ส่งออกไทย พ.ย. 2566 ขยายตัว 4.9% มั่นใจทั้งปี ติดลบน้อย 1%

ส่งออกไทย
ภาพจาก : freepik

“พาณิชย์” เผยการส่งออกไทยเดือนพฤศจิกายน 2566 ขยายตัว 4.9% ดีกว่าประเทศคู่แข็ง พร้อมมั่นใจทั้งปี 2566 ส่งออกติดลบน้อยลง ส่วนการส่งออกธันวาคม 2566 คาดหดตัวน้อย ขณะที่การส่งออกปี 2567 เป้าหมาย 1.99% รุกกิจกรรมการส่งออกเต็มที่ ติดตามปัจจัยเสี่ยงอย่างใกล้ชิด

วันที่ 25 ธันวาคม 2566 นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงตัวเลขการส่งออกเดือนพฤศจิกายน 2566 และ 11 เดือนแรกของปี 2566 พบว่าการส่งออกของไทยในเดือนพฤศจิกายน 2566 มีมูลค่า 23,479.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 4.9% ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 4.0% การส่งออกของไทยเดือนนี้เมื่อเทียบหลายประเทศคู่แข่ง ถือว่าตัวเลขการส่งออกดี ทั้งนี้ การส่งออกไทย 11 เดือนแรกของปี 2566 หดตัว 1.5% และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 0.5%

ทั้งนี้ หากการส่งออกของไทยเดือนธันวาคม 2566 ได้มูลค่า 25,654 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกทั้งปี 2566 ไทยมีโอกาสการส่งออกขยายตัว 0% หากอยู่ที่ 23,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งออกไทยทั้งปี หดตัว 0.8% โดยเชื่อว่าการส่งออกของไทยทั้งปี หดตัวไม่ถึง 1.5% อย่างมากอาจจะอยู่ที่ หดตัว 1% น้อยที่สุดแน่นอน

สำหรับการส่งออกเดือนพฤศจิกายน 2566 ขยายตัว เป็นผลจากตลาดส่งออกสำคัญของไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องหลังจากภาวะเงินเฟ้อสูงเริ่มชะลอลง และมีแนวโน้มกลับสู่ระดับเป้าหมายในปีหน้า โดยหลายประเทศเริ่มส่งสัญญาณการจบวงรอบการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในการบริโภคปรับตัวสูงขึ้น การส่งออกรายสินค้าในภาพรวมขยายตัวทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดสินค้าเกษตรที่ขยายตัวมากกว่าหมวดอื่น ๆ

ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมเติบโตอย่างต่อเนื่องตามวัฏจักรการฟื้นตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และมีปัจจัยบวกจากการจับจ่ายใช้สอยก่อนเข้าสู่เทศกาลสำคัญในช่วงท้ายปี ส่งผลให้ผู้ประกอบการในหลายประเทศเร่งนำเข้าสินค้าให้เพียงพอกับความต้องการ

สำหรับการนำเข้าของไทยเดือนพฤศจิกายน 2566 มีมูลค่า 25,879.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 10.1% ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า มูลค่า 2,399.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนภาพรวม 11 เดือนแรกของปี 2566 การนำเข้า มีมูลค่า 267,935.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 3.8% ทำให้ดุลการค้า 11 เดือนแรกของปี 2566 ขาดดุล 6,165.3 ล้านเหรียญสหรัฐ

การส่งออกสินค้าเกษตร-อุตสาหกรรมเกษตร

มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 4.9% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และเป็นการขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน โดยสินค้าเกษตร ขยายตัว 7.7% ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 1.7% ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน

มีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าว ขยายตัว 67.9% ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สหรัฐ แอฟริกาใต้ และแอลจีเรีย) ยางพารา ขยายตัว 14.5% กลับมาขยายตัวในรอบ 16 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย สหรัฐ และตุรกี) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 2.5% กลับมาขยายตัวในรอบ 11 เดือน (ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ลิเบีย แคนาดา อิสราเอล และอาร์เจนตินา) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 3.3 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐ ญี่ปุ่น อิตาลี ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม)

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัว 12.8% กลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือน (หดตัวในตลาดจีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ แต่ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น มาเลเซีย สหรัฐ บังกลาเทศ และออสเตรเลีย) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง หดตัว 26.9% กลับมาหดตัวในรอบ 6 เดือน (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฮ่องกง และสิงคโปร์ แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐ เวียดนาม เมียนมา เกาหลีใต้ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์)

น้ำตาลทราย หดตัว 9.8% หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดอินโดนีเซีย ลาว จีน มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ แต่ขยายตัวในตลาดกัมพูชา เวียดนาม สิงคโปร์ ไต้หวัน และเกาหลีใต้) ทั้งนี้ 11 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว 0.5%

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม

มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 3.4% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน

สินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 10.3% กลับมาขยายตัว ในรอบ 14 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐ เนเธอร์แลนด์ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และไต้หวัน) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ขยายตัว 15.3% ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และสิงคโปร์) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ขยายตัว 42.2% ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดสิงคโปร์ ญี่ปุ่น อินเดีย แคนาดา และเมียนมา)

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัว 9.7% กลับมาหดตัว ในรอบ 11 เดือน (หดตัวในตลาดมาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม แอฟริกาใต้ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐ) แผงวงจรไฟฟ้า หดตัว 6.6% หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน สหรัฐ และฟิลิปปินส์ แต่ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย เยอรมนี และเกาหลีใต้) ทั้งนี้ 11 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัว 1.5%

แนวโน้มการส่งออก

แผนส่งเสริมการส่งออกในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับภาคเอกชนจัดทำแผนเร่งรัดการส่งออกระยะ 1 ปี ประกอบด้วยกิจกรรมทั้งหมด 417 กิจกรรม คาดการณ์มูลค่าส่งออก 65,700 ล้านบาท ภายใต้ 5 กลยุทธ์สำคัญ ดังนี้

1) เปิดประตูโอกาสทางการค้า เชิงรุก สู่ตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ ควบคู่ไปกับการรักษาตลาดเดิม โดยเดินสายสร้างสัมพันธ์ทั่วโลก เร่งผลักดันการเจรจา FTA เจาะตลาดเมืองรองศักยภาพ บูรณาการการทำงานระหว่างทูตพาณิชย์กับพาณิชย์จังหวัดให้เข้มข้นขึ้น เพื่อเชื่อมโยงสินค้าจากท้องถิ่นสู่ตลาดโลก เร่งสร้างรายได้ภาคการเกษตร

2) สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการส่งออก ด้วยแบรนด์ นวัตกรรม การออกแบบ และการสอดแทรกคุณค่าอัตลักษณ์ความเป็นไทย โดยมุ่งผลักดัน 11 สาขา soft power เป้าหมาย รุกสู่เวทีโลก

3) ผลักดันภาคธุรกิจไทยปรับตัวเข้าสู่การค้าโลกในยุคดิจิทัล และส่งเสริม Cross-border E-Commerce

4) สานต่อนโยบาย Carbon Neutrality ผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อสร้างโอกาสทางการค้า ภายใต้มาตรการกีดกันทางการค้าที่เชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อม โดยเดินหน้าบ่มเพาะผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจตามแนวคิด BCG และส่งเสริมออกสู่ตลาดโลก

5) ยกระดับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย (Logistics Service Providers) และส่งเสริมการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงกับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในภูมิภาค เพื่อยกระดับประเทศไทยเป็น Logistics Hub ของภูมิภาค นอกจากนี้ยังได้มอบหมายทูตพาณิชย์ใน 10 ประเทศเป้าหมาย ภายใต้นโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก คือ สหรัฐ จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี และฝรั่งเศส อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เกาหลีใต้ ซาอุดีอาระเบีย และแอฟริกาใต้ จัดทำแผนขับเคลื่อนการส่งออกไปยังตลาดเป้าหมายดังกล่าวเพิ่มเติมด้วย

สำหรับการส่งออกปี 2567 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หลังจากที่เงินเฟ้อชะลอลงกลับสู่เป้าหมาย วัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มจะยุติลง กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว พร้อมกับความเชื่อมั่นในการบริโภคและการลงทุนที่กลับมา ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายการทำงานเพื่อผลักดันการเติบโตของมูลค่าการส่งออกในปี 2567 ไว้ที่ 1.99% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 10 ล้านล้านบาท