วัยรุ่น Gen Z ยุคดิจิทัลนิยมทำอะไรกัน ?

วัยรุ่น Gen Z ยุคดิจิทัลนิยมทำอะไรกัน ?
Photo : pexels.com

ชวนสำรวจ 7 พฤติกรรมชาว “Gen Z” ยุคดิจิทัล หัวหอกขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่แบรนด์ต่าง ๆ หมายปอง

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่าปัจจุบันวัยรุ่น “เจนซี” (Gen Z) หรือคนที่เกิดในปี พ.ศ. 2539-2554 เป็นวัยที่หลั่งไหลเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นหัวหอกสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในหลาย ๆ ประเทศ ทำให้ภาคธุรกิจในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เริ่มหันมาจับชาวเจนซีเป็นฐานลูกค้ารายสำคัญของแบรนด์มากขึ้น

ความน่าสนใจของชาว Gen Z ในยุคดิจิทัลคืออะไร และพฤติกรรมออนไลน์ของชาว Gen Z ในปี 2567 จะมีแนวโน้มอย่างไรบ้าง ? “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลจากอีบุ๊กเจาะเทรนด์โลก 2024 (Trend 2024 : REMADE ANEW) ที่จัดทำโดย TCDC ดังนี้

1.จากชีวิต “ดิจิทัล” สู่ชีวิต “แอนะล็อก”

Gen Z คือรุ่นที่เติบโตเป็นวัยรุ่นและก้าวสู่วัยผู้ใหญ่ด้วยแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เมื่อมาถึงวัยที่บรรลุนิติภาวะ จึงตระหนักถึงผลกระทบของสื่อดิจิทัลและเข้าใจการใช้ชีวิตที่แขวนไว้บนโลกออนไลน์ว่า อาจเป็นภัยต่อการถูกบูลลี่หรือโจมตีโดยผู้ที่มีทัศนคติทางสังคมและการเมืองที่ต่างกัน

สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบทางจิตใจมากกว่าที่คาดคิด จึงเกิดพฤติกรรมต่อต้านสื่อดิจิทัลและหันไปให้ความสนใจกับสื่อหรือกิจกรรมแอนะล็อกมากขึ้น โดยเริ่มต้นจากการเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ การใส่เสื้อผ้าแนว Y2K การเลือกใช้โทรศัพท์ที่มีฝาพับ และเลือกแก็ดเจ็ตหูฟังที่ให้ความรู้สึกถึงการหวนคืนสู่อดีต รวมถึงใช้สื่อภาพ เสียง และกิจกรรมเวิร์กช็อป เพื่อสร้างบรรยากาศที่ให้ความผ่อนคลาย ลดความทันสมัย พร้อมดื่มด่ำกับจังหวะของการใช้ชีวิต

2.ช็อปปิ้ง “ออนไซต์” มากกว่า “ออนไลน์”

แม้ Gen Z จะเชี่ยวชาญการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ แต่ในด้านของการจับจ่ายใช้สอย กลับเป็นกลุ่มที่ชื่นชอบการ ช็อปปิ้งตามช็อปต่าง ๆ มากกว่าซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะการเลือกซื้อสินค้ามือสองหรือสินค้าร้านพ็อปอัพที่ไม่ได้มีหน้าร้านถาวร

ทั้งนี้ ประสบการณ์ที่ได้จับสินค้าจริงในช่วงระยะเวลาที่กำหนด บวกกับการโฆษณาผ่านครีเอเตอร์ที่ตอบโจทย์ตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) จะทำให้สินค้ามีคุณค่า และสามารถเข้าถึง Gen Z ได้มากขึ้น

3.สร้างตัวตนในวัฒนธรรมตลาดย่อย

Gen Z ให้ความสำคัญกับสังคมกลุ่มเล็ก ทั้งยังพยายามสร้างตัวตนอยู่ในวัฒนธรรมตลาดย่อย เพื่อแสดงตัวตนผ่านสิ่งที่ชื่นชอบออกมาได้อย่างชัดเจน ซึ่งสะท้อนผ่านคำสแลงเฉพาะกลุ่มที่ว่า “IYKYK” (If you know, you know.) หรือ “เมื่อคุณรู้ว่าคุณรู้”

ทั้งนี้ คำดังกล่าวจะกลายเป็นโอกาสการสร้างฐานตลาดเฉพาะกลุ่มจากสื่อสังคมออนไลน์ที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของคนที่มีทัศนคติเดียวกัน หรือเกิดขึ้นจากวัฒนธรรมย่อยที่ขยายตัวเป็นอีเวนต์หรือสร้างสรรค์เป็นสินค้าเฉพาะกลุ่ม

4.ชื่นชอบสินค้าที่มีความเฉพาะตัว

สำหรับการเลือกใช้สินค้ารักษ์โลก Gen Z จำนวน 62% กล่าวว่าจำเป็นต้องเป็นแบรนด์ที่ไม่โด่งดังจนเกิดเป็นสินค้าในตลาดมวลชน (Mass Market) หรือการเลือกซื้อสินค้าแฟชั่นก็ไม่จำเป็นต้องมีราคาสูง หากเลือกสินค้าที่มีราคาสูง ก็ต้องเป็นสินค้าที่แตกต่างจากคนหมู่มาก บอกความเป็น ตัวตนได้ และไม่สามารถหาซื้อได้ง่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์

5.IOT = Internet of Trends

สำหรับ Gen Z คำว่า IOT ไม่ได้หมายถึง Internet of Things ที่เป็นความหมายของคำดังกล่าว แต่หมายถึง “Internet of Trends” ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบน TikTok ที่ส่งผลต่อการตลาดบนชีวิตจริงในช่วงเวลาที่ผ่านมา ไม่ว่าเป็นอาหาร ขนม เครื่องดื่ม หรือแม้แต่ไลฟ์สไตล์การทำกิจกรรม หรือการรวมกลุ่มถ่ายรูปตามสถานที่ต่าง ๆ ที่ยังคงปรากฏให้เห็นในทุกวันนี้

6.การทำงานต้องมาพร้อมกับความยืดหยุ่น

ผลการสำรวจจากไมโครซอฟท์ (Microsoft) ระบุว่าพนักงาน Gen Z ชื่นชอบการโพสต์เรื่องราวชีวิตการทำงานลงบนสื่อโซเชียลและมองหางานที่ถูกระบุเงื่อนไขบน Linkedin ว่า “Flexibility” (ยืดหยุ่น) มากที่สุดถึง 77% ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจของ talentLMS ที่ชี้ว่าแรงงาน Gen Z ชอบการทำงานแบบยืดหยุ่นมากถึง 88% โดยส่วนใหญ่ตอบรับการทำงานแบบไฮบริด (Hybrid Work) หรือการทำงานแบบผสมผสาน วางแผนการเข้างานที่บริษัทและการทำงานทางไกลอย่างสมดุล

ปัจจัยถัดมาที่จะช่วยดึงพนักงานให้อยู่กับองค์กรนานที่สุด คือ “การมีสุขภาวะจิตที่ดี” (Mental Health) ซึ่งเริ่มจากการเข้าสังคมแบบพบปะเจอหน้า สร้างระบบความเท่าเทียม และลดอคติระหว่างพนักงานต่างระดับ ต่างเพศ ต่างศาสนา ต่างขั้วทางการเมือง หรือต่างสถาบันที่จบการศึกษามา

7.เปิดกว้างด้านความหลากหลายทางเพศ

Gen Z เป็นกลุ่มที่ขึ้นชื่อเรื่องการเปิดกว้างด้านความหลากหลายทางเพศ และยินดีใช้แอปพลิเคชั่นที่เสริมสร้างความรู้ อีกทั้ง Gen Z ยังยินดีที่จะทดลองสานสัมพันธ์กับเพศที่หลากหลาย เพื่อเรียนรู้ด้านความรัก ทดลองเดต และค้นหาตัวตน