บทบรรณาธิการ
นางจีนา เอ็ม. เรมอนโด (H.E. Ms. Gina M. Raimondo) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมา การมาของนางจีนา ครั้งนี้ ได้เข้าพบ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และผู้แทนการค้าไทย รวมไปถึงการพบกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ด้วย โดยการพบกับ นายกรัฐมนตรีไทย ได้มีการหารือความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับสหรัฐและความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก หรือ IPEF
ขณะที่การพบกับ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีการหารือถึงคำขอของฝ่ายไทย ไม่ว่าจะเป็นการขอให้สหรัฐพิจารณาเร่งรัดการต่ออายุการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรหรือ GSP ที่หมดอายุไปเมื่อปลายปี 2563 รวมไปถึง การขอให้พิจารณาปรับสถานะของประเทศไทยออกจาก บัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List : WL) จากกรณีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้มาตรา 301 พิเศษที่ประเทศไทยติดอยู่มาอย่างยาวนาน
ทว่านอกเหนือไปจากกรอบการหารือระดับพหุภาคีอย่างกว้าง ๆ ในเรื่องของ IPEF กับข้อเสนอเดิม ๆ ทั้งในเรื่องของการได้รับสิทธิพิเศษทางอัตราภาษีศุลกากร GSP หรือการติดอยู่ในบัญชีประเทศที่ยังไม่มีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐ อย่างเพียงพอ การมาเยือนไทยครั้งนี้ของนางจีนา ยังมีการพาสมาชิกของสภาผู้ส่งออกแห่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา (The President’s Export Council : PEC) ภายใต้การนำของ Mark Ein ประธานสภา PEC เข้ามาแสวงหาความร่วมมือทางการค้าลงทุนด้วย
โดย สภา PEC สหรัฐ จะเป็นที่รวมของผู้บริหารธุรกิจชั้นนำของสหรัฐ ที่ได้รับการคัดเลือกโดยตรงจาก ประธานาธิบดีไบเดน ให้จัดทำข้อเสนอแนะในการส่งเสริมการค้าและโอกาสทางธุรกิจกับประเทศในภูมิภาค รวมทั้งประเทศไทย ที่นักธุรกิจชั้นนำในกิจการต่าง ๆ ของสหรัฐที่ได้มาเยือน ซึ่งความสำคัญของการค้าระหว่างไทย-สหรัฐจะพบว่า สหรัฐเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 2 ของไทย มีมูลค่าการค้ารวม 68,358.31 ล้านเหรียญ นอกจากนี้ สหรัฐยังเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย มีมูลค่าการส่งออกถึง 48,864.54 ล้านเหรียญ และยังเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 3 ของไทย คิดเป็นมูลค่า 19,493.77 ล้านเหรียญ
เป็นที่น่าสังเกตว่า หนึ่งในหัวข้อที่ นางจีนา และสภาผู้ส่งออก PEC หยิบยกขึ้นมาหารือกับฝ่ายไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ ส.อ.ท. จะเป็นเรื่องของอุตสาหกรรมผลิตเซมิคอนดักเตอร์และซัพพลายเชน ที่สหรัฐกำลังให้ความสำคัญเป็นพิเศษ จากแหล่งผลิตที่กระจุกตัวอยู่ในไม่กี่ประเทศ จึงนับเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะไขว่คว้าการลงทุนในอุตสาหกรรมประเภทนี้ต่อยอดให้กับอุตสาหกรรม New S-Curve ต่อไป