ภูมิธรรม หารือทูตสวิสเร่งดันเจรจา FTA ไทย-เอฟตา ให้สรุปผลในปี 2567 นี้

FTA

“ภูมิธรรม” หารือทูตสวิสย้ำความสัมพันธ์ใกล้ชิดทุกด้าน เร่งผลักดันเจรจา FTA ไทย-เอฟตา (EFTA) ให้สรุปผลในปี 2567 นี้

วันที่ 14 มีนาคม 2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังหารือกับนายเปโตร สวาเล็น เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสมาพันธรัฐสวิส ประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2567 ที่กระทรวงพาณิชย์ ว่าเพื่อหารือถึงความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างไทยและสวิตเซอร์แลนด์

โดยทั้งสองฝ่ายย้ำว่าให้ความสำคัญอย่างมากกับการเจรจา FTA ระหว่างไทยและสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association : EFTA) ซึ่งมีสมาชิก 4 ประเทศ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ และยินดีที่การเจรจาคืบหน้ามากและใกล้จะสรุปผลได้ คาดว่าภายในปี 2567 นี้

ซึ่งจะเป็น FTA ฉบับแรกที่ไทยทำกับกลุ่มประเทศในยุโรป โดยสวิตเซอร์แลนด์ยินดีที่จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อให้สามารถสรุปผลการเจรจา FTA ได้สำเร็จตามเป้าหมาย และจะเป็นประโยชน์กับทั้งไทยและสวิตเซอร์แลนด์ และประเทศสมาชิก EFTA ในการเพิ่มพูนและสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ตลอดจนยกระดับมาตรฐานสู่สากลเพื่อรองรับกฎกติกาและระเบียบการค้าโลกใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปและให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายสำคัญของรัฐบาล

อีกทั้งยังต้องให้ความสำคัญกับการดูแลเกษตรกรและผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถปรับตัวและมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือและแลกเปลี่ยนมุมมองถึงแนวทางการปฏิรูปรัฐธรรมนูญฯ โดยประเทศไทยมี รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน หรือฉบับปี 2560 จำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขเพื่อลดอุปสรรคและข้อจำกัดในการบริหารราชการแผ่นดินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงต้องเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน

โดยรัฐบาลต้องการให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด และตระหนักว่าอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของประชาชน และจะเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็นต่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และพร้อมให้ประชาชนเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ

นายภูมิธรรมกล่าวอีกว่า ไทยและสวิตเซอร์แลนด์ มีความใกล้ชิดกันมายาวนาน ตั้งแต่ปี 2440 ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปและสวิตเซอร์แลนด์ ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ที่ดีและแน่นแฟ้นในทุกด้าน รวมถึงการท่องเที่ยว สำหรับด้านเศรษฐกิจ การค้า และการพัฒนา ขณะนี้ รัฐบาลไทยอยู่ระหว่างขับเคลื่อนนโยบายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและขนส่ง ไม่ว่าทางบก น้ำ ราง และอากาศ จึงเชิญชวนให้สวิตเซอร์แลนด์

รวมทั้งประเทศสมาชิก EFTA เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในสาขาเทคโนโลยีขั้นสูงที่ EFTA มีความเชี่ยวชาญ เพื่อประโยชน์ร่วมกัน และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทำให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวและมีเสถียรภาพ ซึ่งนักลงทุนจากสวิตเซอร์แลนด์ สามารถใช้ประเทศไทยเป็นประตูเชื่อมโยงสู่ภูมิภาคเอเชียด้วย

ในปี 2566 สวิตเซอร์แลนด์ เป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทยในยุโรป การค้ารวม 8,946.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออกไปสวิตเซอร์แลนด์ 3,970.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่ไทยนำเข้าจากสวิตเซอร์แลนด์ 4,975.43 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการค้ารวมไทย-EFTA มูลค่า 9,882.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออกไป EFTA 4,385.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ไทยนำเข้าจาก EFTA 5,497.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปสวิตเซอร์แลนด์ และ EFTA เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ นาฬิกาและส่วนประกอบ เครื่องใช้สำหรับเดินทาง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป สินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์พลาสติก แผงวงจรไฟฟ้า เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ

สินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากสวิตเซอร์แลนด์ และ EFTA เช่น เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ นาฬิกาและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์ เครื่องประดับอัญมณี เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ สบู่ ผงซักฟอกและเครื่องสำอาง เนื้อสัตว์สำหรับบริโภค ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ และสัตว์น้ำ สด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่า ในปี 2566 นักลงทุนจากประเทศสมาชิก EFTA เข้ามาลงทุนในไทยเป็นอันดับที่ 14 จากนักลงทุนชาวต่างชาติทั้งหมด จำนวน 20 โครงการ มีมูลค่าการลงทุนรวม 2,962 ล้านบาท โดยสวิตเซอร์แลนด์เสนอขอรับการลงทุนในประเทศไทยมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มประเทศสมาชิก EFTA และเป็นอันดับที่ 15 จากนักลงทุนชาวต่างชาติทั้งหมด จำนวน 9 โครงการ มีมูลค่าการลงทุน 1,738 ล้านบาท