กินเจ แพลนต์เบสมาแรง ซิซซ์เล่อร์-CPF-ไทยยูเนี่ยน แข่งทำตลาด

แพลนต์เบส
ภาพจาก Canva

แพลนต์เบส อาหารทางเลือกสำหรับคนรักสุขภาพ-มังสวิรัติ มาแรงต่อเนื่อง บรรดาผู้ประกอบการธุรกิจอาหารทั้งรายใหญ่ กระโดดเข้ามาทำตลาดแพลนต์เบส

วันที่ 20 ตุลาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เทศกาลกินเจช่วง 15-23 ตุลาคม 2566 ส่งผลให้อาหารที่ทำมาจากโปรตีนเกษตร หรือแพลนต์เบส ซึ่งเป็นเทรนด์ที่เข้าสู่ตลาดและได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากผู้ที่รักสุขภาพ และผู้สนใจวงการอุตสาหกรรมอาหาร ประกอบกับปัจจุบันเทรนด์ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะลดการบริโภคเนื้อสัตว์ พร้อมมองหาทางเลือกอื่น เช่น พืช และอาหารประเภทมังสวิรัติ

สอดรับกับที่บรรดาผู้ประกอบการธุรกิจอาหารในไทย ตอบสนองต่อการเติบโตนี้ และหันมาใช้แพลนต์เบสปรุงเมนูอาหารเพื่อสุขภาพ เจาะกลุ่มตลาดคนรักสุขภาพ และคนที่ลดการรับประทานเนื้อสัตว์ ที่กำลังมาแรงอยู่ในขณะนี้

“ประชาชาติธุรกิจ” ส่องตลาดในไทยว่ามีผู้ประกอบธุรกิจอาหาร รายไหนบ้างที่เดินหน้าใช้แพลนต์เบสในการทำเมนูอาหาร เจาะกลุ่มคนรักสุขภาพ

ซิซซ์เล่อร์ ตอบโจทย์ร้านอาหารเพื่อสุขภาพ

ซิซซ์เล่อร์ เชนร้านอาหารขนาดใหญ่รายแรก ๆ ของไทยที่บุกเข้าสู่ตลาด “แพลนต์เบส” หรือโปรตีนทำจากพืช โดยมีเป้าหมายเพื่อเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่รับประทานมังสวิรัติ กลุ่มผู้รับประทานอาหารวีแกน หรือกลุ่มผู้บริโภคที่รับประทานมังสวิรัติแบบยืดหยุ่นเป็นครั้งคราว หรือแม้แต่ผู้บริโภคทั่วไป

โดยเมนูแพลนต์เบสในร้าน Sizzler จะมีทั้ง ออมนิมีท ลาบทอด เสิร์ฟพร้อมข้าวเหนียว ในราคา 319 บาท และบียอร์น เบอร์เกอร์ ในราคา 429 บาท เป็นต้น

เมนูแพลนต์เบส Sizzler
ภาพจากเว็บไซต์ https://www.sizzler.co.th/th/menu/plant-based

CPF ยักษ์อุตสาหกรรมอาหาร ส่ง Meat Zero เจาะกลุ่มรักสุขภาพ

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ที่เรียกได้ว่าเป็นยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมอาหาร ที่ก็ถือเป็นรายแรก ๆ เช่นเดียวกัน ที่ได้ส่งผลิตภัณฑ์เนื้อจากพืช (Plant-Based) ชื่อว่า Meat Zero (มีทซีโร่) ลุยตลาดแพลนต์เบส เพื่อตอบรับเทรนด์สุขภาพ

ซึ่งตัวผลิตภัณฑ์ Meat Zero ได้เริ่มวางจำหน่ายตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งในช่วงนั้นได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยม และต่อมาในเดือนพฤศจิกายนก็ได้วางจำหน่ายที่ประเทศสิงคโปร์และฮ่องกง ก็ได้รับความนิยมอย่างมากเช่นเดียวกัน

โดยผลิตภัณฑ์ Meat Zero ทำจากโปรตีนจากพืช อาทิ โปรตีนจากถั่วเหลือง ข้าวสาลี และถั่วลันเตา ซึ่งมาในรูปแบบโปรตีนที่แตกต่างกัน ทั้งแบบผงคอนเซนเทรต (Protein Concentrate) แบบผงไอโซเลท (Protein Isolate) และแบบ Textured Vegetable Protein (TVP)

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์หลากหลายมาก อาทิ เนื้อสามชั้นจากพืช, โบโลน่าจากพืช รสออริจินัล, ลาบทอด จากพืช, นักเก็ตไก่จากพืช, เนื้อบดจากพืช ฯลฯ

Meat Zero
แฟ้มภาพ

วีฟู้ดส์ ดึง มอร์ มีท เจาะตลาดแพลนต์เบสไทย

บริษัท วีฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จํากัด ก็ได้จับมือกับทาง บริษัท มอร์ฟู้ดส์ อินโนเทค จํากัด ร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกันภายใต้การออกผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโปรตีนเกษตร หรือที่เรียกว่าแพลนต์เบส อย่าง ลาบทอด ผลิตจากพืช, ทอดมันข้าวโพด เนื้อปู ฯลฯ จัดจำหน่ายภายใต้แบรนด์ วีฟาร์ม (V Farm)

โดยเป้าหมายในครั้งนี้คือการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้บริโภคได้มีทางเลือกในการรับประทานโปรตีนจากพืชที่มีคุณสมบัติที่ดีทั้งในด้านรสชาติ คุณประโยชน์ และต่อยอดให้ผลิตภัณฑ์แพลนต์เบสก้าวสู่สินค้าในรูปแบบพร้อมรับประทานหรือ Ready To Eat

ลาบทอด V-Farm-Plant-Based
ภาพจากเว็บไซต์ https://vfarmth.com/featured_item/v-farm-larb-bites/

ไทยยูเนี่ยน ปั้นแบรนด์ OMG Meat บุกแพลนต์เบส

OMG Meat (โอเอ็มจี มีท) โปรตีนจากพืช (Plant-based meat and seafood) ซึ่งเป็นแบรนด์ภายใต้ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โดยตัวผลิตภัณฑ์แบรนด์ OMG Meat มีทั้งรูปแบบอาหารทะเลจากพืช ได้แก่ หอยจ๊อปู ขนมจีบปู เนื้อปู นักเก็ต และรูปแบบไม่ใช่อาหารทะเล อย่างเนื้อหมู ไก่ จากพืช ได้แก่ ซาลาเปาหมูแดง และนักเก็ตไก่ ในราคา 70-150 บาท

นอกจากนี้ยังได้มีการร่วมมือกับทางบริษัท วีฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จํากัด ในการศึกษาโอกาสและความเป็นไปได้ในการผลิตสินค้าต่าง ๆ ของบริษัท วี ฟู้ดส์ด้วยเทคโนโลยีและฐานกำลังผลิตของไทยยูเนี่ยน ตลอดจนความร่วมมือในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ร่วมกัน

นอกจากนี้ไทยยูเนี่ยนและวี ฟู้ดส์ยังเล็งเห็นโอกาสในการร่วมมือกันขยายตลาดไปยังช่องทางต่าง ๆ ที่แต่ละบริษัทมีความเชี่ยวชาญ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

OMG Meat
ภาพจากเพจ OMG Meat

ทั้งนี้ นอกเหนือจากผู้ประกอบการรายใหญ่เหล่านี้ที่เรียกได้ว่าเป็นผุ้บุกเบิกตลาดแพลนต์เบสในไทยแล้ว ก็ยังมีอีกหลาย ๆ แบรนด์ไม่ว่าจะเป็นทั้งแบรนด์อาหาร เครื่องดื่ม ฯลฯ ก็ได้ต่างพากันออกผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพืช ออกมาวางตลาดอยู่หลากหลายแบรนด์เช่นเดียวกัน