วัดขุมกำลัง Virtual Bank

Virtual Bank

วัดขุมกำลัง Virtual Bank

วันที่ 26 มีนาคม 2567 นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด กล่าวว่า ภายหลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดยื่นคำขอใบอนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank (20 มี.ค.-19 ก.ย. 2567) นำไปสู่การเคลื่อนไหวของกลุ่ม และบริษัท ที่สนใจเข้าร่วม ตั้งแต่กลุ่ม JV

  • KTB (KTB+ADVANC+GULF+OR)
  • TRUE Money
  • SCB ที่ล่าสุดเปิดตัวพันธมิตรรายใหม่ WeBank ธนาคารดิจิทัลจากจีน เพิ่มเติมจาก Kakao Bank ซึ่งเป็น Virtual Bank จากเกาหลีใต้

นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์ในประเทศรายงานว่ากลุ่ม JMART ซึ่งมีฐานข้อมูลของ SINGER และความเชี่ยวชาญในการติดตามหนี้ของ JMT เตรียมเข้าหารือกับ KBANK เพื่อยื่นขอใบอนุญาต

ปัจจุบันประกาศกระทรวงการคลังเกี่ยวกับ Virtual Bank ไม่ได้กำหนดจำนวนใบอนุญาต แต่ให้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ ธปท. ในการพิจารณาความเหมาะสม ทั้งฐานทุน, ความพร้อมด้านเทคโนโลยี และกลยุทธ์ธุรกิจที่สามารถตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายหลัก

คือลูกค้าที่ไม่ได้รับบริการทางการเงินอย่างเหมาะสม (Underserved) หรือกลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน (Unserved) โดยฝ่ายวิจัยมองว่าชื่อชั้นบริษัท/ธนาคาร ข้างต้น มีความพร้อมด้านฐานทุนและเทคโนโลยี

ทำให้ปัจจัยที่ต้องติดตามคือ การนำเสนอผลิตภัณฑ์ทั้งฝั่งสินเชื่อ ผ่านโมเดลในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ ภายใต้ฐานข้อมูลที่มีอยู่ รวมถึงรูปแบบการระดมเงินฝาก รวมถึงการบริหารจัดการความเสี่ยง ครอบคลุมคุณภาพสินทรัพย์, การบริหารสภาพคล่อง (NSFR และ LC) และโครงสร้างเงินทุน (BIS
Ratio)

ทั้งนี้ ในมุมมองฝ่ายวิจัยกลุ่ม KTB ดูมีความพร้อมทั้งฐานทุนและข้อมูลจาก ADVANC เมื่อเทียบกับรายชื่อที่ปรากฏตามข้างต้น ส่วน SCB ฝ่ายวิจัยเชื่อว่าการมีพันธมิตรตามข้างต้นดีในเชิงการพัฒนาระบบทั้งโมเดลในการพิจารณาสินเชื่อและการนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝาก

แต่ฐานข้อมูลที่มีอยู่เป็นฐานข้อมูลที่ SCB มีเป็นหลักอยู่แล้ว จึงยังไม่เด่นเท่ากับกลุ่ม KTB ขณะที่กรณีของ KBANK ยังต้องติดตาม เพราะเดิม KBANK ไม่ได้มีแผนยื่นขอใบอนุญาต Virtual Bank

อย่างไรก็ดี หากเกิดขึ้น จุดแข็งกว่ากลุ่มอื่นคือ การมี JMT ที่เชี่ยวชาญการติดตามหนี้ ถือว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการบริหารจัดการความเสี่ยง ยามรุกฐานลูกค้ารากหญ้าตามความเห็นของฝ่ายวิจัย

โดยไทม์ไลน์เบื้องต้นกระบวนการพิจารณาของ ธปท.แล้วเสร็จเดือน มิ.ย. 2568 และ Virtual Bank จะพร้อมเปิดดำเนินการเดือน มิ.ย. 2569

กล่าวโดยสรุปการมาของ Virtual Bank ยังไม่มีผลต่อประมาณการปี 2567-2568 อีกทั้งสัดส่วนการถือหุ้นของธนาคารในแต่ละ Virtual Bank เป็นอีกปัจจัยที่มีผลต่อประมาณการ ยังต้องติดตามต่อ โดยเลือก TTB ให้ราคาเป้าหมาย 1.98 บาท เป็น Top Pick กลุ่ม จากแนวโน้มกำไรปี 2567 ขยายตัวเด่นสุดในกลุ่ม เพราะการมี Tax Shield และการตั้งสำรองส่วนเพิ่มในงวดไตรมาส 4/2566 ทำให้แรงกดดันต่ำกว่ากลุ่ม

ขณะที่ธนาคารใหญ่อื่น ๆ มองว่า BBL ราคาเป้าหมาย 175 บาท และ KBANK ราคาเป้าหมาย 148 บาท ปรับฐานจนลงมาซื้อขายบริเวณ 0.5 เท่า และในเชิงราคาหุ้น อย่าง KBANK ถือว่าลงมาต่ำกว่าช่วงเดือน ส.ค. 2565 และ BBL ใกล้เคียงกับช่วงดังกล่าว (วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นของไทยรอบนี้เริ่มต้นเดือน ส.ค. 2565)