ลุยตรวจสอบ นอมินี ภูเก็ต 59 ราย เน้นธุรกิจท่องเที่ยวต้องโปร่งใส 

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม
อรมน ทรัพย์ทวีธรรม

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมลงพื้นที่ภูเก็ต ตรวจสอบธุรกิจเข้าข่ายนอมินี 59 ราย พร้อมธุรกิจปางช้างนายเดวิด และจะปูพรมไปในจังหวัดท่องเที่ยวทั่วประเทศ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ชลบุรี เพื่อป้องกันนอมินี

วันที่ 5 มีนาคม 2567 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ประสานกรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ตรวจสอบธุรกิจที่เข้าข่ายนอมินีในพื้นที่  รวมไปถึงกรณีในกระแส นายเดวิด นักธุรกิจต่างชาติเข้ามาลงทุนและจดทะเบียนมูลนิธิ เบื้องต้นพบว่าได้มีการจดทะเบียนประกอบธุรกิจนำเที่ยว บริษัท อีเลเฟนท์ แซงชัวรี่ พาร์ค ภูเก็ต จำกัด โดยมีผู้ถือหุ้นจำนวน 3 ราย เป็นคนไทย 2 ราย ถือหุ้น 51% และต่างชาติ 1 ราย ถือหุ้น 49% ตรวจสอบไม่เข้าข่ายเป็นธุรกิจนอมินี

สำหรับเป้าหมายการตรวจสอบธุรกิจที่เข้าข่ายนอมินีในปี 2567 อยู่ในจังหวัดท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต กรุงเทพฯ เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี และชลบุรี เป็นต้น ซึ่งจะมีการตรวจสอบเชิงลึกในกลุ่มธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับท่องเที่ยว อาทิ ภัตตาคาร นำเที่ยว ให้เช่ารถ โรงแรม รีสอร์ต อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

“จำนวนธุรกิจที่ได้คัดกรองเข้าข่ายนอมินีออกมาได้ประมาณ 419 ราย และในจำนวนนี้ 313 รายได้ขอให้มีการส่งเอกสารข้อมูลเพิ่มเติมในการตรวจสอบ ส่วนในพื้นที่ภูเก็ตมีจำนวน 59 ราย ที่จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะลงพื้นที่ในการตรวจสอบธุรกิจที่เข้าข่ายนอมินี”

อย่างไรก็ดี การลงพื้นที่ตรวจสอบธุรกิจที่เข้าข่ายนอมินีในปี 2567 กรมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมที่จะลงพื้นที่ในการตรวจสอบธุรกิจที่กระทำผิด โดยที่จะเข้าตรวจสอบเชิงลึก เช่น การถือหุ้น ประเภทธุรกิจ ทั้งนี้ หากพบว่ากระทบตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 มาตรา 36 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับ 1 แสน ถึง 1 ล้านบาท และหากยังฝ่าฝืนต่อมีโทษปรับวันละ 10,000-50,000 บาทด้วย

รายงานข่าวระบุว่า การลงพื้นที่ตรวจสอบธุรกิจที่เข้าข่ายนอมินี สืบเนื่องจากเมื่อปลายปี 2566 กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จัดพิธีร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การแก้ปัญหาการประกอบธุรกิจท่องเที่ยวโดยใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง (NOMINEE) โดยเป็นการบูรณาการความร่วมมือกันของ 6 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการท่องเที่ยว สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

พร้อมทั้งตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมแก้ไขปัญหาการประกอบธุรกิจท่องเที่ยว โดยใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง (NOMINEE) ใช้ชื่อย่อว่า “ศปต.” ซึ่งตั้งอยู่ที่กรมการท่องเที่ยว และจะจัดตั้งคณะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกัน ภายใต้กรอบความร่วมมือ 4 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านการจดทะเบียนและการอนุญาตประกอบธุรกิจ 2.ด้านการประสานแลกเปลี่ยนข้อมูล 3.ด้านการกำกับดูแลและป้องปราม และ 4.ด้านการส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยว เพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพของผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน