ตลาดเวนดิ้งไทยคึกคักหลังค้าปลีก-ท่องเที่ยวฟื้น ดันสถานที่ท่องเที่ยว-สวนสาธารณะทำเลทองใหม่ยุคหลังโควิด-19 ซันเวนดิ้งฯลุยต่อตู้ใหม่แทนมือสอง รับมือต้นทุนค่าไฟ-เสริมเทคโนใหม่ หวังชิงทำเลท่องเที่ยว ด้านสบายเทคฯเล็งเกาะกระแสเวนดิ้งบูมผนึกพันธมิตรรุกอาเซียน พร้อมผุดตู้ใหม่รับกระแสไลฟ์สด ส่วนฟาร์มเฮ้าส์พึ่งตู้เวนดิ้งเจาะคนรุ่นใหม่
นางสาวภัทรวดี โชติธรรมนาวี รองผู้อำนวยการ สายงานบัญชีและการเงิน บริษัท ซันเวนดิ้ง เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลาดตู้ขายสินค้าอัตโนมัติหรือเวนดิ้งแมชีนในปี 2566 นี้ เริ่มฟื้นตัวมาตั้งแต่ไตรมาส 1-2 โดยเฉพาะในทำเลค้าปลีกอย่างห้างสรรพสินค้า สถานศึกษาสถานีขนส่งประเภทต่าง ๆ ที่กลับมาคึกคัก หลังผู้คนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ สะท้อนจากยอดขายเพิ่มขึ้นตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา รวมถึงหลังจากนี้ยังมีการเปิดเดินรถไฟฟ้าเพิ่มอีกหลายสาย จึงเป็นโอกาสในการขยายจุดตั้ง-ขายตู้ให้ลูกค้าอีกด้วย
อีกปัจจัยบวก คือ ผู้ประกอบการค้าปลีกหันมาสนใจใช้ตู้เวนดิ้งเป็นช่องทางขายสินค้าของตนมากขึ้น เนื่องจากความยืดหยุ่นในการเจาะทำเลต่าง ๆ และไม่ต้องใช้พนักงาน อาทิ แมคยีนส์ที่มาเช่าตู้เพื่อนำเสื้อผ้าไปวางขายในร้านสะดวกซัก
ที่ท่องเที่ยวทำเลทองใหม่
นอกจากนี้ยังเกิดทำเลใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพเหมาะกับตู้เวนดิ้งขึ้นด้วย โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยว สวนสาธารณะ สวนสัตว์ ฯลฯ เนื่องจากในช่วงโควิดผู้ประกอบการร้านค้าในพื้นที่เหล่านี้ปิดตัวไปจำนวนมาก ขณะที่ภาครัฐ เช่น กทม. มีนโยบายจัดกิจกรรมในสวนสาธารณะมากขึ้น ทำให้ขาดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยว-ผู้ใช้บริการ เจ้าของพื้นที่เหล่านี้จึงหันมาใช้ตู้เวนดิ้งเพื่อให้บริการแทน เนื่องจากคุ้มค่าเช่าและขายได้ 24 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม วงการยังคงมีความท้าทายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งเป็นหนึ่งในทำเลหลักของวงการ ยังคงชะลอตัวตามสภาพการส่งออกที่ทำให้โรงงานต้องลดกะการทำงานลงและไม่มีโอที ส่งผลต่อเนื่องให้ดีมานด์การใช้งานตู้เวนดิ้งลดลงตามไปด้วย ขณะที่ต้นทุนเริ่มเพิ่มขึ้นประมาณ 10% ตามอัตราค่าไฟฟ้า ทำเล และการแข่งขัน
เช่นเดียวกับการแข่งขันที่ยังคงดุเดือด ปัจจุบันมีผู้เล่นหลัก 3 ราย คือ ซันเวนดิ้งฯ หรือเอสวีทีเป็นเบอร์ 1 ด้วยจำนวนตู้ประมาณ 1.6 หมื่นตู้ ตามด้วยอันดับ 2 และ 3 อย่างเซเว่นอีเลฟเว่น และสบายเทคโนโลยี ที่ต่างมีตู้ประมาณ 1 หมื่นตู้ใกล้เคียงกัน ปัจจัยแข่งขันหลักจะเป็นการบริการหลังการขาย ไลน์อัพสินค้าที่จะมีในตู้ และความรวดเร็ว-ยืดหยุ่นในการเติมสินค้า
“มั่นใจว่าตู้เวนดิ้งยังโตได้อีกมาก เนื่องจากหลายทำเลยังว่าง เช่น รถไฟฟ้าสายใหม่ ๆ สถานที่สาธารณะ ฯลฯ ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยหนุนอย่างผู้บริโภคที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยี และการจ่ายเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น รวมถึงแนวโน้มค่าแรงที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ผู้ประกอบการหันมาใช้งานตู้เวนดิ้งมากขึ้น”
หันต่อตู้ใหม่-อัดโปรฯแรง
นางสาวภัทรวดีกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม บริษัทจะรับมือความท้าทายด้านต้นทุนค่าไฟฟ้าด้วยการเปลี่ยนจากการซื้อตู้มือสองเป็นการสั่งผลิตตู้ใหม่ ซึ่งช่วยให้ได้ส่วนประกอบใหม่ ๆ ที่ประหยัดไฟมากขึ้น และเขียนซอฟต์แวร์ต่าง ๆ เองให้รองรับระบบชำระเงินต่าง ๆ ได้ รวมถึงเริ่มพัฒนาตู้รูปแบบใหม่ เช่น ตู้ขายสินค้าแช่แข็ง-ไอศกรีม เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ลูกค้าทั้งเช่าและขายขาดได้หลากหลายขึ้น พร้อมรับมือการแข่งขันด้วยการเจาะทำเลใหม่ ๆ ทั้งจังหวัดท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่ สวนสาธารณะอย่างสวนหลวง ร.9 สวนสัตว์ และอาคารที่อยู่อาศัย ด้วยจุดแข็งอย่างสินค้าสุขภาพ การบริการหลังการขายจากการมีโรงงานของตัวเอง และเครือข่ายการเติมสินค้า พร้อมเพิ่มความครอบคลุมของศูนย์กระจายสินค้า โดยขณะนี้กำลังเล็งทำเลในภาคใต้ หลังปีที่แล้วเปิดศูนย์เพิ่มในหลายจังหวัด อาทิ ขอนแก่น ชลบุรี และปทุมธานี
นอกจากนี้ยังกระตุ้นรายได้ทั้งการขาย-เช่าตู้ และการซื้อสินค้าผ่านตู้ด้วยโปรโมชั่นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผ่อน 0% นาน 3-10 เดือน โปรโมชั่นซื้อคู่ราคาพิเศษ แถมตู้เมื่อซื้อถึงยอด เพื่อให้ผู้ลงทุนตัดสินใจได้ง่าย รวมถึงจัดโปรโมชั่นสไตล์อัพเซลเข้มข้นขึ้น เช่น สะสมแต้มผ่านแอป ซันวีของบริษัทแลกคูปองส่วนลด ซึ่งเริ่มเมื่อปลายปี 2565 ปัจจุบันมีผู้ใช้ประมาณ 1 หมื่นคน แจกของพรีเมี่ยม
ทั้งนี้ยอดขายในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 อยู่ในระดับ 95% ของเป้าที่วางไว้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของทำเลโรงงานอุตสาหกรรม แต่ยังสามารถขยายตู้เพิ่มในทำเลอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง ในสัดส่วนโรงงาน 70% และทำเลอื่น 30% ตามที่วางเป้าไว้ สำหรับปีนี้ตั้งเป้าจำนวนตู้ไว้ที่ 2 หมื่นตู้ จากปีที่แล้วมีประมาณ 1 หมื่นตู้ และรายได้เติบโต 10%
มองข้ามชอตเปิดเกมรุกอาเซียน
ด้านสบายเทคโนโลยีนั้น ไม่เพียงขยายจำนวนตู้และทำเลในไทย แต่ยังมองไปถึงต่างประเทศ ด้วย นายชูเกียรติ รุจนพรพจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สบายเทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลาดตู้เวนดิ้งในไทยมีขนาดประมาณ 4-5 หมื่นตู้ 90% เป็นตู้เครื่องดื่ม คิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านบาท มีโอกาสเติบโต 15-20% ต่อปี จากกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายทั้งช่วงอายุและกลุ่มสังคม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่นิยมซื้อสินค้า โดยแนวโน้มการเติบโตนี้สอดคล้องกับประเทศต่าง ๆในภูมิภาคอาเซียนด้วยเนื่องจากผู้บริโภคมีไลฟ์สไตล์คล้ายกัน จึงเป็นโอกาสที่บริษัทจะรุกตลาดต่างประเทศ โดยกำลังศึกษาโอกาสรุกตลาดประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และสิงคโปร์ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2567 ด้วยการจับมือพันธมิตรท้องถิ่น ก่อนจะขยายไปยังประเทศอื่น ๆ ต่อไป ตามเป้ามีธุรกิจในทุกประเทศของอาเซียนภายใน 3 ปีข้างหน้า
ส่วนในประเทศไทยเตรียมเปิดตัวตู้โมเดลใหม่สำหรับรองรับกระแสไลฟ์คอมเมิร์ซหรือการไลฟ์ขายสินค้า โดยจะตั้งในทำเลใกล้มหาวิทยาลัย เพื่อตอบโจทย์กลุ่มนักศึกษาที่ต้องการไลฟ์ขายสินค้าและกลุ่มผู้ค้าที่ต้องการเข้าถึงฐานผู้บริโภควัยรุ่น คาดว่าจะเริ่มติดตั้งตู้โมเดลใหม่นี้ได้ในช่วงปลายปี 2566 นี้ พร้อมกับการขยายตู้ในจุดเชื่อมต่อขนส่งสาธารณะ คอนโดฯ อาคารสำนักงาน โรงพยาบาล ศูนย์การค้า รวมถึงนิคมอุตสาหกรรม
นอกจากนี้จะเดินหน้าซื้อหุ้นของเอสวีทีเพิ่มจากปัจจุบัน 5% เป็น 10% ภายในสิ้นปี พร้อมสร้างความร่วมมือทางธุรกิจในลักษณะเดียวกับความร่วมมือที่มีกับเครือฟอร์ทที่ก่อนหน้านี้ร่วมทุนตั้งบริษัทขึ้นมาทำธุรกิจด้านร้านรับส่งพัสดุ ซ่อมแซมตู้เวนดิ้ง และอื่น ๆ
ปูพรมเจาะคนรุ่นใหม่
นายอภิเศรษฐ ธรรมมโนมัย กรรมการรองผู้อำนวยการ บริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายขนมปังและเบเกอรี่แบรนด์ “ฟาร์มเฮ้าส์” และอื่น ๆ กล่าวว่า แม้ช่องทางอย่างโมเดิร์นเทรดและเทรดิชั่นนอลเทรดกว่า 6 หมื่นโลเกชั่น จะยังเป็นช่องทางจำหน่ายหลัก แต่การจำหน่ายสินค้าผ่านตู้เวนดิ้งจำนวนกว่า 200 ตู้ เป็นหนึ่งในช่องทางที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำของผู้บริโภครุ่นใหม่ เช่น การนำไปตั้งในสถาบันกวดวิชา เพื่อให้นักเรียนมีของกินแม้เลิกเรียนช่วงดึก
แม้จะมีความท้าทายด้านการบริหารสินค้าที่เน้นความสดใหม่ จึงต้องเปลี่ยนทุก 3-5 วัน ทำให้มีต้นทุนสูงกว่าสินค้าเครื่องดื่มหรือขนมขบเคี้ยว แต่นับว่าคุ้มค่า หลังจากนี้จะขยายจำนวนตู้อีกประมาณ 100 ตู้ต่อปี ในทำเลที่อยู่อาศัย สถานีขนส่ง โรงพยาบาล โรงงานอุตสาหกรรม โรงเรียน ฯลฯ