ผู้ว่าแบงก์ชาติมองเศรษฐกิจจีน มีแนวโน้มเติบโตเชิงบวก สู้แรงกดดันขาลง

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
PHOTO : นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) / สำนักข่าวซินหัว

แม้ตัวเลขเศรษฐกิจจีนครึ่งแรกปีนี้ขยายตัว 2.5% และไตรมาสสองเติบโตเพียง 0.4% แต่ผู้ว่าแบงก์ชาติไทยมองว่า เศรษฐกิจจีนยังโตในทิศทางบวก

วันที่ 21 กรกฎาคม 2565 สำนักข่าวซินหัว รายงานคำให้สัมภาษณ์พิเศษของนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจจีนในระยะยาว ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อไทยและภูมิภาค ยังคงอยู่ในทิศทางบวก แม้เกิดการชะลอตัวด้วยหลายปัจจัยระยะสั้น

นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า เมื่ออุปสรรคจากปัจจัยระยะสั้นเหล่านั้นบรรเทาลง เศรษฐกิจจีนจะมีโอกาสเติบโตดียิ่งขึ้น และทางการจีนมีศักยภาพดำเนินนโยบายเพียงพอเพื่อจัดการกับแรงกดดันขาลง

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักสถิติแห่งชาติจีน เมื่อวันศุกร์ที่ 15 ก.ค. ระบุว่าเศรษฐกิจจีนขยายตัวร้อยละ 2.5 ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ และเติบโตร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบปีต่อปี ในช่วงไตรมาสสอง

ผู้ว่าแบงก์ชาติมองว่าเศรษฐกิจจีนจะต้องเผชิญกับอุปสรรคเชิงโครงสร้างบางประการในระยะยาวอย่างแน่นอน อาทิ ปัญหาประชากรวัยแรงงานเติบโตชะลอตัว ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนชี้ถึงปัญหานี้ แต่นายเศรษฐพุฒิกลับมองว่าบรรดานักวิเคราะห์พูดเกินจริงไป

จีนได้ปรับปรุงผลิตภาพอย่างมหาศาลและอยู่ในตำแหน่งที่ดีเพื่อใช้ประโยชน์จากตัวขับเคลื่อนการเติบโตใหม่ ๆ อาทิ เศรษฐกิจดิจิทัล ดังนั้นการปรับปรุงผลิตภาพที่มากมายเหล่านี้ มีศักยภาพชดเชยกลุ่มประชากรที่ไม่เอื้ออำนวยเป็นอย่างน้อย

“หากประเทศหนึ่งมีประชากรน้อย แต่ประชากรมีประสิทธิผลมากกว่า ประเทศนั้นก็ยังมีโอกาสเติบโตได้” เศรษฐพุฒิ ซึ่งเคยทำงานที่ธนาคารโลก กล่าว

สำหรับปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกใหม่ 2 รายการ ได้แก่ เศรษฐกิจดิจทัล และรูปแบบการพัฒนาที่ยั่งยืน นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า จีนอยู่แนวหน้าของโลก และมีส่วนร่วมในทั้งสองภาคส่วน โดยจีนสามารถส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในภูมิภาคอย่างมหาศาล เนื่องจากมีบทบาทสำคัญในเครือข่ายการผลิตระดับภูมิภาค

ผู้ว่าแบงก์ชาติระบุว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนหลายประการ โดยสิ่งสำคัญในการจัดการกับความท้าทายเหล่านั้นคือต้องเปิดกว้างมากขึ้น เสริมสร้างการบูรณาการทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการค้าและกระแสการลงทุน และเชื่อมโยงเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น

นายเศรษฐพุฒิกล่าวทิ้งท้ายว่า แผนริเริ่มการพัฒนาโลก (GDI) ที่จีนนำเสนอ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ล้วนเป็น “ตัวอย่างอันยอดเยี่ยม” ของแนวปฏิบัติที่ช่วยสร้างการเชื่อมต่อและบูรณาการเศรษฐกิจ หวังว่าจะได้เห็นความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องในด้านนี้