คิดถึง Floodway ลุ่มเจ้าพระยา

น้ำท่วม
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

พายุดีเปรสชั่นลูกล่าสุด “โนรู” ที่พัดผ่านเข้าประเทศไทยและไปสลายตัวบริเวณพิษณุโลก แม้จะไม่ได้สร้างความเสียหายรุนแรงแบบเดียวกับตอนที่ยังเป็นพายุโซนร้อนขึ้นฝั่งที่ประเทศเวียดนาม แต่พายุลูกนี้ได้ก่อให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากเป็นบริเวณกว้าง ไล่มาตั้งแต่จังหวัดอุบลราชธานี-ยโสธร-ร้อยเอ็ด-มหาสารคาม-ขอนแก่น-ชัยภูมิ รวมไปถึงภาคเหนือตอนล่าง ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิและอุบลราชธานี หรือตลอดแนวลำน้ำชี-มูล ก่อนที่จะไหลลงแม่น้ำโขง

ประกอบกับพายุลูกนี้ไม่ใช่พายุลูกแรกที่พัดผ่านหรือส่งอิทธิพลต่อประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้ประเทศไทยได้เผชิญกับฝนตกหนักถึงหนักมากตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน ส่งผลให้ “น้ำ” ในอ่างเก็บน้ำหรือในเขื่อนขนาดใหญ่-กลาง และอ่างขนาดเล็ก มีปริมาตรน้ำเกินกว่าร้อยละ 60 ของความจุอ่างบางอ่าง อาทิ เขื่อนอุบลรัตน์-สิรินธร-จุฬาภรณ์-ลำตะคอง-ทับเสลา-กระเสียว-ป่าสักชลสิทธิ์-ขุนด่านปราการชล มีปริมาตรน้ำเต็มและเกือบเต็ม 100% ของความจุอ่าง ส่งผลให้ต้องเร่งระบายน้ำออกจากเขื่อนเป็นการใหญ่

ความจริงปรากฏการณ์ “น้ำท่วม” ตามลุ่มน้ำ หรือลำน้ำสำคัญนั้น “ไม่ใช่เรื่องใหม่ของประเทศไทย” แต่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่คราวน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 หรือกว่า 11 ปีมาแล้ว มีการบริหารจัดการในเรื่องของน้ำตั้งแต่ กรมชลประทานในอดีต จนกระทั่งถึงสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช.ในปัจจุบัน และเข้าใจว่าเฉพาะ 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ใช้งบประมาณในการบริหารจัดการน้ำไปแล้วกว่า 364,000 ล้านบาท

แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหา “น้ำท่วม-น้ำแล้ง” อย่างมีประสิทธิภาพได้ จากข้อเท็จจริงที่ว่า ไม่มีใครรู้ว่า ใน 1 ปีจะมีพายุเข้ามากี่ลูก ที่ไหน เมื่อไหร่ เวลาไหน และอย่างไร ทำให้เกิด “ความเสี่ยง” ในการจัดการกับปริมาตรน้ำในเขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำว่าสมควรจะ “พร่องน้ำ” หรือ “กักเก็บน้ำ” ไว้ในปริมาณเท่าใดถึงจะเพียงพอต่อความต้องการใช้ ทั้งอุปโภค/บริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร และน้ำเพื่ออุตสาหกรรม

ที่สำคัญก็คือ การรวมศูนย์เพื่อ “ปกป้อง” หรือ “ป้องกัน” น้ำท่วม-น้ำแล้ง ดูเหมือนจะมุ่งไปที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งถือเป็น “หัวใจ” ของประเทศทั้งการเกษตร-แหล่งปลูกข้าวขนาดใหญ่-นิคมอุตสาหกรรมสำคัญ และที่ตั้งเมืองหลวงของประเทศ ด้วยความไม่รู้ว่า แท้ที่จริงแล้วใน 1 ปี จะมีปริมาณฝนตกมาก-น้อยเพียงใด หรือลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะต้องรับน้ำจากแควใหญ่ ปิง-วัง-ยม-น่าน ที่มีเพียงเขื่อนหลัก 4 เขื่อน “ภูมิพล-สิริกิติ์-แควน้อยบำรุงแดน-ป่าสักชลสิทธิ์” ถูกใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการน้ำ

ความไม่รู้ปริมาณน้ำจะมากหรือน้อยใน 1 ปี จนทำให้การบริหารจัดการน้ำต้องเสี่ยงกับสิ่งที่เรียกกันว่า การคาดการณ์ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วก็คือ “การเดา” นั่นเอง ยกตัวอย่าง น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ไม่มีใครรู้ว่าจะมีพายุหลายลูกเข้ามาติด ๆ กัน ทำให้เขื่อนขนาดใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภูมิพล-สิริกิติ์ ไม่มีการเตรียมการพร่องน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อสถานการณ์

และด้วยภาพจำของปี 2554 นั้นเอง ประกอบกับเกิดภัยแล้งหลายปีติดต่อกัน ทำให้ช่วงปีหลัง ๆ การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนจะกระทำก็ต่อเมื่อ “น้ำ” ได้เดินทางมาถึงเขื่อนแล้ว และตามมาด้วยการออกประกาศเตือนที่ว่า “เพื่อรับปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นจากตอนบนของพื้นที่ ทำให้เขื่อน…..มีความจำเป็นต้องเร่งระบายน้ำออก ส่งผลให้พื้นที่ใต้เขื่อนจะมีระดับน้ำท่วมเพิ่มสูงขึ้น…..” นั่นหมายถึง ใต้เขื่อนติดแม่น้ำเจ้าพระยาน้ำท่วมหมด มาก-น้อยตามสภาพสูง-ต่ำของพื้นที่ เป็นแบบนี้ทุก ๆ ปี

พลอยให้นึกถึง โครงการก่อสร้างทางน้ำหลาก (Floodway) หรือทางผันน้ำ (Flood Channel) ฝั่งตะวันออก-ตก มูลค่าเกือบ ๆ 200,000 ล้านบาท ในสมัยอดีตรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ถูกล้มไปในอดีต สมควรที่จะต้องถูก “รื้อฟื้น” ขึ้นมา “ทบทวน” หรือไม่ ถ้าอยากที่จะปกป้องลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่เป็น “หัวใจ” สำคัญของประเทศ ให้รอดพ้นจากน้ำท่วม-น้ำแล้งเสียที