ปัญหาใหญ่กำลังมาถึง “ประชากรโลกลด” เด็กเกิดกระจุกในประเทศยากจน

ประชากรโลกลด

มีงานวิจัยที่เผยแพร่ล่าสุดเตือนถึงอีกปัญหาใหญ่แห่งอนาคต คือ ปัญหาอัตราการเกิดต่ำในประเทศ/ดินแดนส่วนใหญ่ทั่วโลก ส่งผลให้จำนวนประชากรโลกจะลดลงภายในสิ้นศตวรรษนี้ ขณะเดียวกัน “การเกิด” ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในประเทศยากจน ซึ่งไม่มีทรัพยากรมากเพียงพอต่อประชากร

แนวโน้มดังกล่าวทำให้โลกเกิดการแบ่งแยกระหว่างภาวะ “Baby Burst” กับ “Baby Boom” คือ ขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ซึ่งเศรษฐกิจพัฒนามากกว่ามีอัตราการเกิดต่ำ แต่บรรดาประเทศยากจนซึ่งมีความอ่อนไหวต่อความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมืองกลับมีอัตราการเกิดสูง

โครงการศึกษาวิจัยโดยคณะนักวิจัยจาก IHME ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยด้านสุขภาพของมหาวิทยาลัยวอชิงตันในสหรัฐอเมริกาคาดการณ์ว่า ภายในปี 2050 กว่า 155 ประเทศ/ดินแดน จาก 204 ประเทศ/ดินแดนทั่วโลก หรือคิดเป็น 76% จะมีอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำกว่าระดับที่จะสามารถทดแทนจำนวนประชากรที่เสียชีวิตไปได้

นักวิจัยคาดการณ์ว่า ภายในปี 2100 สภาพปัญหาดังกล่าวจะเกิดขึ้นใน 198 ประเทศ/ดินแดน หรือ 97% ของทั้งโลก หมายความว่า ประชากรในเกือบทุกประเทศทั่วโลกจะลดลงภายในสิ้นศตวรรษนี้ มีเพียงบรรดาประเทศ/ดินแดนที่ยากจนและรายได้ปานกลางระดับล่างเท่านั้นที่จะมีประชากรเพิ่มขึ้น

ภายในสิ้นศตวรรษ 21 นี้ กว่า 3 ใน 4 ของจำนวนการเกิดมีชีวิต (Live Birth) ทั่วโลกจะเกิดขึ้นในประเทศ/ดินแดนรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางระดับล่าง โดยมากกว่าครึ่งจะเกิดในประเทศที่อยู่ในภูมิภาคแอฟริกาที่อยู่ใต้ทะเลทรายซาฮารา (Sub-Saharan Africa)

เมื่อปี 2021 กว่า 110 ประเทศ/ดินแดน (คิดเป็น 54% ของทั้งโลก) มีอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำกว่าระดับที่จะทดแทนประชากรที่เสียชีวิตไปได้ ซึ่งระดับดังกล่าวอยู่ที่จำนวนเด็กเกิดมีชีวิต 2.1 คนต่อผู้หญิง 1 คน

การศึกษาวิจัยก่อนหน้านี้ของ IHME ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2020 คาดว่าประชากรโลกจะถึงจุดสูงสุดในปี 2021 ที่จำนวน 9,700 ล้านคน จากนั้นจะลดลงเหลือ 8,800 ล้านคนภายในปี 2100 แต่การคาดการณ์อีกครั้งของสหประชาชาติ (UN) ในรายงานแนวโน้มประชากรโลกปี 2022 คาดการณ์ว่า ประชากรโลกจะมีจำนวนสูงสุดที่ 10,400 ล้านคน ในช่วงทศวรรษ 2080

การที่จำนวนประชากรโลกลดลง เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์โลกและมนุษยชาติ

ดร.คริสโตเฟอร์ เมอร์เรย์ (Dr.Christopher Murray) ผู้เขียนอาวุโสของรายงานการศึกษาวิจัย และผู้อำนวยการ IHME กล่าวว่า มีเหตุผลหลายประการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ รวมถึงการที่ผู้หญิงมีโอกาสเพิ่มขึ้นในด้านการศึกษาและการจ้างงาน และการเข้าถึงบริการคุมกำเนิดและอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ดีขึ้น

แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ ในแง่หนึ่งมันสะท้อนภาพด้านบวก เพราะมันเกิดขึ้นจากการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจ แต่ก็นำมาซึ่งผลกระทบในหลายด้าน และที่น่ากังวล คือ การพัฒนาเหล่านี้ก็ยังไม่เกิดขึ้นในประเทศ/ดินแดนที่ยากจน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการพัฒนา แต่พวกเขาไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะพัฒนาได้เอง

ดร.เจนนิเฟอร์ แดบส์ สคูบบา (Dr.Jennifer Dabbs Sciubba) นักประชากรศาสตร์ และผู้เขียนหนังสือ “8 Billion and Counting: How Sex, Death, and Migration Shape Our World” ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานวิจัยชิ้นใหม่นี้วิเคราะห์ว่า สิ่งที่โลกเรากำลังประสบอยู่ในขณะนี้และประสบมาเป็นเวลาหลายทศวรรษแล้ว เป็นสิ่งที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ การที่ผู้คนเลือกที่จะมีครอบครัวขนาดเล็ก ๆ เป็นการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในหลายชาติ-หลายวัฒนธรรม

ดร.สคูบบากล่าวว่า ไม่ต้องคำนึงถึงว่าประชากรโลกจะสูงสุดในปีไหน แต่ที่แน่ ๆ ประชากรโลกจะเริ่มลดลงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ซึ่งความเปลี่ยนแปลงนี้มันจะมาพร้อมผลกระทบอย่างมาก ทั้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ทางเศรษฐกิจ และทางสังคม

นักวิเคราะห์มองว่า การเปลี่ยนแปลงในการกระจายของการเกิดจะสร้าง “โลกที่ถูกแบ่งแยกทางประชากรศาสตร์” ซึ่งประเทศที่มีรายได้สูงต้องเผชิญกับผลที่ตามมาของประชากรสูงวัยและจำนวนแรงงานที่ลดลง ในขณะที่ภูมิภาคที่มีรายได้น้อยยังคงมีอัตราการเกิดที่สูง ซึ่งทำให้มีความตึงเครียดทางทรัพยากร

ดร.เทเรซา คาสโตร มาร์ติน (Dr. Teresa Castro Martín) ศาสตราจารย์จากสถาบันเศรษฐศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และประชากรศาสตร์ ของสภาวิจัยแห่งชาติสเปน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยใหม่นี้มองว่า การเปลี่ยนแปลงในการกระจายตัวของการเกิดจะสร้าง “โลกที่ถูกแบ่งแยกทางประชากรศาสตร์” ซึ่งประเทศที่มีรายได้สูงต้องเผชิญกับผลที่ตามมาจากปัญหาประชากรสูงวัยและจำนวนแรงงานที่ลดลง ในขณะที่ภูมิภาคที่มีรายได้น้อยยังคงมีอัตราการเกิดที่สูง ซึ่งทำให้มีความตึงเครียดทางทรัพยากร