้นจาก 3% เป็น 3.8% ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยได้เห็นนักที่จีนจะยอมให้มีการเพิ่มการขาดดุล
เงินที่ได้จากการออกพันธบัตรจะถูกโอนไปให้รัฐบาลท้องถิ่น เพื่อช่วยลดภาระด้านการคลังของรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งที่ปรึกษานโยบายบางคนในรัฐบาลจีนระบุว่า รัฐบาลกลางยังมีพื้นที่เหลือในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เพราะสัดส่วนของหนี้ต่อจีดีพียังต่ำเพียงแค่ 21% ต่ำกว่าระดับหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่นซึ่งอยู่ที่ 76% ทั้งนี้ เงินครึ่งหนึ่งจะถูกใช้ในปีนี้ อีกครึ่งหนึ่งใช้ต้นปี 2024
- MOTOR EXPO 2023 ยอดขายรถ 4 วันแรกทะลุ 8,300 คัน
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เงินเข้าบัญชีวันนี้ 38 จังหวัด
- สพฐ.ประกาศหยุดเรียน 4-8 ธ.ค.ให้นักเรียน ม.ปลายเตรียมสอบ TGAT/TPAT
จู จงหมิง รัฐมนตรีช่วยคลังของจีน กล่าวว่า การออกพันธบัตรจะช่วยเพิ่มความต้องการในประเทศและเพิ่มความแข็งแกร่งของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจให้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ส่วนเรื่องความเป็นห่วงของระดับหนี้ของรัฐบาลนั้น นายจูยืนยันว่ายังอยู่ในระดับที่สมเหตุผล
ตามข้อมูลของกระทรวงการคลังจีนเผยว่า 3 ไตรมาสแรกของปี 2023 ได้ออกพันธบัตรรัฐบาลไปแล้วมากกว่า 7.5 ล้านล้านหยวน ถือว่าเป็นเงินค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2020 ซึ่งมีการออกพันธบัตรพิเศษ 1 ล้านล้านหยวน เพื่อรับมือวิกฤตที่เกิดจากโควิด-19 ขณะที่ปี 2022 การออกพันธบัตรลดลงเหลือเพียง 7.5 แสนล้านหยวน
เศรษฐกิจจีนไตรมาส 3 เติบโต 4.9% สูงกว่าคาด โดยได้แรงผลักดันจากหลายด้าน รวมทั้งภาคการบริโภคและอุตสาหกรรม ทำให้เพิ่มความเป็นไปได้ที่จะรัฐบาลจีนจะสามารถบรรลุเป้าหมายจีดีพีที่ประมาณ 5% ในปี 2023 นี้ อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายคนเห็นว่าวิกฤตอสังหาริมทรัพย์จะยังคงเป็นตัวถ่วงเศรษฐกิจและทำให้แนวโน้มของการเติบโตไม่สดใส
ที่ปรึกษานโยบายในคณะรัฐมนตรีจีนรายหนึ่งบอกกับรอยเตอร์ว่า แม้ปีนี้เศรษฐกิจน่าจะเติบโตได้ 5% แต่ยังมีความกังวลลึกๆ เกี่ยวกับภาคเอกชนที่น่าเป็นห่วงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งขาดการปฏิรูประยะยาวที่จะช่วยเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจไปสู่การใช้บริโภคนำแทนการส่งออก ดังนั้น จุดมุ่งเน้นในตอนนี้ยังคงเป็นการรักษาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง เพื่อหลีกเลี่ยงหายนะทางเศรษฐกิจ
“เราจำเป็นต้องเตรียมตัวอย่างดีสำหรับปีหน้า และลงมือปฏิบัตินโยบายเพื่อให้การเติบโตมีเสถียรภาพ ตอนนี้รากฐานการฟื้นตัวไม่ค่อยแข็งแกร่ง”
จาง จื่อเว่ย ผู้บริหารพินพอยต์ แอสเส็ท แมเนจเมนต์ ชี้ว่า การออกพันธบัตรดังกล่าวถือว่า “ไม่ปกติอย่างมาก” และทำให้ตลาดประหลาดใจ ถือว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งของนโยบายที่มาถูกทิศทาง นั่นคือจีนควรดำเนินนโยบายการคลังที่สนับสนุนเศรษฐกิจมากขึ้น เพื่อต่อสู้กับแรงกดดันของภาวะเงินฝืด
ฝ่ายวิจัยของโซซิเอเต เจเนอราล ระบุว่า พันธบัตรพิเศษดังกล่าวของจีนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้จะไม่ทรงพลังระดับปืนบาซูก้า แต่นับว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่มีความสำคัญมากที่สุด รัฐบาลกลางจีนยอมรับว่าเศรษฐกิจที่เพิ่งฟื้นตัวมีความจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือครั้งใหญ่ ลำพังรัฐบาลท้องถิ่นคงไม่สามารถรับหน้าที่นี้ได้ เพราะเกินกำลัง
บรรดาผู้สังเกตการณ์ชี้ว่า เศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวอย่างอ่อนแอหลังโควิด-19 ทำให้ความใฝ่ฝันของจีนที่จะปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจโดยให้การบริโภคเป็นตัวนำต้องถูกจำกัด เพราะต้องหันมาเน้นความเร่งด่วนเฉพาะหน้าในการประคับประคองการฟื้นตัวหลังโควิด-19 ให้มีความต่อเนื่อง ทำให้ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเกิดการถกเถียงร้อนแรงในกลุ่มที่ปรึกษานโยบายของรัฐบาล โดยส่วนหนึ่งสนับสนุนการปฏิรูปอย่างเร่งด่วน เพื่อสร้างเครื่องยนต์ใหม่ ๆ ให้กับเศรษฐกิจที่มากกว่าอสังหาริมทรัพย์และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
อย่างไรก็ตาม ความจำเป็นระยะสั้นในการชุบชีวิตเศรษฐกิจดูเหมือนจะมีความสำคัญกว่าการปฏิรูป ทำให้รัฐบาลเลือกที่จะมุ่งเน้นมาตรการการเงินและการคลังเป็นหลักเพื่ออัดฉีดเศรษฐกิจแทน
- “อินเดีย” ปีนเกลียวจีน “พ่นพิษ” ระงับจ่ายน้ำมันรัสเซียด้วย “หยวน”
- จับตาอสังหาฯจีน หลัง “คันทรี่ การ์เดน” ผิดนัดชำระหนี้ โดมิโนอีกหลายตัวรอล้ม
- เศรษฐกิจจีนไตรมาส 3/2023 โต 4.9% สัญญาณฟื้นตัวนี้ดีพอหรือยัง ?
- นักเศรษฐศาสตร์ 29 คนรุมหั่นคาดการณ์เศรษฐกิจจีน กังวลวิกฤตอสังหาฯไม่มีทางออก
- ว่าด้วย “ทศวรรษที่สาบสูญ” ญี่ปุ่นออกแล้ว-จีนกำลังจะเข้า ?