จับตา “วิกฤตหนี้จีน” ในภาวะการเมืองเปลี่ยน

วิกฤตหนี้จีน
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ขณะที่การประชุมสมัชชาแห่งชาติของพรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่ง 5 ปีจะมีขึ้นครั้งหนึ่ง เพื่อคัดสรรตัวผู้นำทางการเมืองพร้อมคณะทำงานในรอบ 5 ปีถัดไปเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา กำลังดำเนินไป พร้อมกับกระแสข่าวว่า “สี จิ้นผิง” กำลังพยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของจีนต่ออีกเป็นสมัยที่ 3 ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์

สารพัดปัจจัยลบ โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ ก็ทยอยกันผุดขึ้นมาให้เห็นกันกระจ่างแจ้งมากขึ้นตามลำดับ “เงินหยวนอ่อนค่า” พลิกผันไปตามการแข็งค่าของดอลลาร์ในตลาด การขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวมของจีนชะลอลงอย่างฮวบฮาบ แต่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์กลับถีบตัวขึ้นสูง ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย

ทั้งหมดล้วนไม่เป็นผลดีต่อการส่งออกของจีนในอนาคตอย่างแน่นอน

นอกจากนั้นยังปรากฏข่าวเกี่ยวกับภาระหนี้สินและสถานะทางการเงินของรัฐบาลประจำมณฑลต่าง ๆ รวมกันเป็นจำนวนเงินมหาศาล ที่จะก่อให้เกิดความเสี่ยงสูงยิ่งต่อเศรษฐกิจในปี 2023 ที่จะถึงนี้

ข้อมูลของสถานทูตไทยประจำกรุงปักกิ่ง ระบุว่า จีนแบ่งการปกครองส่วนกลางออกเป็น 23 มณฑล (นับรวมไต้หวัน) 5 เขตปกครองตนเอง (มองโกเลีย หนิงเซี่ย ซินเจียง กว่างสี และทิเบต) 4 มหานครที่ขึ้นต่อส่วนกลาง (ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เทียนจิน และฉงชิ่ง) และ 2 เขตบริหารพิเศษ (ฮ่องกง และมาเก๊า)

รายงานเชิงวิเคราะห์ของรอยเตอร์จากปักกิ่งเมื่อ 17 ตุลาคม ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลท้องถิ่นของหลายมณฑลในจีนกำลังเผชิญปัญหาทางการเงินระดับวิกฤต เมื่อรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ทำให้เกิดสภาพขาดดุลมหาศาล เพียงแค่ในช่วง 8 เดือนแรกของปี ช่องว่างระหว่างรายรับและรายจ่ายของรัฐบาลท้องถิ่น 31 แห่งรวมกันแล้วเป็นเม็ดเงินสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์

ถือว่าเป็นช่วงห่างที่กว้างมากที่สุดอย่างน้อยก็นับตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา

ในอดีตที่ผ่านมา ปัญหาทำนองนี้ก็เคยเกิดขึ้น แต่รัฐบาลท้องถิ่นของมณฑลต่าง ๆ แก้ปัญหาด้วยการร้องขอการสนับสนุนจากรัฐบาลกลางในปักกิ่ง หรือไม่ก็นำเอาที่ดินในมณฑลขายให้กับบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุดช่องโหว่ของงบประมาณที่เกิดขึ้น

แต่ทั้งสองแนวทางนี้ยุ่งยากมากขึ้นตามลำดับในขณะนี้ จากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว รัฐบาลกลางไม่เพียงไม่เพิ่มเงินอุดหนุน หากแต่ยังเรียกร้องให้แต่ละมณฑลเร่งขยายการบริโภค การจับจ่ายใช้สอยให้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ในขณะที่บางมณฑลยังต้องเผชิญกับนโยบายซีโร่โควิดเข้าไปอีกด้วย

การขายที่ดินให้เป็นโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ก็เจอปัญหาภาวะตลาดอสังหาฯซบเซาอย่างหนัก จากมาตรการแก้ปัญหาหนี้สินและมาตรการป้องกันการเก็งกำไรของรัฐบาลกลาง ซึ่งส่งผลให้ยอดรวมการขายที่ดินของทางการในช่วง 8 เดือนแรกลดลงถึง 28.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

หลายมณฑลต้องหันมาพึ่งตนเองด้วยการปรับลดเงินเดือน, ปรับลดกำลังคน, ลดการอุดหนุนจากภาครัฐ กระทั่งยังเพิ่มค่าปรับสำหรับการละเมิดสูงขึ้นอย่างผิดปกติ โดยเฉพาะต่อบรรดาบริษัทเอสเอ็มอีในท้องถิ่น

มาตรการเหล่านี้ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังประชาชนในท้องถิ่นเท่านั้น ยังทำลายขีดความสามารถของแต่ละท้องถิ่นในการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยโดยตรงอีกด้วย

ปัญหายังไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่นั้น ยังปรากฏรายงานข่าวของหลายสำนักชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลท้องถิ่นยังเผชิญกับปัญหาหนี้สินซึ่งกำลังแผลงฤทธิ์ออกมาให้เห็นกันในไม่ช้าไม่นาน เพราะหนี้สินเหล่านี้กำลังถึงกำหนดชำระในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

หนี้เหล่านี้สะสมอยู่ในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เรียกกันว่า “กลไกทางการเงินของรัฐบาลท้องถิ่น” (local government financing vehicles-LGFV) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นเพื่อ “ลงทุน” ในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานและการเคหะของท้องถิ่น โดยอาศัยการระดมทุนจากการขายพันธบัตรที่รัฐบาลท้องถิ่นค้ำประกัน แต่ประสบปัญหาต่อเนื่องจากปัญหาตลาดอสังหาริมทรัพย์จีนทรุดตัวหนักมาตั้งแต่ปี 2020 จนในเวลานี้ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า อาจเสี่ยงถึงขนาดมีการ “ผิดนัดชำระหนี้” กันเกิดขึ้น

ปริมาณหนี้ที่สั่งสมไว้ใน “แอลจีเอฟวี” ที่ว่านี้สูงถึง 8 ล้านล้านดอลลาร์

กลายเป็นปัญหาท้าทายสำหรับรัฐบาลจีนให้ต้องเลือกว่า จะเข้าไปอุ้มเพื่อให้รัฐบาลท้องถิ่นสามารถแก้ไขปัญหาหนี้ที่สั่งสมมาให้ลุล่วง หรือจะปล่อยให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้กันขึ้น เพราะรัฐบาลภายใต้การนำของ สี จิ้นผิง แสดงให้เห็นหลายต่อหลายครั้งตั้งแต่ปลายปี 2020 แล้วว่า ยินดีที่จะให้เกิด “ดีฟอลต์” และล้มละลายเกิดขึ้น เพื่อหวังผลระยะยาวถึงประสิทธิภาพ ในการทำงานของรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ในอนาคต

ปัญหาก็คือภายใต้สภาวะเศรษฐกิจอย่างที่เป็นอยู่ทั้งภายนอกและภายในประเทศ รัฐบาลจีนจะจำกัดผลกระทบที่เกิดจากปัญหาทางการเงินดังกล่าว ไม่ให้ลุกลามต่อไปยังเศรษฐกิจโดยรวมแล้วกลายเป็นวิกฤตการณ์เต็มรูปแบบขึ้นมาได้อย่างไร

นี่คือโจทย์ใหญ่อีกโจทย์สำหรับผู้นำจีนลำดับต่อไป ไม่ว่าจะเป็นคนหน้าเดิมอย่างสี จิ้นผิงหรือไม่ก็ตามที