ผู้บริโภคจะเลือกความ “สบายใจ”

รถอีวี
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : วุฒิณี ทับทอง

หลายคนบอกว่า ปีนี้ถือเป็นปีของรถยนต์ไฟฟ้า 100%

จากสถิติการรายงานยอดจดทะเบียนของกรมการขนส่งทางบก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (ระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2565-30 ก.ย. 2566) พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 73,341 คัน เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่มีจำนวนทั้งสิ้น 14,696 คัน (เพิ่มขึ้น 58,645 คัน) คิดเป็นอัตราการเติบโต 399.05%

ยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน มีจำนวน 8,938 คัน

ถือว่าไม่ธรรมดา

ภาพความนิยม ยิ่งตอกย้ำได้ชัดเจนมากขึ้น ยอดจองรถยนต์ภายใน Motor Expo 2023 ค่ายรถยนต์อีวีจากจีนสามารถกวาดอันดับ 3 ใน 5 ของหัวตารางมาได้ ต้องบอกว่าไม่ธรรมดา

หากจะวิเคราะห์กันเร็ว ๆ อะไรคือกุญแจที่ไขไปสู่ความสำเร็จ และสร้างแรงกระเพื่อมในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย การเข้ามาทำตลาดของค่ายรถจีน ที่มีสไตล์เรียกว่าถ่ายทอดคุณลักษณะเด่นของคนจีนเข้ามาใช้ได้อย่างตอบโจทย์และตรงจุด ไม่ว่าจะเป็นความกระตือรือร้น ความกระฉับกระเฉง รวดเร็ว ขายเก่ง ฯลฯ สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ถูกนำมาใช้ในกลยุทธ์การค้าขายสไตล์จีน

นอกจากคุณลักษณะเด่นที่ค่ายรถจีนมีแล้ว ยังได้แต้มต่อจากมาตรการทางด้านอัตราภาษีนำเข้าเหลือ 0% ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-จีน

เงินอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าจากมาตรการ EV 3.0 คันละ 150,000 บาท และกำลังจะมีมาตรการ EV 3.5 จ่อเข้ามาต่อมาตรการสนับสนุน ถือเป็นแต้มต่อ

จุดสังเกตกลยุทธ์ราคาที่จีนใช้ ถือว่ามีความเลือดเย็น หากเทียบราคา เทียบสเป็ก ระหว่างรถยนต์ที่มีขนาดใกล้เคียงกัน ระหว่างรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% กับรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปไฮบริด ราคาแทบจะไม่หนีกัน อย่าง BYD SEAL ราคา 1.599 ล้านบาท เทียบกับ HONDA ACCORD ในราคา 1.529 ล้านบาท

หรืออย่าง โตโยต้า ยาริส ครอส ราคา 8.99 แสนบาท กับ BYD DOLPHIN ราคา 859,999 บาท

เท่านั้นยังไม่พอ ภาพที่ชัดอีกอย่างช่วงโค้งสุดท้ายของมาตรการ EV 3.0 ค่ายรถจีนต่างดัมพ์ราคา กระหน่ำแคมเปญขาย บางรุ่นบางยี่ห้อให้ส่วนลดแล้วมูลค่ากว่า 100,000 บาทเลยทีเดียว

แล้วคำถามคือ ต้นทุน-กำไรที่แท้จริงของรถ EV จีนอยู่ที่ตรงไหน?

ราคาที่ได้รับส่งเสริมทางด้านภาษีนั้นเป็นราคาที่ถูกต้องแล้วหรือไม่?

จากนี้ไปอาจจะได้เห็นปรากฏการณ์โดมิโนด้านราคาออกมาให้เห็น

หรือนี่จะเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ค่ายรถยนต์จากจีนจำเป็นจะต้องใช้นโยบายจำหน่าย “ราคาเดียว”

เพื่อไม่ให้เกิดการห้ำหั่นราคากันเองแล้ว ยังให้ง่ายและชัดเจนต่อการควบคุม ตรงนี้น่าคิด

ยิ่งผู้บริโภคชาวไทย (ส่วนใหญ่) ที่ยังต้องการใช้รถยนต์ด้วยความสบายใจ แน่นอนว่าคำถามที่รอคำตอบและความชัดเจนคือ “ความสบายใจ” หลังจากซื้อง่าย ขายคล่องแล้ว ส่วนของการดูแลหลังการขายก็ยังจำเป็น ความสะดวกสบาย ศูนย์บริการหลังการขาย ศูนย์คลังอะไหล่ ความพร้อมในการให้บริการ ความสะดวกสบายในการเติมพลังงาน ระยะทางการวิ่งที่ต้องใกล้เคียงกับรถน้ำมัน

เรียกว่าความชัวร์ในการใช้งานต้องยอมรับว่า ค่ายรถญี่ปุ่นยังมีภาษีดีกว่าตรงนี้ ขณะที่ค่ายรถจีนเอง ใช่ว่าจะไม่รู้ถึงจุดบอดตรงนี้ เพราะความต่างราคาอาจจะยังไม่ใช่ประเด็น

แต่ความสบายใจในการใช้งานนั่นคือคำตอบ