วิกฤตแรงงาน

ค่าแรง แรงงาน
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : สมปอง แจ่มเกาะ

หลังจากคณะกรรมการไตรภาคีมีมติเคาะเรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำไปตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

สัปดาห์นี้ (12-16 ก.ย.) หากไม่มีอะไรคลาดเคลื่อน นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน จะนำมติเข้าสู่วาระการประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบในวันอังคารที่ 13 ก.ย.นี้ และมติดังกล่าวจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่จะถึงนี้เป็นต้นไป

อย่างที่รับทราบกันไปแล้วว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ แบ่งเป็น 9 อัตรา จังหวัดที่ปรับขึ้นสูงสุด คือ 354 บาท ประกอบด้วย ภูเก็ต (เดิม 336 บาท) ชลบุรี (336) ระยอง (335) ส่วนจังหวัดที่ปรับขึ้นต่ำสุด ปรับขึ้น 328 บาท คือ ยะลา (313) ปัตตานี (313) นราธิวาส (313) น่าน (320) และอุดรธานี (320) สำหรับกรุงเทพฯและปริมณฑล ค่าจ้างใหม่จะอยู่ที่ 353 บาท จากเดิม 331 บาท

สรุปอีกครั้ง ค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับครั้งนี้มีตั้งแต่ 8 บาท ไปจนถึง 22 บาท

จะว่าไปแล้ว เงินจำนวนนี้แม้จะไม่มากมาย แต่ก็คงช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของคนที่ใช้แรงงานได้ระดับหนึ่ง

อีกด้านหนึ่ง หลาย ๆ กิจการที่ปกติจ่ายค่าจ้างสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้วก็จะต้องปรับค่าจ้างขึ้นตามไปด้วย อย่างน้อยก็น่าจะเท่ากับอัตราที่ไตรภาคีเคาะ หรือประมาณ 5% ลูกจ้าง พนักงานคงดีใจมีกำลังใจมากขึ้น

ตั้งแต่หลังจากคณะกรรมการไตรภาคีมีมติออกมาผมได้พูดคุยกับผู้ประกอบการมาเป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจค้าปลีกและบริการ ส่วนใหญ่ยอมรับได้และได้เตรียมการเรื่องนี้ไว้อยู่แล้ว

แต่มีอยู่อย่างหนึ่งที่ทุกคนพูดตรงกัน และย้ำว่าปัญหานี้มีแนวโน้มจะยิ่งหนักขึ้นทุกวัน ซึ่งก็คือ ตอนนี้ หาคนทำงานไม่ได้ ไม่มีคนทำงาน

สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนจากภาพการประกาศรับสมัครพนักงานของบรรดาผู้ประกอบการร้านอาหาร ร้านกาแฟ-เบเกอรี่ ฯลฯ ที่มีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย และศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้ทยอยคลายล็อกให้หลาย ๆ ธุรกิจเริ่มกลับมาเปิดให้บริการได้

อีกด้านหนึ่งผู้ประกอบการหลาย ๆ รายก็พยายามปรับตัวและแก้ปัญหา เช่น ร้านอาหารรายใหญ่ ที่มีการลงทุนนำหุ่นยนต์มาช่วยเสิร์ฟ-บริการ การนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาช่วย เชนร้านกาแฟบางค่าย ร้านสะดวกซื้อบางราย ต้องไปควานหาพนักงานที่ปลดระวางแล้วเข้ามาเสริมเข้ามาช่วยงาน

ขณะที่ร้านสะดวกซื้อ ที่เปิดสาขาอยู่ในย่านศูนย์กลางธุรกิจ (ซีบีดี) หลายแห่งต้องเพิ่มค่าจ้างขึ้นเป็น 2 เท่าตัว หรือมากกว่านั้นเพื่อจูงใจให้คนมาทำงานด้วย เพราะอย่างที่รู้ ๆ ค่าครองชีพในย่านซีบีดีแต่ละวันมันสูงลิบลิ่วขนาดไหน

ตอนนี้ ร้านจำหน่ายสินค้า-วัสดุ-อุปกรณ์ซ่อมแซมบ้านรายใหญ่ ประกาศรับสมัครพนักงานจำนวนมากและให้เงินเดือนสูงถึงวันละ 800-900 บาท แต่ก็ยังหาคนได้ยาก

นี่เป็นตัวอย่างเพียงบางส่วนเท่านั้น

สาเหตุหลัก ๆ มาจากพนักงานจำนวนหนึ่งที่ถูกเลิกจ้างในช่วงโควิดกลับคืนเข้ามาในระบบเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น

ส่วนแรงงานจบใหม่ คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Y กลุ่ม Gen Z ส่วนใหญ่ก็มักจะไม่สนใจที่จะทำงานประเภทนี้ ที่สำคัญคือ มีทัศนคติในการทำงานที่ต้องการจะประกอบอาชีพอิสระ ไม่อยากเป็นลูกจ้างใคร ชอบขายของออนไลน์ ขายอาหาร ขายกาแฟ ขับรถส่งพัสดุ-ดีลิเวอรี่ แม้กระทั่งอาชีพการเกษตร-เลี้ยงสัตว์ ก็มีไม่น้อยเช่นกัน

เมื่อแนวโน้มเป็นเช่นนี้ โอกาสการขยับขยายธุรกิจในวันข้างหน้าอาจไม่ราบรื่น และอาจจะกลายเป็นปัญหาคอขวดตามมา

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะต้องสังคายนาอาชีพสงวนสำหรับคนไทย และอาชีพต้องห้ามสำหรับคนของคนต่างด้าวให้สอดรับกับสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลง และอาจจะต้องเปิดกว้างให้แรงงานต่างด้าวสามารถทำได้มากกว่างานกรรมกร และงานบ้าน เป็นไปได้หรือไม่

หากมัวแต่โอ้เอ้วิหารราย เวียดนามทิ้งห่างไม่เห็นฝุ่นแน่