เปิดใจ “กรวัฒน์ เจียรวนนท์” ปั้น Amity สู่เทคคอมปะนีโลก

กรวัฒน์ เจียรวนนท์-Amity
สัมภาษณ์

8-9 ปีก่อน “กรวัฒน์ เจียรวนนท์” ตัดสินใจดร็อปเรียนในมหาวิทยาลัยดังที่อเมริกา เมื่อค้นพบเส้นทางสายสตาร์ตอัพที่ท้าทายกว่า เขาและเพื่อนก่อตั้งบริษัทสตาร์ตอัพชื่อ Eko (เอโค่) พัฒนาแอปพลิเคชั่นแชตสำหรับองค์กรธุรกิจ

แม้จะมั่นใจในสิ่งที่เลือก แต่อุปสรรคปัญหาที่ต้องเผชิญใน 2-3 ปีแรกทำให้เขาและทีมเริ่มไม่แน่ใจในแนวทางธุรกิจที่วางไว้ จนเกือบยกผ้ายอมแพ้ไปแล้ว

มีวันนี้เพราะไม่ยอมแพ้

“ตอนนั้นคิดว่าทำมา 2 ปียังไม่มีอะไรขึ้นมา จะแปลว่าเราทำไม่ได้หรือเปล่า คิดจะเปลี่ยนธุรกิจ คิดจะยอมแพ้แล้ว แต่คุณพ่อ (ศุภชัย เจียรวนนท์) บอกว่ามันไม่เหมือนในหนังหรอกนะ คุณห้ามยอมแพ้ บางคนต้องใช้เวลาถึง 20 ปี”

จากจุดนั้นทำให้เขาเดินหน้าต่อ และปรับโหมดการทำงานใหม่มาโฟกัสโปรเจ็กต์ที่จะมีรายได้มากกว่าสร้างการเติบโต ลดต้นทุนทุกอย่าง คิดถึงการเอาตัวให้รอด และทำอย่างไรที่จะอยู่ได้อย่างยั่งยืน

“พอผ่านได้แล้วก็ได้เลย และไม่เคยสงสัยในไดเร็กชั่นที่วางไว้อีกเลย คิดแต่จะเดินหน้าอย่างเดียว”

จนสามารถขยับขยายธุรกิจไปในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งในอเมริกา ยุโรป และเอเชีย

กระทั่ง 2 ปีก่อน “Eko” เปลี่ยนชื่อเป็น Amity (แอมิตี) หลังเข้าไปซื้อกิจการ Convolab บริษัทสตาร์ตอัพสัญชาติไทย เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาโซลูชั่น “แชตบอต” โดยเป็นการเข้าไปลงทุนในหุ้นและเงินสดผสมผสานกัน

ขณะเดียวกัน ในกลางปี 2565 ที่ผ่านมา Amity ยังเป็นบริษัทเทคโนโลยีไทยเพียงหนึ่งเดียวที่ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ใน 150 อันดับแรกจาก 1,000 บริษัท ในสาขาบริษัทที่เติบโตเร็วที่สุดในยุโรปของ Finance Times

สำหรับ “กรวัฒน์” เองยังเคยติดอยู่ในท็อป 30 ดาวรุ่งแห่งเอเชียมาแล้ว

ดัน “แอมิตี โซลูชันส์” IPOปี’67

ก่อนหน้านี้ “แอมิตี” ได้นำ Amity Social Cloud ชุดซอฟต์แวร์สำเร็จรูปสำหรับโซเชียลฟีเจอร์ (software development Kit:SDK) เข้าไปวางขายใน AWS Marketplace (Amazon Web Servoces) เพื่อขยายตลาดทั่วโลก โดยให้บริการผ่านระบบคลาวด์ หรือที่เรียกว่า SaaS (software-as-a-service) คิดค่าบริการเป็นรายเดือน/รายปี (subscription model) ทำให้สร้างฐานลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว ทั้งในอเมริกาและยุโรป

สำหรับในประเทศไทย Amity ประกาศแยกหน่วยธุรกิจออกมาตั้งบริษัท “แอมิตี โซลูชันส์” (Amity Solutions) ต่างหาก พร้อมประกาศแผนเสนอขายหุ้นครั้งแรกกับสาธารณชน (IPO) ภายในไตรมาส 3/2567 เพื่อนำไปใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ AI บนเทคโนโลยี GPT

“กรวัฒน์ เจียรวนนท์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง Amity กล่าวว่า การตั้งบริษัท Amity Solutions ก็เพื่อแบ่งแยกธุรกิจที่เป็น “software development Kit (SDK) และ application program interface (API)” ที่เติบโตสูง และเน้นขายตลาดโลก กับธุรกิจที่เน้นตลาดไทยออกจากกัน มีเป้าหมายเพื่อก้าวไปสู่การเป็นผู้ให้บริการโซลูชั่น AI ที่ขับเคลื่อนด้วย GPT ชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“เราเชื่อว่าเทคโนโลยี GPT จะเป็น next wave ของความสามารถด้านการประมวลผลที่จะพลิกโฉมอุตสาหกรรมในหลาย ๆ อุตสาหกรรม และเปลี่ยนการทำงานของคน จึงต้องเร่งลงทุนขยายทีมงาน สร้าง AI GPT อาร์แอนด์ดีแพลตฟอร์ม เพื่อที่จะพัฒนาบริการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในแต่ละอุตสาหกรรมได้ดียิ่งขึ้น”

Amity Solutions ประกอบด้วย “เอโค่” (Eko) ผลิตภัณฑ์ระบบอัตโนมัติที่เน้นการสร้างการมีส่วนร่วมในองค์กร, “แอมิตีบอตส์” (Amity Bots) ปัจจุบันมีฐานผู้ใช้งานกว่า 20 ล้านคนต่อเดือน จากกว่า 50 บริษัท ทั้งภาครัฐ และเอกชน

“ในไทยเรามีฐานลูกค้าที่ใหญ่ และทำกำไรได้แล้ว การแยก Amity Solutions ออกมาก็เพื่อให้โฟกัสตลาดในไทยและเอเชียได้ดีขึ้น ทั้งยังฟิตกับการไอพีโอมากกว่าที่จะระดมทุนกับวีซีด้วย เพราะในตลาดไทยและภูมิภาคนี้ ก็มีธุรกิจ SI และ digital consulting ระดมทุนแล้วค่อนข้างประสบความสำเร็จ เราเองก็อยากจะเป็นอย่างนั้น และก่อน IPO เรายังจะมีดีล M&A กับบริษัทด้าน AI automation ด้วย”

ไม่ทิ้งฝันดันเข้า “แนสแดค”

ในต่างประเทศจะบุกตลาดด้วย Amity Social Cloud หรือ ASC โดยยังคงมีเป้าหมายที่จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แนสแดค ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า โดยวางตัวเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยขับเคลื่อนชุมชนดิจิทัล และโซเชียลฟีเจอร์ในแอปที่ plug-in กับแอปพลิเคชั่น หรือเว็บไซต์ใดก็ได้

Amity เป็นหนึ่งในบริษัทแรก ๆ ของไทยที่สร้างฐานลูกค้าในอเมริกาและยุโรปได้ โดยปีที่ผ่านมาเติบโตสูงถึง 1,200% ถือเป็นผู้นำในตลาด SaaS ด้านโซเชียลฟีเจอร์ จากการเป็น first mover ในเซ็กเมนต์นี้

“สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการทำธุรกิจด้วยตนเอง คือไม่ว่ายังไงก็ต้องเอาตัวรอดให้ได้ ที่ผ่านมากว่าจะหาสิ่งที่ตอบโจทย์ตลาดได้ กว่าที่จะเติบโตเร็วอย่างนี้ ก็ใช้เวลา 8-9 ปี โปรดักต์ที่ทำออกมาแล้วไปไม่ได้ก็มาก กว่าที่จะเข้าถึงลูกค้าแต่ละประเทศได้ก็เป็นเรื่องยากและใช้เวลา”

ปัจจุบันบริษัทมีสำนักงานขายและการตลาดอยู่ในลอนดอนและมิลาน มีลูกค้าเป็นแบรนด์ชั้นนำทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรปจำนวนมากที่มีมูลค่าธุรกิจหลายพันล้านดอลลาร์ และมีผู้ใช้ต่อเดือน (monthly active users : MAUs) เพิ่มขึ้นจาก 30,000 ราย เมื่อต้นปี 2565 เป็นกว่า 1.1 ล้านรายในเดือน ก.พ. 2566 ทำให้ Amity Solutions สามารถต่อยอดธุรกิจบนเครือข่ายลูกค้าต่างประเทศของ Amity ได้ด้วย

ทั้งยังเพิ่งเปิดตัว Amity Bot Plus ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี GPT-3 เมื่อไม่นานนี้ ซึ่งถือเป็นอีกก้าวสำคัญบนความมุ่งมั่นที่จะเป็นหนึ่งในบริษัทเทคที่มีนวัตกรรมล้ำสมัยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

“กรวัฒน์” ทิ้งท้ายว่า ตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงวันนี้ Amity ระดมทุนมาแล้วมากกว่า 1 พันล้านบาท มีพนักงานกว่า 250 คน จากกว่า 30 ชาติ เทียบกับจุดเริ่มต้นเมื่อ 8-9 ปีที่แล้ว นับได้ว่าธุรกิจเติบโตขึ้นมากแล้ว

แต่สำหรับ “เขา” ยังไม่อาจพูดได้ว่าประสบความสำเร็จ เพราะมีอีกหลายสิ่งที่ยังต้องเรียนรู้ และยังมีหนทางอีกยาวไกลกับเป้าหมายในการก้าวไปสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยีสัญชาติไทยในระดับโลก โดยเฉพาะการไต่บันไดสู่การเป็นสตาร์ตอัพสัญชาติไทยระดับ “ยูนิคอร์น”