หวั่นระยอง-ชลบุรี วิกฤตขาดน้ำ แผนผันน้ำอ่างประแสร์สะดุด

ปัญหาท่อส่งน้ำ 3 เส้า “อีสท์วอเตอร์-กรมธนารักษ์-วงษ์สยามก่อสร้าง” พ่นพิษ หวั่นแผนการผันน้ำสู้เอลนีโญ จากอ่างประแสร์มายังอ่างเก็บน้ำในจังหวัดชลบุรีสะดุด น้ำมาไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ ด้านผู้ว่าฯชลบุรีหันใช้ท่อของการประปาช่วยแทน ขณะที่หอการค้าระยองหวั่นทั้งจังหวัดเหลือน้ำใช้การได้แค่ 2 เดือน

นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ในฐานะประธานคณะกรรมการลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ทางคณะกรรมการลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออกได้มีการประชุมกันเรื่องการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก เนื่องจากฝนที่ตกลงมาปริมาณยังน้อย ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ อยู่ในระดับต่ำ

แม้ตอนนี้จะยังไม่ถึงขั้นวิกฤต แต่ในอีก 2 เดือนข้างหน้า ถ้าฝนทิ้งช่วงในจังหวัดระยอง จันทบุรี ตราด ชลบุรี จะเกิดวิกฤตขาดน้ำแน่ ดังนั้นได้เตรียมวางแผนการสูบน้ำที่จะเริ่มในเดือนสิงหาคม 2566 โดยจะสูบน้ำจากบางปะกงและคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิตขึ้นมาใช้

ขณะเดียวกันได้เตรียมแผนการ “ผันน้ำ” ในเส้นอ่างเก็บน้ำประแสร์ ซึ่งมีปริมาณน้ำอยู่มาก ซึ่งตามปกติจะผันน้ำส่งผ่านมายังอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และส่งน้ำต่อมาช่วยเติมให้อ่างเก็บน้ำหนองค้อ จ.ชลบุรี แต่ตอนนี้มีปัญหาเรื่องการใช้ท่อส่งน้ำ

แต่ทางภาครัฐและเอกชนได้มีการคุยกันกับกลุ่มผู้ใช้น้ำ 4 จังหวัด ซึ่งก็ได้มีแนวทางการแก้ไขปัญหาไว้แล้ว โดยใช้ท่อส่งน้ำเดิมของการประปา และมั่นใจว่า ปัญหาต่าง ๆ จะไม่ส่งผลกระทบต่อลุ่มน้ำภาคตะวันออก ทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคท่องเที่ยว ผู้ประกอบการไม่ต้องกังวล ซึ่งการประปาก็มั่นใจว่าจะสามารถส่งน้ำให้ประชาชนได้ใช้อย่างเพียงพอ

ส่วนวิธีการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นก็คือ จะลดการใช้น้ำในอ่างบางพระ และหันไปใช้น้ำแถวอ่างบ้านบึง กับอ่างพานทองแทน โดยน้ำในอ่างบางพระจะนำไปช่วยในอ่างหนองค้อ-อ่างหนองปลาไหลได้ถ้าหากเกิดวิกฤต ในขณะที่ลุ่มน้ำทางใต้ระหว่างจังหวัดระยองกับจันทบุรี

ถ้าจะให้ผันน้ำมาช่วยฝั่งชลบุรีต้องมีการประชุมเกษตรกรผู้ใช้น้ำก่อน แต่ตอนนี้น้ำแถวจันทบุรีก็ยังไม่เพียงพอ ส่วนแผนการผันน้ำจะเริ่มเดือนสิงหาคม 2566 โดยดึงน้ำจากบางปะกงมาที่อ่างเก็บน้ำบางพระ แต่ตอนนี้น้ำเค็มยังหนุนอยู่

เตรียมรับมือ “สถานการณ์เอลนีโญ”

นายบุญยืน เลาหวิทยะรัตน์ เลขาธิการ หอการค้าจังหวัดระยองและผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้เป็นช่วงฤดูฝน ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกได้วางแผนเตรียมรับมือกับ “สถานการณ์เอลนีโญ” หรือฝนน้อย น้ำน้อย ที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปถึงในฤดูแล้งหน้า

ด้วยการผันน้ำในอ่างเก็บน้ำหลักไปยังอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยในพื้นที่ จ.ระยองและ จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีปริมาณน้ำที่เพียงพอไว้ใช้อุปโภคและบริโภค

แต่ในทางปฏิบัติการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกไม่เป็นเอกภาพ เพราะตอนนี้ไม่สามารถดำเนินการผันน้ำได้ตามแผนที่วางไว้ “เนื่องจากบริษัทเอกชน 2 รายที่เป็นผู้ให้บริการน้ำมีปัญหากัน” ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของหน่วยราชการต้องเข้ามากำกับดูแล ทำอย่างไรให้มีการผันน้ำ ถ่ายโอนน้ำจากช่วงหน้าฝนไปเติมแหล่งน้ำที่ฝนตกไม่ลงอ่าง และส่งต่อน้ำไปยัง จ.ชลบุรีให้ได้

เพราะเท่าที่คำนวณน้ำจากอ่างเก็บน้ำบางพระและอ่างหนองค้อใน จ.ชลบุรี หากไม่มีการผันน้ำจากอ่างประแสร์ใน จ.ระยองไปช่วยจะมีปัญหาหนัก เท่ากับว่า ตอนนี้ทั้งจังหวัดระยองและชลบุรี กำลังจะวิกฤตมีน้ำใช้ได้ประมาณ 45-46% หรือใช้ได้ประมาณ 2 เดือนเท่านั้น

“ปีนี้เราอาจจะพ้นวิกฤตเอลนีโญไปได้ เพราะน้ำในอ่างภาคตะวันออกเฉลี่ยเหลือ 45-46% แต่พอมีเอลนีโญเข้ามา ตอนนี้เข้าหน้าฝนมาเกือบ 2 เดือนแล้ว ฝนยังตกน้อยมาก ถ้าไม่มีน้ำในอ่างก็จะกระทบต่อนิคมอุตสาหกรรมทั้งในระยองและชลบุรี

เพราะปัจจุบันชลบุรีก็ไม่สามารถดูดน้ำจากคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิตและแม่น้ำบางปะกงได้ เพราะน้ำเค็มหนุนและไม่มีฝนมาไล่ และแม่น้ำเจ้าพระยาก็ไม่มีน้ำพอที่จะผันมาให้กับทางนี้” นายบุญยืนกล่าว

อย่างไรก็ตาม ปัญหาในช่วงรอยต่อของโครงการบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ระหว่างบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์ วอเตอร์ ผู้บริหารท่อส่งน้ำรายเดิม กรมธนารักษ์ และบริษัทวงษ์สยามก่อสร้าง ผู้ชนะการประมูลรายใหม่

ที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของผู้ใช้น้ำในภาคตะวันออก นักลงทุนที่เข้ามาตั้งโรงงานใน EEC จนเกิดคำถามหลายอย่าง อาทิ การขอใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทานอย่างถูกต้อง ไปจนถึงการจัดสรร “โควตาน้ำดิบ” ของกรมชลประทาน ซึ่งยังไม่ได้รับการแก้ไขจนกระทั่งถึงขณะนี้

ด้านแหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปกติจังหวัดระยองจะมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่-เล็ก รวม 5 อ่าง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำดอกกราย มีความจุอ่าง 71.400 ล้าน ลบ.ม. ตอนนี้เหลือน้ำอยู่ 26.635 ล้าน ลบ.ม., คลองระโอก มีความจุอ่าง 19.650 ล้าน ลบ.ม. เหลือน้ำอยู่ 4.216 ล้าน ลบ.ม., คลองใหญ่ มีความจุอ่าง 40.100 ล้าน ลบ.ม. เหลือน้ำอยู่ 15.806 ล้าน ลบ.ม. อ่างหนองปลาไหล มีความจุอ่าง 160 ล้าน ลบ.ม. และอ่างประแสร์ 300 ล้าน ลบ.ม. รวมความจุอ่าง 591.15 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)

หวั่นบริหารจัดการไม่ดี น้ำไม่เพียงพอ

ขณะที่ปริมาณการใช้น้ำในจังหวัดระยองประมาณ 1.3-1.5 ล้านคิวต่อวัน หรือเท่ากับต้องใช้น้ำปีละ 550 ล้าน “หากบริหารจัดการน้ำไม่ดี น้ำจะไม่เพียงพอต่อการใช้งานทั้งจังหวัด โดยตอนนี้ระดับน้ำใน 5 อ่างหลักของจังหวัดระยอง จาก 591.15 ล้าน ลบ.ม.เหลืออยู่ 120 ล้าน ลบ.ม. แต่ใช้การจริงได้เพียง 100 ล้าน ลบ.ม. เท่ากับปริมาณน้ำต่อวันที่ใช้ในจังหวัดระยองจะมีน้ำใช้ได้อีกเพียง 66 วัน หรือประมาณ 2 เดือนเท่านั้น” แหล่งข่าวกล่าว

ขณะที่อ่างเก็บน้ำใน จ.ชลบุรี ซึ่งมี 5 อ่าง โดยมีอ่างเก็บน้ำบางพระ เป็นอ่างหลัก ความจุอ่าง 117 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำหนองค้อ มีความจุอ่าง 21 ล้าน ลบ.ม. รวมความจุ 2 อ่างได้ 138 ล้าน ลบ.ม. แต่ตอนนี้อ่างบางพระมีน้ำเหลืออยู่ 50 ล้าน ลบ.ม. และอ่างหนองค้อมีน้ำเหลืออยู่ 13 ล้าน ลบ.ม.

รวม 2 อ่างเท่ากับมีน้ำเหลืออยู่ 63 ล้าน ลบ.ม. และจะมีน้ำที่ใช้การได้ของทั้ง 2 อ่างเพียง 50 ล้าน ลบ.ม. “ซึ่งน้อยมาก ๆ” ขณะที่ปริมาณการใช้น้ำในจังหวัดชลบุรีวันละ 600,000-700,000 ลบ.ม. น้อยกว่าระยอง เท่ากับว่า จ.ชลบุรีจะมีน้ำใช้การได้เพียง 66 วัน หรือประมาณ 2 เดือนเท่ากับระยอง

“ปกติจะมีการวางแผนผันน้ำจากคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิตประมาณ 60 ล้าน ลบ.ม. แล้วผันจากบางปะกงอีก 20 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งน้ำที่ผันมาจะทำให้อ่างเก็บน้ำบางพระอยู่รอด แต่ปัญหาตอนนี้น้ำเค็มหนุน ผันน้ำจากคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต-บางปะกงไม่ได้ ดังนั้น จ.ชลบุรีต้องพึ่งพาน้ำจากจังหวัดระยอง แต่ระยองเองก็กำลังจะเอาตัวไม่รอด ถ้าหากต้องส่งน้ำไปจังหวัดชลบุรี

แต่ในปี 2563 ที่เกิดวิกฤตน้ำได้มีการผันน้ำจากคลองวังโตนด จ.จันทบุรี ซึ่งมีน้ำมากมาช่วย โดยดูดน้ำจาก จ.จันทบุรีมายังอ่างประแสร์ จ.ระยอง และจะผันน้ำจากอ่างประแสร์ มาอ่างคลองใหญ่และอ่างหนองปลาไหล จ.ระยอง จากนั้นจะผันน้ำจากอ่างหนองปลาไหล มาที่อ่างหนองค้อ จ.ชลบุรีได้ และจากหนองค้อจะส่งน้ำมาอ่างบางพระต่อ” แหล่งข่าวกล่าว

แต่ปัญหาตอนนี้คือ การสูบผันน้ำที่เกิดขึ้นจากอ่างประแสร์ผันน้ำมาคลองใหญ่ ได้ไม่ถึงวันละ 600,000 ลบ.ม.อย่างที่เคยทำในอดีต เนื่องจากอยู่ในช่วงรอยต่อของผู้บริหารโครงการบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก จากที่เคยใช้ท่อส่งน้ำ 2 เส้นผันน้ำมาก็เหลือเพียงเส้นเดียว (อ่างประแสร์-อ่างหนองปลาไหล-หนองค้อ) และมีปริมาณน้ำที่ผันมาเฉพาะจ่ายให้กับลูกค้าของตัวเองเท่านั้น ขณะที่ในอ่างชลบุรีน้ำเริ่มลดลงทุกวันแล้ว

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า เรื่องการบริหารจัดการน้ำในภาวะนี้ เราต้องคุยกันกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดว่า 1) เราเอ็มโอยูไปให้ใครเท่าไร อย่างไร 2) สถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างไร 3) ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

“เรื่องนี้เป็นเรื่องระหว่างบุคคลภายนอกทั้งหมด ซึ่งในส่วนของกรมชลประทานเราปฏิบัติตามเงื่อนไขอยู่แล้ว ส่วนเรื่องที่เขาจะมีอะไรกัน เราจะไม่ก้าวล่วง”

ส่วนความกังวลเรื่องปัญหาการบริหารจัดน้ำจะมีปริมาณไม่เพียงพอและกระทบซ้ำจากเอลนีโญอีก นายประพิศ กล่าวว่า ถ้าในส่วนของกรมชลฯ เราได้เตรียมแผนรองรับรับไว้แล้วยืนยันได้ว่าในส่วนของอุปโภคบริโภคไม่ขาดน้ำแน่นอน ส่วนเรื่องการใช่ในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรมเราจัดลำดับความสำคัญเช่นกัน และได้มีการบริการจัดการอ่าวพวง เช่นจากประแสร์ไปหนองปลาไหล เราก็ได้มีการบริหารจัดการอยู่แล้ว

“เราสร้างสถานีสูบน้ำขึ้นมาแล้วเอาน้ำจากคลองสะพานมาเติม เช่นช่วงฝนตกเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเราสามารถสูบน้ำเข้ามาเติมได้ทันที ในเรื่องของการเตรียมน้ำเราไม่มีปัญหาส่วนในเรื่องของการส่งผ่านท่อเราไม่สามารถจะไปพูดแทนคนอื่นได้ เรามีหลักในการบริหารจัดการอยู่แล้วตามโควตาที่ได้รับไปในอดีต”