ตรุษจีนห้วยขวางคึกคัก ประกาศเป็นไชน่าทาวน์แห่งที่ 2 ของกรุงเทพฯ

ตรุษจีน

ตรุษจีน 2566 เขตห้วยขวาง คึกคัก จัดงานเป็นครั้งแรก เปิดด้วยขบวนแห่เชิดสิงโตตลอดถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ พร้อมประกาศเป็นไชน่าทาวน์แห่งที่ 2 ของกรุงเทพมหานคร

วันที่ 20 มกราคม 2566 สำนักงานเขตห้วยขวาง โดย ดร.ไพฑูรย์ งามมุข ผู้อำนวยการเขตห้วยขวาง ในฐานะผู้จัดงาน พร้อมด้วย นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายประพฤทธ์ หาญกิจจะกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตห้วยขวาง และนายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประธานในพิธี ร่วมกันเปิดงาน “เทศกาลตรุษจีนเขตห้วยขวาง ประจำปี 2566” เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 19 ม.ค. 66 ที่ผ่านมา

ภายในพิธีเปิด เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตและประชาชนในพื้นที่ได้ร่วมกันเดินขบวนแห่ เชิดสิงโตเงิน สิงโตทอง ตลอดสองฝั่งถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ ที่ได้ชื่อว่าเป็นไชน่าทาวน์ในเขตห้วยขวาง สร้างความสนใจให้คนที่อยู่ในชุมชนและนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นอย่างมาก ถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่บอกให้สาธารณชนทราบว่าตรุษจีนห้วยขวางได้เริ่มขึ้นแล้ว

ดร.ไพฑูรย์กล่าวว่า เทศกาลตรุษจีนถือเป็นเทศกาสำคัญที่สุดของชาวจีน เป็นวันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินจีน สำนักงานเขตห้วยขวางจึงร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน สถานประกอบการ และประชาชนในพื้นที่ จัดงานตรุษจีนขึ้นเป็นครั้งแรก

การจัดงานตรุษจีนดังกล่าวมีขึ้นเพื่อสนับสนุนศิลปวัฒนธรรมที่ผสมผสานระหว่างไทยและจีนในพื้นที่ และที่สำคัญเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในเขตห้วยขวาง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงแรม ท่องเที่ยว การขนส่ง ไปจนถึงร้านอาหารต่าง ๆ นอกจากนี้ยังเป็นการดึงอัตลักษณ์ของเขตห้วยขวางมานำเสนอให้แพร่หลายมากขึ้น ในฐานะ “ไชน่าทาวน์แห่งใหม่” ของกรุงเทพมหานคร

การที่จะสร้างจุดเด่นของชุมชนหรือทำให้เป็นย่านใหม่ ๆ นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้เกิดความยั่งยืนและการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน การจัดงานเพียงครั้งต่อครั้งจึงไม่สามารทำได้ ตรุษจีนห้วยขวางใช้เวลาจัดงานและเตรียมการไม่นาน สื่อถึงความเข้มแข็งของชุมชนที่มีอยู่ได้เป็นอย่างดี

ด้านนายประพฤทธ์ หาญกิจจะกุล ส.ก. เขตห้วยขวาง กล่าวว่า งานตรุษจีนห้วยขวางที่จัดเป็นปีแรกนี้ ได้แบบอย่างสำคัญมาจากย่านเยาวราช เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้โดยเฉพาะถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ มีห้างร้านและจำนวนคนจีนจากแผ่นดินใหญ่เข้ามาอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก

เขตห้วยขวางจึงพยายามทำหลายสิ่งหลายอย่างเพื่อให้เกิดกิจกรรมและทำให้พื้นที่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งมีทั้งร้านอาหารจีนที่มีชื่อเสียงมากมาย มีถนนเป็นที่รู้จัก และถูกยอมรับจากชาวจีน ดังนั้น ต้องผลักดันจุดนี้ให้เป็นที่รู้จักในมุมของคนไทยมากขึ้น

การทำงานเชิงรุกจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ งานตรุษจีนห้วยขวางเป็นหนึ่งในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ คนในชุมชน และบรรดาผู้ประกอบการชาวจีน ให้เกิดความใกล้ชิดและเข้าใจในวิถีชีวิตของกันและกันมากขึ้น ด้านคนจีนเองก็จะเข้าใจข้อกฎหมาย ระเบียบ และข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานครมากขึ้นด้วย

เราพร้อมประกาศอย่างเป็นทางการให้ห้วยขวางเป็นไชน่าทาวน์แห่งที่ 2 ของกรุงเทพมหานคร โดยหวังว่าจะได้กระแสตอบรับในเชิงบวกจากประชาชนและนักท่องเที่ยวให้มากยิ่งขึ้น ส.ก. กล่าวทิ้งท้าย