เตรียมตัวเตรียมใจ รับมือ “ดอกเบี้ย” ขาขึ้น

รถยนต์ ถนน
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : อำนาจ ประชาชาติ

ท่ามกลางค่าครองชีพที่ทะยานสูงต่อเนื่อง สัญญาณ “ดอกเบี้ยขาขึ้น” ก็ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน

โดยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบล่าสุด คณะกรรมการประเมินว่า “การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ” และ “ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ” มีความชัดเจนขึ้น

กนง.จึงเห็นว่าการดำเนินนโยบายการเงินที่ “ผ่อนคลายมาก” ในระดับปัจจุบันจะมีความ “จำเป็นลดลง” ในระยะข้างหน้า

“คณะกรรมการจะพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป ให้สอดคล้องกับแนวโน้มและความเสี่ยงของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไป รวมทั้งคำนึงถึงผลกระทบและประสิทธิผลของนโยบายในระยะปานกลางเป็นสำคัญ”

นี่คือ “message” จาก กนง.ที่แสดงให้เห็นถึงความกังวลต่อเงินเฟ้ออย่างชัดเจน

โดยคณะกรรมการ กนง. 3 เสียง จากทั้งหมด 7 เสียง เสนอให้ “ขึ้นดอกเบี้ย” ตั้งแต่การประชุมรอบที่ผ่านมา ซึ่ง 3 เสียงดังกล่าวเห็นว่าแนวโน้ม “การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ” และ “ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ” มีความชัดเจนเพียงพอที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปจากการประชุมครั้งก่อน

“การฟื้นตัวของอุปสงค์จาก pent-up demand และการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจมากกว่าที่ประเมินไว้ ขณะที่การส่งผ่านต้นทุนอาจมากกว่าคาด โดยเฉพาะการส่งผ่านไปยังอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายต้องใช้ระยะเวลาในการส่งผ่าน จึงควรเริ่มปรับขึ้นในครั้งนี้และทยอยปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป”

เดาว่า 3 เสียงดังกล่าวน่าจะมาจากกรรมการฝั่งแบงก์ชาติ (ธนาคารแห่งประเทศ ไทย) ที่นั่งเป็นกรรมการอยู่ด้วยกัน 3 ราย

ล่าสุดกลุ่มผู้ประกอบการสินเชื่อเช่าซื้อหรือลีสซิ่ง ประกาศว่าเตรียมขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อรถยนต์ใหม่ประมาณ 0.1-0.2% ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.นี้

โดยมีการส่งหนังสือแจ้งไปยังบรรดาค่ายรถยนต์ต่าง ๆ แล้วว่า “ขึ้นแน่”

ซึ่งรอบนี้เรียกได้ว่าประกาศขยับขึ้นดอกเบี้ยไปก่อนที่ดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้นด้วยซ้ำ

สะท้อนว่าคงไม่ได้ปรับเพียงรอบเดียวแน่ ๆ กล่าวคือ หากแบงก์ชาติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลังจากนี้ ดอกเบี้ยเช่าซื้อรถก็คงขยับตามอีกรอบ

ทั้งนี้ แม้ว่าผลกระทบจะดูไม่มาก และกระทบแต่คนที่จะซื้อรถใหม่ ซึ่งอาจจะมีผลทำให้ค่างวดรถเพิ่มขึ้นไม่ถึง 100 บาทต่องวด

แต่การนำร่องขึ้นดอกเบี้ยเช่าซื้อรถ ก็เป็นสัญญาณเตือนที่ชัดเจนว่ายุคดอกเบี้ยต่ำได้ผ่านพ้นไปแล้ว หลังจากนี้คงมีแต่การปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง และดอกเบี้ยอื่น ๆ นอกเหนือจากรถอย่างเงินกู้บ้านหรือเงินกู้ของภาคธุรกิจต่าง ๆ ก็คงทยอยปรับขึ้นตามมาอีกหลายอย่าง

ดังนั้น ไม่ว่าจะในระดับบุคคลหรือผู้ที่ทำธุรกิจ ก็คงต้องวางแผนรับมือกันไว้แต่เนิ่น ๆ เพราะไม่มีใครรู้ว่า ระยะข้างหน้าจะเจออะไรกันอีกบ้าง