แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม รอไม่ได้อีกต่อไป

ปัญหาสิ่งแวดล้อม
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : อำนาจ ประชาชาติ

ปรากฏการณ์เอลนีโญที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงนี้ ทำให้เห็นว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเริ่มที่จะเกินเยียวยาแล้ว

ฝนที่มาช้าและตกน้อยกว่าทุกปี กำลังจะนำไปสู่ “ภัยแล้ง” ที่หนักหน่วง

ยิ่งหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคาดการณ์ว่า เอลนีโญจะส่งผลกระทบถึงปีหน้า และปีหน้าจะหนักกว่าปีนี้อีก

เช่นนี้แล้ว…เกษตรกรไทยจะทำอย่างไร ?

หนี้ที่ท่วมหัวอยู่แล้ว โดยเฉพาะหลังจากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา…จะยิ่งท่วมไปอีกขนาดไหน ไม่อยากจะคิด…

เรื่องนี้จะเป็นโจทย์ใหญ่มากที่รัฐบาลชุดใหม่จะต้องเข้ามาจัดการ

ตอนนี้ก็ได้แต่ลุ้นว่า จะจัดตั้งรัฐบาลได้เมื่อไหร่ แล้วรัฐบาลใหม่ที่เข้ามาจะแตะการแก้ปัญหาระดับโครงสร้าง หรือแก้แบบลูบหน้าปะจมูกไป

เดี๋ยวคงได้รู้กัน

มาว่ากันด้วยเรื่องสภาพแวดล้อมกันต่อ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ของมนุษยชาติ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ “ประชาชาติธุรกิจ” เพิ่งจัดสัมมนา “ESG Game Changer เปลี่ยนให้ทันโลก” ไป มีการเชิญภาคธุรกิจเซ็กเตอร์ต่าง ๆ มาพูดให้ฟังถึงการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ ESG

หนึ่งในหลายเซ็กเตอร์ ซึ่งเป็นเซ็กเตอร์ที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะถือได้ว่าเป็น “สารตั้งต้น” ในการสนับสนุนธุรกิจอื่น ๆ ให้มีการทรานส์ฟอร์มปรับเปลี่ยนองค์กร-ปรับโมเดลธุรกิจไปสู่ ESG ก็คือ “ภาคการเงิน”

รองผู้ว่าการแบงก์ชาติ “คุณรณดล นุ่มนนท์” บอกว่า ภาคการเงินต้องมีบทบาทสนับสนุนภาคธุรกิจในการปรับตัว

และต้องทำอย่าง “รู้จังหวะ” ด้วย โดยคำนึงถึง “timing” และ “speed” เพื่อให้การดำเนินงานนั้น “ไม่ช้าเกินไป” จนเกิดผลกระทบโดยไม่สามารถแก้ไขได้ และ “ไม่เร็วเกินไป” จนระบบเศรษฐกิจไม่สามารถปรับตัวได้ทัน

ซึ่งขณะนี้แบงก์ชาติได้เริ่มทำหลาย ๆ อย่างออกมาแล้ว อย่างเช่น จัดทำหลักปฏิบัติที่ดีหรือมาตรฐานการดำเนินงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของสถาบันการเงิน (standard practice) เพื่อให้สถาบันการเงินนำไปปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจ

และการจัดทำมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หรือ taxonomy เพื่อกำหนดนิยามความเป็นสีเขียวของแต่ละธุรกิจให้เข้าใจและยอมรับตรงกัน อันจะทำให้ภาคการเงิน สนับสนุนเงินทุนได้อย่างตรงจุด

ขณะที่ “คุณปิติ ตัณฑเกษม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต (ttb) และ “ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร” กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK พูดสอดคล้องตรงกันว่า บทบาทของแบงก์ คงไม่ใช่แค่การปล่อยกู้ และคงไม่ใช่การพาตัวเองไปสู่ Net Zero แต่ต้องมีบทบาทสนับสนุน ต้องเป็น “playmaker” ที่ช่วยสร้าง “ESG player” ขึ้นมานั่นเอง

นับว่าเป็นภาพที่ดีที่เห็นหลาย ๆ ฝ่ายให้ความสำคัญเรื่องนี้ หลังจากนี้ก็คงต้องรอติดตามมรรคผลจากการปฏิบัติต่อไป

เพราะทราบดีกันแล้วว่า การดูแลสิ่งแวดล้อม ตอนนี้คงรอไม่ได้อีกต่อไป ต้องทำทันที เพราะทุกองศาเซลเซียสที่เพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกนั้น คือการเข้าใกล้ “หายนะ” เข้าไปทุกที