บริษัทที่อนุญาต WFH-WFA “รายได้” โตเร็วกว่าบริษัทที่เข้มงวดการเข้าออฟฟิศถึง 4 เท่า

บริษัท รายได้เติบโต

ผู้บริหารหรือนายจ้างอาจจะรู้สึกสบายใจกว่าถ้าเห็นว่าพนักงานเข้ามาทำงานที่บริษัท อยู่ในระยะสายตาที่มองเห็นได้ว่าใครทำงานอยู่หรือไม่ ถึงแม้ว่าการที่พนักงานนั่งทำงานอยู่ในสำนักงานก็หาใช่ว่าเขาจะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพดีกว่าการทำงานอยู่ที่อื่นเสมอไป   

มีผลการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งบลูมเบิร์ก (Bloomberg) นำมารายงานเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า การให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน (work from home) หรือทำงานจากที่ไหนก็ได้ (work from anywhere) นั้น “ส่งผลดี” ต่อการเติบโตของ “รายได้” ของบริษัท 

การศึกษาวิเคราะห์ที่กำลังกล่าวถึงนี้ เป็นการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูล 3 ปี จัดทำโดยบอสตัน คอนซัลติง กรุ๊ป (Boston Consulting Group) ร่วมกับ สกู๊ป เทคโนโลยี (Scoop Technologies Inc.) ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งวิเคราะห์รูปแบบการทำงานและรายได้ของบริษัทมหาชนจำนวน 554 แห่ง ใน 20 อุตสาหกรรม ตั้งแต่เทคโนโลยีไปจนถึงประกันภัย ซึ่งมีการจ้างงานพนักงานรวม 26.7 ล้านคน 

การสำรวจและวิเคราะห์นี้พบว่า บริษัทที่ “ยืดหยุ่นเต็มที่” อนุญาตให้พนักงานทำงานจากที่บ้านหรือจากที่ไหนก็ได้นั้น “รายได้” เติบโตเร็วกว่าบริษัทที่ไม่ยอมรับการทำงานทางไกลถึง 4 เท่า โดยบริษัทที่มีความยืดหยุ่นอย่างเต็มที่ อนุญาตให้พนักงานทำงานทางไกลได้เต็มรูปแบบ หรือให้พนักงานเลือกได้เองว่าจะเข้าไปทำงานที่สำนักงานวันไหนนั้น มีรายได้จากการขายหรือการให้บริการเพิ่มขึ้น 21% ในช่วงปี 2020-2022 ขณะที่บริษัทที่ใช้ระบบผสมผสานทั้งทำงานที่ออฟฟิศและทำงานที่บ้านตามการแบ่งของบริษัท และบริษัทที่ให้พนักงานเข้าทำงานที่ออฟฟิศเต็มรูปแบบ มีรายได้เพิ่มขึ้น 5% 

ทั้งนี้ ผลการวิเคราะห์นี้ผ่านการปรับค่าความต่างของบริษัทในแต่ละอุตสาหกรรมให้เป็นมาตรฐานเมื่อเทียบกับการเติบโตโดยเฉลี่ยของอุตสาหกรรมแล้ว เพื่อไม่ให้เกิดการบิดเบือนผลการศึกษา

เมื่อเทียบกันเฉพาะในบรรดาบริษัทที่กำหนดให้พนักงานเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศเต็มรูปแบบ หรือกำหนดให้เข้าบ้างบางวันเป็นอย่างน้อย การสำรวจพบว่า บริษัทที่พนักงานเข้าออฟฟิศเพียงไม่กี่วันต่อสัปดาห์มีอัตราการเติบโตของรายได้เป็น 2 เท่าของบริษัทที่พนักงานเข้าไปทำงานในออฟฟิศเต็มเวลา

แม้ว่ารายงานจะไม่ได้ศึกษาไปถึงความเชื่อมโยงเชิงสาเหตุโดยตรงระหว่างนโยบายที่ยืดหยุ่นกับการเติบโตของรายได้ แต่มีหลายเหตุผลที่วิเคราะห์ได้ 

เดบบี โลวิช (Debbie Lovich) จาก บอสตัน คอนซัลติง กรุ๊ป ชี้ว่านโยบายที่ยืดหยุ่นบ่งชี้ถึงวัฒนธรรมที่ให้คุณค่ากับนวัตกรรม การมีส่วนร่วมของพนักงาน และกลยุทธ์ที่มองไปข้างหน้า เป็นการสร้างความเชื่อมั่นในหมู่พนักงาน ควบคู่ไปกับให้สวัสดิการที่เป็นมิตรต่อพนักงาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจส่งผลให้รายได้สูงขึ้นอย่างที่เห็น 

ร็อบ ชาโดว (Rob Shadow) ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Scoop วิเคราะห์ว่า อัตราการเติบโตของรายได้ที่ดีกว่าของบริษัทที่มีนโยบายเป็นมิตรกับการทำงานระยะไกล (remote work) อาจเนื่องมาจากการอนุญาตให้ทำงานระยะไกลช่วยให้บริษัทหาพนักงานได้เร็วขึ้นเมื่อมีการเปิดรับสมัครงาน เพราะคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ไกลจากบริษัทก็สามารถสมัครงานได้ ไม่ต้องคำนึงเรื่องการเดินทางหรือการหาที่พักสำหรับทำงาน ขณะเดียวกันนั้น บริษัทก็สามารถรักษาพนักงานเก่าไว้ได้ในอัตราที่สูงด้วย 

ยกตัวอย่างเช่น กรณีของบริษัทประกันภัย ออลล์สเตท คอร์ป (Allstate Corp.) ซึ่ง 84% ของพนักงานใหม่ในสหรัฐที่บริษัทรับเข้าทำงานในปีที่ผ่านมาไม่ได้อาศัยอยู่ใกล้สำนักงานสาขาแม้แต่แห่งใดแห่งหนึ่งของบริษัทเลย และบริษัทนี้ยังพบด้วยว่า ตำแหน่งงานที่เอื้อให้พนักงานทำงานระยะไกลมากกว่า หรือเรียกว่า “งานที่เป็นมิตรกับการทำงานระยะไกล” ก็ได้รับใบสมัครมากกว่างานที่ไม่เป็นมิตรกับการทำงานระยะไกลถึง 2 เท่า 

การสำรวจครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่มีการสำรวจแบบกว้างและมีความหลากหลาย สำหรับโจทย์การสำรวจว่าการจัดการรูปแบบการทำงานที่แตกต่างกันส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรอย่างไร ซึ่งเป็นการพัฒนาขึ้นจากก่อนหน้านี้ที่งานวิจัยส่วนใหญ่ที่เปรียบเทียบการทำงานระยะไกลกับการทำงานในออฟฟิศนั้นมีขอบเขตการสำรวจที่แคบ เช่น สำรวจในพนักงานป้อนข้อมูลในประเทศอินเดีย หรือพนักงานคอลเซ็นเตอร์ในประเทศจีน เป็นต้น 

อิงตามการรายงานของบลูมเบิร์ก ผู้บริหารธุรกิจของบริษัทต่าง ๆ เช่น แอมะซอน (Amazon.com Inc.) และ เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค (JPMorgan Chase & Co.) ไม่ค่อยอ้างถึงข้อมูลทางการเงินเมื่อเรียกร้องให้พนักงานกลับมาทำงานในสำนักงาน โดยให้เหตุผล (ซึ่งยังเป็นข้อถกเถียง) ว่า การทำงานในสำนักงานนั้นช่วยส่งเสริมการทำงานร่วมกันและวัฒนธรรมขององค์กร 

ผลการสำรวจบริษัท 5,565 แห่งในฐานข้อมูลของสกู๊ป เทคโนโลยี พบว่า สัดส่วนบริษัทที่กำหนดให้ต้องในสำนักงานแบบเต็มเวลาลดลงเหลือ 38% ณ เดือนตุลาคม 2023 จากสัดส่วน 49% ในการสำรวจเมื่อต้นปี

อย่างไรก็ตาม ผู้สนับสนุนการกลับเข้าทำงานในสำนักงานก็มีข้อมูลใหม่ที่จะสนับสนุนแนวทางของตนเองเช่นกัน โดยการสำรวจอีกชิ้นหนึ่งของบริษัทที่ปรึกษาด้านโลกการทำงาน “เมอร์เซอร์” (Mercer) ที่สำรวจพนักงานที่ทำงานเต็มเวลาในสหรัฐจำนวน 4,505 คน พบว่า ผู้ที่ทำงานอยู่ในสำนักงาน 4 วันต่อสัปดาห์รายงานว่ามีแรงจูงใจในการทำงานและมีความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรในระดับ “สูงสุด” แต่ผลสำรวจนี้ขัดแย้งกันเองกับการสำรวจคล้ายกันนี้ที่มอร์เซอร์สำรวจเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งพบว่า ผู้ที่ทำงานสำนักงานเพียงวันเดียวรู้สึกมีส่วนร่วมกับองค์กรมากที่สุด

ย้อนกลับไปที่การสำรวจร่วมของ บอสตัน คอนซัลติง กรุ๊ป และสกู๊ป เทคโนโลยี ที่กล่าวถึงตอนต้น พบว่า ในบรรดาบริษัทต่าง ๆ ที่มีนโยบายให้ต้องมีการกำหนดจำนวนวันที่แน่นอนสำหรับทำงานในสำนักงานนั้นก็ยอมรับการทำงานระยะไกลกันมากขึ้น โดยส่วนใหญ่กำหนดให้ใช้เวลาในสำนักงาน 2 หรือ 3 วัน มีเพียง 6% เท่านั้นที่กำหนดให้ใช้เวลาในสำนักงาน 4 วัน

นอกจากนั้น การวิจัยก่อนหน้านี้ของรองศาสตราจารย์ ปริทวิราช ชูธุรี (Prithwiraj Choudhury) แห่ง ฮาวาร์ด บิสซิเนส สคูล (Harvard Business School) พบว่า การทำงานอยู่ในสำนักงานเพียง 1-2 วันเป็นจำนวนวันที่เหมาะสมที่สุดสำหรับรูปแบบการทำงานแบบผสมผสาน เนื่องจากช่วยให้พนักงานมีความยืดหยุ่นอย่างที่พวกเขาต้องการ โดยที่ยังไม่ถึงขั้นแยกตัวออกไปโดดเดี่ยวอย่างการทำงานระยะไกลเต็มรูปแบบ 

สอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่ดีตามที่ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ทำงานและสถานประกอบการแนะนำไว้ก่อนหน้านี้ก็คือ การให้ทีมแต่ละทีมมีอิสระในการเลือกเวลาและสถานที่ในการทำงานของทีมตนเอง แทนที่จะให้ CEO กำหนดนโยบายการเข้างานที่บังคับใช้เหมือนกันทั่วทั้งบริษัท ซึ่งไม่ค่อยเวิร์กสำหรับทุกคน นอกจากนั้น ทีมที่ได้กำหนดนโยบายการทำงานแบบไฮบริดร่วมกันเองจะมีระดับความผูกพันของพนักงานสูงที่สุดด้วย