Rapid Antigen test (ชุดตรวจโควิด-19 แบบเร่งด่วน) คืออะไร ?

หมายเหตุ : ไม่ใช่ภาพเหตุการณ์ในประเทศไทย เครดิต : REUTERS/Stephane Mahe

ทำความรู้จัก Rapid Antigen test หรือ ชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบเร่งด่วน 

วันที่ 8 กรกฎาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ยกระดับถึงขั้นวิกฤต ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 7,000 ราย อีกทั้งยังมีความกังวลเรื่องการกลายพันธุ์ของไวรัสสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) ที่แพร่ระบาดได้เร็วกว่าเดิม ส่งผลให้ประเทศไทยเข้าสู่การระบาดระลอก 4 แล้ว

ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงเสนอ 5 มาตรการต่อ ศบค. เพื่อควบคุมการระบาด หนึ่งในนั้นคือการนำ Rapid Antigen test หรือ ชุดตรวจโควิดแบบเร่งด่วน เข้าใช้งานตามสถานพยาบาลต่าง ๆ ก่อนให้ประชาชนนำไปใช้ในระยะต่อไป ตามที่ได้รายงานไปแล้วนั้น

สำหรับใคร ที่สงสัยว่า Rapid Antigen test นั้น ทำงานอย่างไร ? และเป็นอันตรายหรือไม่ ? “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลและคำแนะนำจาก สำนักงานกรรมการอาหารและยา (อย.) รวมถึงเฟซบุ๊ก หมอแล็บแพนด้า มาฝากกัน

Rapid Antigen Test คืออะไร ?

  • Rapid Antigen Test คือ ชุดทดสอบอย่างง่าย และรวดเร็ว เป็นการตรวจคัดกรองเบื้องต้นเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสและภูมิคุ้มกัน ก่อนเข้ากระบวนการตรวจชนิดยืนยันผลจากห้องปฏิบัติการ
  • ใช้งานง่าย ทราบผลภายใน 10 – 30 นาที
  • เหมาะสำหรับการประเมินความชุกและการติดเชื้อ
  • ค่าผลตรวจเป็นบวก ใช่ว่าจะแปลว่าป่วย และค่าผลตรวจเป็นลบไม่ได้แปลว่าไม่ติดเชื้อ การตรวจเชื้อไวรัส (Antigen) ต้องรับเชื้อมาแล้ว 5 – 14 วัน ถึงจะตรวจได้ผลที่แม่นยำ ส่วนการตรวจภูมิคุ้มกัน (Antibody) จะตรวจพบภูมิคุ้มกันต่อเชื้อในวันที่ 10 เป็นต้นไป จนกระทั่งหายป่วยแล้ว (หากตรวจนอกเหนือจากเวลาดังกล่าวอาจให้ผลที่ไม่แม่นยำ)
  • ชุดตรวจ Rapid Test COVID-19 ต้องผ่านการรับรองจาก อย. โดยให้ขายได้เฉพาะ
    – สถานพยาบาลของรัฐ
    – โรงพยาบาลทั่วไป
    – โรงพยาบาลเฉพาะทางคลินิกเวชกรรม
    – คลินิกเฉพาะทางด้านเวชกรรม
    – คลินิกเทคนิคการแพทย์ หรือสหคลินิก

Rapid Antigen test

 

หมอแล็บเตือนห้ามซื้อมาใช้เอง

ย้อนไปเมื่อวันที่ 4 มกราคม ที่ผ่านมา เฟซบุ๊ก หมอแล็บแพนด้า เตือนว่าไม่ควรซื้อ Rapid Antigen Test นี้ มาตรวจด้วยตนเอง ดังนี้

วันก่อนเห็นป้าสมรข้างบ้าน แกซื้อชุดตรวจโควิดแบบรวดเร็วมาใช้ แกบอกว่าซื้อจากออนไลน์มา ชื่อราปิดเทสต์ (Rapid test) ใช้เลือดแค่ 1-2 หยด 10-15 นาที รู้ผลโควิดทันที แถมมีราคาถูกกว่าวิธีมาตรฐาน(RT-PCR) ผมรู้ว่าป้าแกกังวล ก็เลยซื้อมาตรวจเอง ผมก็เลยจับเข่าเล่าให้ป้าฟังว่า

1. ชุดตรวจโควิดพวกนี้ไม่ควรซื้อมาตรวจเอง เพราะ อย.อนุญาตให้ใช้ได้ในสถานพยาบาล หรือคลินิกเทคนิคการแพทย์เท่านั้น ป้าอย่าฝากไอ้จุ่นซื้อมาเจาะตรวจเองอีกนะครับ

2. ชุดตรวจพวกนี้ผลการตรวจไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ มีผลบวกปลอมหรือผลลบปลอมได้ ยกตัวอย่างเช่น บางคนติดเชื้อโควิดแต่ดันตรวจออกมาแล้วไม่เป็นโรคก็มี พอคิดว่าตัวเองปลอดภัยก็อาจทำตัวชิล ๆ ตามปกติ เดินซื้อของตามห้าง เอาเชื้อไปติดคนอื่นต่อได้

หรือบางคนเป็นคนปกตินี่แหละ ไม่มีเชื้อโควิดในร่างกาย แต่ชุดตรวจพวกนี้มันเออเร่อ มันผิดพลาดได้ปกติ อาจจะขึ้นขีดโชว์ว่าเป็นโรคก็ได้ ตะนี้พากันแห่ไปโรงพยาบาลมั่วไปหมด ทำให้เสี่ยงติดโรคกันไปใหญ่

3. ต่อให้กรมวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ประกาศว่า ชุดตรวจนี้ผ่านการประเมินแล้ว ก็ไม่ใช่หมายความว่าเจ๊ติ๋มที่ขายของอยู่ตลาดวัดยายร่ม จะหาซื้อมาเจาะเลือดเองหรือแปลผลเองได้ อนุญาตให้ใช้ในสถานพยาบาลเท่านั้น

4. การแปลผลซับซ้อนมากครับ ต้องใช้หลังมีอาการมาแล้ว 5-7 วัน หรือได้รับเชื้อมาแล้ว 10-14 วัน ถ้าตรวจในช่วงนอกเหนือจากนั้นอาจทำให้ผลตรวจไม่แม่นยำได้

5. ชุดทดสอบแบบรวดเร็ว หมายถึงใช้เวลารวดเร็วในการทดสอบในห้องแล็บ 10-15 นาที แต่ไม่ได้แปลว่าตรวจได้เร็วหลังจากรับเชื้อเข้าร่างกาย ต้องรอเวลาให้ร่างกายสร้างแอนติบอดี้ซะก่อน ถ้าไปตรวจในเวลาที่ไม่ถูกต้อง ตรวจให้ตายก็ไม่เจอ

6. ถึงป้าจะบอกว่า เอ๊าาาา ! ก็เขาขายชุดตรวจโควิดกันอย่างโจ๋งครึ่มในโลกออนไลน์นี่หว่า ขายตัดราคากันยังก๊ะขายเสื้อผ้า ทำไมป้าจะซื้อไม่ได้ คือออ ป้าครับ หน่วยงานที่รับผิดชอบในการห้ามขาย เขาอาจจะยุ่ง ๆ อยู่ เดี๋ยวหายยุ่งเขาคงไล่ดำเนินคดีมั้งครับ ใช่มั้ย ? เพราะการจำหน่ายหรือครอบครองชุดตรวจโควิด-19 ด้วยวิธี Rapid Test โดยไม่ใช่สถานพยาบาลเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

7. ชุดตรวจ Rapid Test ไม่สามารถยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 ได้ ต้องยืนยันผลด้วยวิธีมาตรฐานอยู่ดี และไม่ใช่วิธีหลักในการวินิจฉัยโรคโควิดนะครับป้า และแพทย์อาจใช้ในบางกรณีเท่านั้น

8.การเจาะเลือดตนเองที่บ้าน ถ้าทำด้วยเทคนิคไม่ดี อาจทำให้ติดเชื้อได้

ฝากบอกคนอื่นด้วยนะครับป้า อย่าซื้อมาตรวจเองล่ะ