สศช.กางโจทย์เร่งด่วนรัฐบาลใหม่ แก้ปมเศรษฐกิจแผ่ว-ปลุกเชื่อมั่น

ดนุชา พิชยนันท์
ดนุชา พิชยนันท์

ตัวเลขส่งออกที่หดตัวต่อเนื่องมา 3 ไตรมาสติด โดยไตรมาส 2/2566 ล่าสุดหดตัวไป -5.7% ทำให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ต้องหั่นประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2566 นี้ลง จากเดิมคาดว่าโตได้ 2.7-3.7% เหลือ 2.5-3% ต่อปี

ส่งออกทรุดต่อเนื่อง ฉุดจีดีพีแผ่ว

“ดนุชา พิชยนันท์” เลขาธิการ สศช. ชี้ว่า การส่งออกที่ติดลบต่อเนื่อง ส่งผลกระทบมาถึงการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ในไตรมาส 2 หดตัวไป -3.3% ขณะที่การอุปโภคบริโภคของภาครัฐก็หดตัว -4.3% ทั้ง 3 ปัจจัยดังกล่าวทำให้จีดีพีไตรมาส 2 ขยายตัวได้แค่ 1.8% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้

“มูลค่าส่งออกที่หดตัวต่อเนื่อง มาจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก ทั้งประเทศสหรัฐ, จีน และญี่ปุ่น ยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ สศช.จึงปรับลดประมาณการมูลค่าส่งออกไทยในปีนี้ว่าจะติดลบมากขึ้น เป็น -1.8% จากเดิมคาดไว้ -1.6%”

สำหรับปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังของปีนี้ คือ การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่คาดว่าจะยังคงขยายตัวได้ 5% จากไตรมาส 2 ขยายตัว 7.8% เร่งตัวขึ้นจาก 5.8% ในไตรมาสแรก โดยความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจปรับตัวอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 14 ไตรมาส และการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว โดยยังคงคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวปีนี้ที่ 28 ล้านคน เนื่องจากในช่วงไตรมาส 4/2566 จะเป็นช่วงไฮซีซั่น เพียงแต่รายได้จากนักท่องเที่ยวอาจจะอยู่ที่ 1.03 ล้านล้านบาท น้อยกว่าเดิมที่คาดไว้ 1.27 ล้านล้านบาท เนื่องจากค่าใช้จ่ายต่อหัวต่อทริปอยู่ในระดับ 37,000 บาท ซึ่งยังไม่สูงมากนัก

“ครึ่งปีแรกมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยแล้ว 12.91 ล้านราย ส่วนใหญ่เป็นชาวอินเดีย อย่างไรก็ดี ช่วงที่เหลือของปีคงจะต้องมีการทำตลาดอินเดียและยุโรปเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันต้องเร่งแก้ปัญหาการอำนวยความสะดวกของการเดินทางสำหรับนักท่องเที่ยวจีนด้วย”

ครึ่งปีหลัง ระวัง 5 ปัจจัยเสี่ยง

ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่จะมีผลกระทบต่อทิศทางภาวะเศรษฐกิจไทยช่วงที่เหลือของปีนี้ ได้แก่ 1.การเมืองภายในประเทศที่จะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศทางเศรษฐกิจ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้การเบิกจ่ายงบฯลงทุนปรับตัวลดลง และกดดันดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค หากการเปลี่ยนผ่านนำไปสู่ความรุนแรง

2.การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แม้ไตรมาส 2 ของประเทศเศรษฐกิจหลักจะปรับตัวดีขึ้น แต่ช่วงถัดไปยังมีปัญหาที่ต้องเฝ้าระวังค่อนข้างมาก ทั้งเรื่องดอกเบี้ยนโยบาย และอัตราเงินเฟ้อในประเทศเศรษฐกิจหลักที่ยังคงอยู่ในระดับสูง

3.ภาวะเศรษฐกิจจีน ที่เริ่มมีปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ และยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เร็วนัก รวมถึงอัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวในประเทศจีนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งจะส่งผลต่อการส่งออกไทยในช่วงถัดไปด้วย

4.หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง โดยในช่วงที่เหลือของปี จะต้องมีการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ โดยเฉพาะหนี้เอสเอ็มอีอย่างเต็มที่ เพื่อแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด และเพื่อให้คนไทยยังคงมีกำลังใช้จ่าย

5.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการผลิตในภาคเกษตร จึงอาจจะต้องมีการเตรียมมาตรการรองรับในแง่ของปริมาณน้ำ เพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการผลิตในภาคเกษตร อุตสาหกรรม และการบริโภคของประเทศ

แนวโน้ม ศก.

ชง 6 มาตรการเร่งด่วนดูแลเศรษฐกิจ

เลขาธิการ สศช.กล่าวว่า ช่วงที่เหลือของปีนี้ มาตรการด้านเศรษฐกิจที่ควรต้องดำเนินการมีด้วยกัน 6 เรื่องหลัก คือ 1.การรักษาบรรยากาศทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศ เพื่อรักษาความเชื่อมั่น รวมทั้งแก้ปัญหา ติดตาม เฝ้าระวัง ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในตลาดการเงินและระบบเศรษฐกิจโลก ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวและเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทย

“สถานการณ์การเมืองไทยตอนนี้มีเรื่องเดียว คือ ปัญหาการจัดตั้งรัฐบาล ส่วนปัญหาความขัดแย้ง อาจจะมีให้เห็นการประท้วงอยู่บ้าง แต่ไม่ได้มีความรุนแรงขยายไปในวงกว้าง ฉะนั้นถ้าทำให้การเปลี่ยนผ่านมีความสงบเรียบร้อยได้มากที่สุด ก็จะทำให้นักลงทุนที่ชะลอดูสถานการณ์อยู่ มีความมั่นใจและเข้ามาลงทุนในไทยได้มากขึ้น”

2.การรักษาแรงขับเคลื่อนของการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ โดยในช่วงที่เหลือของปียังคงต้องเร่งเบิกจ่ายลงทุนในส่วนงบประมาณปี 2566 รวมทั้งรัฐวิสาหกิจ และต้องเตรียมความพร้อมในโครงการต่าง ๆ ที่จะใช้จ่ายในงบประมาณปี 2567 ซึ่งน่าจะออกมาได้ประมาณเดือน เม.ย. 2567 โดยเมื่อออกมาแล้วต้องสามารถเบิกจ่ายได้ทันที

“ในช่วงที่เหลือของปีนี้ งบฯลงทุนของรัฐวิสาหกิจยังมีวงเงินที่จะเบิกจ่ายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้อยู่ที่ 1.4 แสนล้านบาท และในไตรมาส 1/2567 รัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทมหาชนมีวงเงินที่สามารถเบิกจ่ายได้อีกประมาณ 5 หมื่นล้านบาท โดย สศช.ได้เร่งงบฯลงทุนประจำปี 2567 ของรัฐวิสาหกิจเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ สศช. และได้รับความเห็นชอบแล้ว โดยได้มีการเตรียมงบฯลงทุน ที่เป็นงบฯผูกพันของรัฐวิสาหกิจที่ใช้ปีงบประมาณ วงเงินประมาณ 1 แสนล้านบาท เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบไว้ก่อน”

3.การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว โดยต้องเร่งที่จะใช้กลไกที่มีอยู่ โดยเฉพาะมาตรการ Long-term Resident Visa (LTR) เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังซื้อสูงเข้ามาพำนักระยะยาวในประเทศไทย รวมทั้งอาจจะต้องส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศไปยังเมืองรองด้วย ขณะเดียวกันต้องปรับการท่องเที่ยวคุณภาพสูง เพื่อสร้างศักยภาพแล้วก็ฟื้นฟูการท่องเที่ยวทั้งระบบ

4.การดูแลภาคเกษตรและรายได้ของเกษตรกร จากปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยจะต้องเร่งส่งเสริมให้ใช้กลไกของระบบประกันภัยพืชผล ที่เป็นการประกันความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศให้ขยายการใช้งานในส่วนนี้มากขึ้น และการแก้ปัญหาต้นทุนวัตถุดิบทางการเกษตรซึ่งยังคงอยู่ในระดับสูง รวมทั้งดูแลปัจจัยการผลิตภาคเกษตรต่าง ๆ ทั้งเรื่องน้ำ เทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต

5.การขับเคลื่อนภาคการส่งออกสินค้า โดยในช่วงที่เหลือของปีคงจะต้องมีการเร่งอำนวยความสะดวก และลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก และพยายามทำตลาดขยายตัวไปยังตลาดที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี ไม่ว่าจะเป็นตลาดตะวันออกกลาง เอเชียใต้ หรืออาเซียน โดยเฉพาะการค้าชายแดน

“คงจะต้องมีการเฝ้าระวังมาตรการกีดกันทางการค้าที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งมาตรการคาร์บอนเครดิตที่จะเริ่มมีการใช้ ซึ่งจะต้องเตรียมมาตรการรองรับ เพื่อให้สินค้าไทยยังคงมีความสามารถในการส่งออกอยู่ได้ รวมทั้งเรื่องของการบริหารจัดการความเสี่ยงในภาคธุรกิจในแง่ของอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด”

สุดท้าย 6.การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดยนอกเหนือจากการเร่งรัดลงทุนของภาคเอกชนที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว คงต้องมีการเร่งดำเนินการตามแผนการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุก ที่ได้มีการเห็นชอบไปแล้ว รวมทั้งใช้กลไกในแง่ของกองทุนเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ที่จะดึงดูดการลงทุนของอุตสาหกรรมเป้าหมาย เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องอุตสาหกรรมชิป อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และอุตสาหกรรมดิจิทัล รวมทั้งโปรโมตการลงทุนในเขตอีอีซี และระเบียงเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ

เลขาธิการ สศช.กล่าวด้วยว่า ช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมต่าง ๆ ซึ่งเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ไปค่อนข้างมากแล้ว อาทิ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน, การก่อสร้างรถไฟทางคู่, มอเตอร์เวย์

แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีโครงการสำคัญ โดยเฉพาะโครงการรถไฟทางคู่ในช่วงที่เหลือซึ่งเป็นช่วงปลายของเส้นทาง ก็จะต้องมีการเร่งเตรียมโครงการเหล่านั้นให้มีความพร้อม เพื่อนำเสนอขออนุมัติโครงการได้ หลังจากที่มีการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว เพื่อจะช่วยให้เกิดการสร้างบรรยากาศในการลงทุนเพิ่มขึ้นในระยะถัดไป

ข้อเสนอเหล่านี้ คือ โจทย์เร่งด่วนที่รัฐบาลชุดใหม่ ต้องเข้ามาดำเนินการในทันที