กทม.ปลดหนี้สายสีเขียว ต่อขยายช่วงสะพานใหม่กับแบริ่ง

สายสีเขียว

หนี้ก้อนใหญ่ 23,000 ล้านบาท จ่ายจริง เคลียร์จริง ระหว่าง กทม. กับ บีทีเอสกรุ๊ป

ปฏิบัติการชำระหนี้ก้อนโต มีการประชุมหลายรอบหลายครั้ง โฟกัสตั้งแต่เดือนมกราคม จนกระทั่งจ่ายจริงเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา

สภา กทม.เห็นชอบ 17 ม.ค.

ย้อนไทม์ไลน์การประชุมสภากรุงเทพมหานคร ประชุมสามัญสมัยแรก วันที่ 17 มกราคม 2567 สำนักงานงบประมาณ สำนักการคลัง สำนักการจราจรและขนส่ง รายงานฐานะการเงินปี 2567 มีเงินสะสมปลอดภาระผูกพัน 51,000 ล้านบาท

โดยมีมติของที่ประชุมเห็นชอบโครงการรับมอบงานทรัพย์สินระบบการเดินรถ (รถไฟฟ้าและเครื่องกล หรือ E&M-Electrical and Mechanical) รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 วงเงิน 23,488,692,200 บาท

และเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 “ต่อศักดิ์โชติมงคล” ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมการใช้จ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2567 สำหรับการรับมอบทรัพย์สินระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2

“ผู้ว่าฯ ชัชชาติ อยากให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณครั้งนี้รอบคอบ จึงตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้น โดยวันนี้เคทีมาอธิบายที่มาที่ไปว่าเป็นอย่างไร มีความเหมาะสมหรือไม่ ตัวเงินและมูลค่าที่มีการตรวจสอบแล้วเป็นมูลค่าเท่าไร ค่าใช้จ่ายทางการเงินเป็นเท่าไร ซึ่งทางเคทีได้ตรวจสอบตัวเลขที่เหมาะสม และแผนการการชำระเงินมานำเสนอให้คณะกรรมการทราบ”

“โดยคณะกรรมการชุดนี้ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงิน และผู้ทรงคุณวุฒิด้านระเบียบและกฎหมายเข้าร่วม ในการช่วยพิจารณาประเด็นที่ดำเนินการเป็นอย่างไร ผลเป็นอย่างไร บวกหรือลบ เงื่อนไขสัญญาถูกต้องตามหลักการหรือไม่ กทม.ได้ประโยชน์อย่างไร ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะทำให้ดีที่สุด ให้เกิดความรอบคอบมากที่สุด” คำกล่าวของต่อศักดิ์

จ่ายเช็ค 2.3 หมื่นล้านผ่าน KT

จนกระทั่งวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา ผู้ว่าฯชัชชาติ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการชำระหนี้ให้กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ว่าได้สั่งจ่ายเช็คเต็มจำนวนให้กับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ KT เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 เหตุผลเพราะ KT เป็นคู่สัญญากับ BTSC

โดยจำนวนเงินที่ กทม.จ่ายให้ KT เป็นจำนวน 23,312,577,476.49 บาท

ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา ย้ำกันอีกครั้งโดย “เอกวรัญญู อัมระปาล” โฆษกกรุงเทพมหานคร ระบุว่า กรณีที่กรุงเทพมหานครชำระหนี้งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) ในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต กับช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ มูลค่ากว่า 23,312 ล้านบาทนั้น

การดำเนินการดังกล่าวเป็นการชำระแก่ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ตามที่สภากรุงเทพมหานครได้มีมติอนุมัติการรับโอนงานระบบ เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567

ต่อมาสภากรุงเทพมหานครได้มีมติอนุมัติข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณปี 2567 ในวงเงิน 23,488,692,200 บาท และกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการตั้งคณะกรรมการควบคุมการใช้จ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2567 สำหรับการรับมอบทรัพย์สินระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 เพื่อความรอบคอบและเหมาะสมในการใช้จ่ายงบประมาณของกรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ นอกจากความรอบคอบและเหมาะสมในการใช้จ่ายงบประมาณของกรุงเทพมหานครแล้ว การใช้จ่ายงบประมาณของกรุงเทพมหานครในครั้งนี้ยังเกิดประโยชน์ต่อกรุงเทพมหานคร 3 ด้านคือ

1.กรุงเทพมหานครเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกลอย่างสมบูรณ์ สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างเต็มที่ ป้องกันข้อพิพาทในอนาคต

2.อำนาจต่อรองในการบริหารจัดการการเดินรถกับคู่สัญญามากขึ้น เนื่องจากเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่เป็นหัวใจสำคัญของการเดินรถ

3.กรุงเทพมหานครสามารถประหยัดงบประมาณดอกเบี้ย ในส่วนของค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกลได้กว่าวันละ 3 ล้านบาท

“กรุงเทพมหานครขอยืนยันว่า ได้ดำเนินการทุกอย่างด้วยความรอบคอบ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และยึดถือประโยชน์ของกรุงเทพมหานครเป็นสำคัญ”