มุมมองการบริโภคแมลง โปรตีนแหล่งใหม่ ‘Food Security’

คอลัมน์นอกรอบ
พิเชษฐ์ ณ นคร

ความมั่นคงทางอาหาร หรือ “food security” เป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญมากขึ้นในฐานะเป็นปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่ ซึ่งกระทบคนทั่วโลก ไม่แปลกที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) จะยกระดับเรื่องเป็นวาระสำคัญ เพื่อรับมือวิกฤตขาดแคลนอาหารจากจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นรวดเร็ว

หนึ่งในทางเลือกที่ FAO มองว่า จะช่วยแก้ปัญหาคือการบริโภคแมลง แหล่งสร้างโปรตีน แหล่งอาหารแห่งใหม่ สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรประจำกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ได้สรุปผลการสัมมนา (online) “มุมมองการบริโภคแมลงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อความมั่นคงอาหารในอนาคต” จัดขึ้นเมื่อ 13 มกราคม 2564 โดยมี Mr.Shinjiro SAEKI ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริโภคแมลง ประธานกลุ่มศึกษาวิทยาศาสตร์การบริโภคแมลง (NPO)เป็นผู้ให้ข้อมูล

สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรประจำกรุงโตเกียวระบุว่า ในการสัมมนา Mr.Shinjiro SAEKI ซึ่งเป็นผู้จัดการโครงการของ JICA Partnership Programing “โครงการพัฒนาเลี้ยงแมลงเพื่อยกระดับด้านอาหารในหมู่บ้านเกษตรใน สปป.ลาว” และเป็นที่ปรึกษาด้านเทคนิค บริษัท TAKEO ได้กล่าวถึงรายงานของ FAO เรื่อง โอกาสในอนาคตของการบริโภคแมลงและความมั่นคงด้านอาหารฯ ซึ่งมีปัจจัย 4 ประการ

(1) มีปริมาณอาหารที่พอเพียง

(2) สามารถเข้าถึงอาหารที่เหมาะสม

(3) สามารถใช้ประโยชน์จากอาหารได้อย่างเต็มที่

(4) มีเสถียรภาพทางอาหารได้ทั่วโลก

โดยชี้ว่า เมื่อพิจารณาแหล่งอาหารแห่งใหม่ แมลงมีแนวโน้มความเป็นไปได้มากที่สุด เมื่อเทียบระหว่างสัตว์และแมลง เป็นเพราะ (1) จิ้งหรีด หนอน ตั๊กแตน ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าสุกร (2) ประสิทธิภาพทางโภชนาการของโปรตีนไม่แตกต่างระหว่างไก่และจิ้งหรีด (3) วัฏจักรชีวิตทั้งไก่และจิ้งหรีด กระทบสิ่งแวดล้อมในการผลิตอาหารสัตว์ไม่ต่างกัน (4) มีงานวิจัยการนำไปใช้ประโยชน์โดยผสมผงจิ้งหรีดในโยเกิร์ต ส่งผลให้ลำไส้มีการทำงานดีขึ้น

Mr.SAEKI รายงานผลงานวิจัยความมั่นคงทางอาหารในหมู่บ้าน สปป.ลาว จากการเก็บข้อมูลการวิจัยพบว่ามีปัญหาทั้ง 4 ประการของปัจจัยความมั่นคงด้านอาหาร โดยเฉพาะการขาดแคลนสารอาหารในเด็ก ซึ่งมาจากปัญหานโยบายด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา จึงเสนอวิธีการแก้ปัญหาขาดแคลนสารอาหาร โดยการบริโภคแมลง

จากการสันนิษฐานในการวิจัยตอนแรกว่า การเพิ่มการบริโภคแมลงสามารถแก้ปัญหาขาดสารอาหารได้ แต่ใน สปป.ลาว มีพฤติกรรมการบริโภคแมลงอยู่ จึงจัดโครงการประชาสัมพันธ์การเลี้ยงแมลงเพื่อพัฒนาชีวิต อบรมการเลี้ยงแมลงให้ชาวบ้านมีรายได้ และแก้ปัญหาขาดสารอาหาร เช่น เลี้ยงด้วงงวงมะพร้าว เนื่องจากเลี้ยงง่าย ใช้เวลา 35 วัน ราคาขายดี (350 บาท ต่อ 1 กิโลกรัม)

นอกจากนี้ ได้อธิบายนโยบายส่งเสริมการบริโภคแมลงที่กำลังดำเนินการ กรณีประเทศไทย เช่น รัฐบาลไทยมีนโยบายส่งเสริมธุรกิจสำหรับการบริโภค ในปี 2560 มีประกาศแนวทางการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) สำหรับฟาร์มจิ้งหรีด (มกษ. 8202-2560) ปัจจุบันมีฟาร์มจิ้งหรีดหลายแห่งผลิตจำหน่ายในประเทศและส่งออกต่างประเทศ กลายเป็นธุรกิจที่มีเอกลักษณ์ในประเทศเขตร้อน และเทรนด์พัฒนาแบบยั่งยืน

ในญี่ปุ่นมีการกินแมลง เช่น ตั๊กแตน Inago ในบางพื้นที่ แต่ Mr.SAEKI กำลังทำวิจัยร่วมมือกับมหาวิทยาลัย Hirosaki จังหวัด Aomori เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการเลี้ยงแมลง เช่น ตั๊กแตน Tonosama-batta และจัดการประชาสัมพันธ์การชิมเพื่อเก็บข้อมูลรสนิยมสำหรับแมลงต่าง ๆ

สรุปว่า การบริโภคแมลงเป็นวิธีหนึ่งส่งผลต่อการพัฒนาแบบยั่งยืน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากแมลงเป็นอาหารแบบยั่งยืนได้ตามปัจจัย 4 ประการ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการบริโภคแมลงยังไม่ได้รับความนิยมจากคนทั่วไป ผู้ประกอบการจึงยังไม่กล้าลงทุน การประชาสัมพันธ์จึงน่าจะเป็นก้าวแรกเพื่อพัฒนาการบริโภคแมลง เสริมสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารให้คนทั้งโลก

ขณะที่ นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เผยผ่านเฟซบุ๊ก มกอช. ว่า หลังไทยโดย มกอช.กับกรมปศุสัตว์ได้ร่วมขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ผลักดันให้ไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าจิ้งหรีดหลักของโลก โดยจัดทำข้อมูลทางเทคนิค และเจรจากับสำนักงานแห่งชาติด้านสุขอนามัยความปลอดภัยและคุณภาพของการเกษตรและอาหารของเม็กซิโก เพื่อเปิดตลาดผลิตภัณฑ์จิ้งหรีด ล่าสุดประสบความสำเร็จแล้ว เป็นการเปิดทางยกระดับอาหารภูมิปัญญาพื้นบ้านสู่ตลาดโลก สร้างรายได้เกษตรกร กระตุ้นเศรษฐกิจไทย

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 เม็กซิโกได้ประกาศอนุญาตการนำเข้าผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดจากไทยเป็นทางการ โดยได้ประกาศข้อกำหนดด้านสุขอนามัยสัตว์ (Zoosanitary Requirement Sheet หรือ HRZ) สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ผงแป้งจิ้งหรีดสายพันธุ์สะดิ้งจากไทย ซึ่งถือเป็นความสำเร็จของการดำเนินงานร่วมกันของหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการผลักดันสินค้าแมลงกินได้ของไทยสู่ตลาดโลก

สายพันธุ์จิ้งหรีดที่ไทยได้รับอนุญาตส่งออกไปยังเม็กซิโกได้ คือ จิ้งหรีดทองแดงลาย หรือสะดิ้ง (Acheta domesticus) ในลักษณะผลิตภัณฑ์ผงแป้งจิ้งหรีด โดยมีเงื่อนไขต้องเลี้ยงในฟาร์มที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP (การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด หรือ มกษ. 8202-2560) สินค้าต้องไม่มีการปนเปื้อนโปรตีนจากสัตว์เคี้ยวเอื้อง ต้องได้ใบรับรองสุขอนามัย (health certificate) จากกรมปศุสัตว์ประกอบการส่งออก

ถือเป็นการเปิดประตูสู่ภูมิภาคละตินอเมริกาที่มีการยอมรับบริโภคสินค้ากลุ่มแมลงกินได้ในระดับสูง และอาจนำไปสู่การขยายตลาดไปในภูมิภาคอเมริกาเหนือ ต่อไปได้ในอนาคต