นักเศรษฐศาสตร์ส่อง “จีดีพีไทย” ปีมังกร ไร้เครื่องยนต์ใหม่-โตไม่ถึง 4%

“จีดีพี” ปีมังกร

ว่ากันด้วยเรื่องภาพเศรษฐกิจไทย แม้ปี 2566 จะโตแผ่วลง ๆ จนทุกสำนักต้องปรับลดประมาณการอัตราขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ (จีดีพี) ลงต่อเนื่อง โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้ว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นต่อเนื่อง เพียงแต่ฟื้นช้า ขณะที่ภาพในปี 2567 ก็มีการประเมินกันออกมาแล้ว ซึ่งดูเหมือนยังมีหลายปัจจัยต้องลุ้นไม่ต่างจากปี 2566 ที่ผ่านมา

เศรษฐกิจไทย “ฟื้นช้า-โตต่ำ”

โดย “ปิติ ดิษยทัต” ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า ธปท.ประเมินจีดีพีปีหน้าโตที่ 3.2% ต่อปี แต่หากรวมดิจิทัลวอลเลตจะโตได้ 3.8% ซึ่งเป็นการขยายตัวอย่างสมดุลมากขึ้น ทั้งนี้ การขยายตัว 3.2% ถือเป็นตัวเลขระดับกลาง ๆ เมื่อเทียบกับสำนักพยากรณ์อื่น

โดยภาคการส่งออกจะเป็นแรงส่ง แม้ว่าในปี 2566 ส่งออกจะหดตัว แต่ปีหน้าจะฟื้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ที่กลับมา ภายใต้บริบทที่ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่านักท่องเที่ยวปีหน้าจะอยู่ที่ 34.5 ล้านคน

“จีดีพีฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ฟื้นช้า ไม่เท่ากัน และมีเรื่องความไม่แน่นอน ทั้งบวกและลบ โดยด้านลบ เช่น เศรษฐกิจจีนชะลอตัวกว่าคาด สงครามอิสราเอล-ฮามาส รวมถึงว่าไทยจะได้ประโยชน์แค่ไหนจากวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ที่ดีขึ้น เพราะไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้าง”

“3 สำนัก” คาดปี’67 โต 3.1%

ขณะที่ “บุรินทร์ อดุลวัฒนะ” กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ประเมินปีหน้าจีดีพีไทยจะขยายตัวที่ 3.1% และหากรวมมาตรการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท จะขยายตัวได้ 3.6% โดยการเติบโตจะมาจากภาคการบริโภคที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.8% ซึ่งหากรวมดิจิทัลวอลเลตจะโต 3.8% รวมถึงนโยบายกระตุ้นภาครัฐ

ขณะที่การส่งออกคาดขยายตัว 2% ตามการฟื้นตัวของการค้าโลก ส่วนนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 30.6 ล้านคน

“เศรษฐกิจไทยปีหน้า Down Side Risk มากขึ้น หากการค้าและการส่งออกไม่ได้ฟื้นตัวตามที่คาด ดังนั้น ไทยต้องการเครื่องจักรใหม่ ๆ มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะเรายังไม่ได้ฟื้นตัวเท่าคนอื่น”

ฟาก “ดร.อมรเทพ จาวะลา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ปี 2567 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.1% จากปี 2566 อยู่ที่ 2.4% โดยสิ่งท้าทายสำคัญ คือ การออกแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านดิจิทัลวอลเลต ซึ่งต้องการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ

โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย แม้ว่านโยบายนี้สามารถส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ (โดยอาจเพิ่มเป็น 3.6% เทียบกับ 3.1% กรณีไม่มีนโยบายนี้) แต่ยังทำให้เกิดความกังวลต่อการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะ ซึ่งอาจนำไปสู่การปรับลดอันดับเครดิตและการไหลออกของเงินทุน

ด้านศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) ประเมินว่า จีดีพีปี 2567 คาดว่าจะขยายตัว 3.1% มาจากภาคการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว และผลบวกชั่วคราวจากมาตรการกระตุ้นการบริโภค

อย่างไรก็ดี มองว่าเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังเผชิญความไม่แน่นอนสูงทั้งปัจจัยภายในและภายนอก ทั้งการฟื้นตัวเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ยังไม่แน่นอนสูง ตลาดการเงินผันผวนทั่วโลก ความเสี่ยงจากความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ รวมถึงความเปราะบางของเสถียรภาพด้านต่างประเทศที่อาจกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน

หลังโควิดไทยโตต่ำสุดในภูมิภาค

ด้าน “เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา” นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ประจำประเทศไทย ธนาคารโลก กล่าวว่า ธนาคารโลกคาดการณ์จีดีพีไทยปี 2567 ที่ 3.2% จากเดิมคาดที่ 3.5% หากรวมเงินดิจิทัลวอลเลต จะหนุนจีดีพีเพิ่มราว 1% กระจายไปใน 2 ปีข้างหน้า แต่จะส่งผลให้การขาดดุลทางการคลังอาจเพิ่มขึ้นเป็น 4-5% ของจีดีพี และหนี้สาธารณะอาจเพิ่มสูงขึ้นเป็น 65-66% ของจีดีพี

“การเติบโตของจีดีพีไทยหลังโควิด-19 นับว่าอยู่ในอัตราที่ต่ำสุดเมื่อเทียบกับภูมิภาค ส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจโลกที่เติบโตชะลอลง และมีปัญหาโครงสร้างที่ไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวสูง

ดังนั้น การแก้ไขในเชิงโครงสร้างเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อหาแรงขับเคลื่อนใหม่ ขณะที่พื้นที่ทางการคลังแม้ว่าจะยังมีเหลือ แต่ก็ควรตั้งเป้าหมายให้ถูกจุด รวมถึงการเพิ่มพื้นที่ทางการคลังด้วย”

นิยามเศรษฐกิจไทย 3 คำ

“สมประวิณ มันประเสริฐ” รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Intelligence Center (EIC) กล่าวว่า EIC ประเมินจีดีพีปีหน้าโตได้ 3% จากเดิมคาด 3.5% กรณีรวมดิจิทัลวอลเลตจะบวกเพิ่ม 1-2% ภายในระยะเวลา 2 ปี โดยเครื่องยนต์ส่งออกจะเป็นแรงสนับสนุน โดยกลับมาขยายตัว 3.7% ตามมูลค่าการค้าโลกและวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ปรับดีขึ้น ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังเห็นการเติบโตต่อเนื่องอยู่ที่ 38 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวต่ำบนศักยภาพการเติบโตที่ลดลง เนื่องจากยังมีความเปราะบางจากภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ฟื้นตัวไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยและธุรกิจขนาดเล็กที่ยังมีหนี้สูง แต่รายได้เติบโตช้า รวมถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมานาน ดังนั้น มองว่าในระยะต่อไปเศรษฐกิจไทยอยู่ใน 3 คำ ก็คือ โตช้า เปราะบาง และไม่แน่นอน

“ตอนนี้เศรษฐกิจไทยเป็นภาวะปกติที่ไม่เหมือนเดิม แม้ว่าจีดีพีจะกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ แต่ในระยะต่อไปศักยภาพจะลดลง เพราะหากดูข้อมูลในอดีต 20 ปีก่อน จีดีพีโต 8% และ 10 ปีต่อมาเหลือโต 5% และตอนนี้เราโตได้ 3% ซึ่งหากต้องการให้เศรษฐกิจไทยเดินต่อได้เข้มแข็ง มีภูมิคุ้มกัน จะต้องมี 4 สร้าง คือ 1.สร้างภูมิคุ้มกันในประเทศ 2.สร้างกล้ามเนื้อผ่านนำธุรกิจเข้าตลาดง่ายขึ้น และส่งเสริมการแข่งขัน 3.สร้างการลงทุนใหม่อย่างมีกลยุทธ์ และ 4.สร้างความยั่งยืน”