ฝุ่นข้ามแดน PM 2.5 ของจริงกำลังจะมา

Photo by AFP
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

ปัญหาฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือกำลังทวีความรุนแรงขึ้น จากรายงานล่าสุดของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA (7 มีนาคม 2567) พบจุดความร้อนที่เกิดจากการเผา ซึ่งเป็นต้นตอสำคัญของฝุ่น PM 2.5 ในประเทศถึง 2,230 จุด ถือว่าสูงสุดตั้งแต่มีการจัดเก็บข้อมูลตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 เป็นต้นมา

โดยจุดความร้อนที่เกิดขึ้นในประเทศส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่ของป่าอนุรักษ์ 883 จุด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 734 จุด พื้นที่ทางการเกษตร 284 จุด พื้นที่ในเขต ส.ป.ก. 173 จุด แหล่งชุมชนและอื่น ๆ 145 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 11 จุด พร้อมกันนี้ยังระบุว่า จังหวัดที่พบจุดความร้อนสูงสุดในขณะนี้ ได้แก่ จังหวัดลำปาง 305 จุด, เชียงใหม่ 277 จุด และตาก 240 จุด

นอกจากการพบจุดความร้อนที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากการเผา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือแล้ว ยังถูกซ้ำเติมและกำลังกลายเป็นประเด็นหลักถึงการเกิดฝุ่น PM 2.5 ในประเทศไทยก็คือ การพบจุดความร้อนที่เพิ่มขึ้นจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมียนมา พบจุดความร้อนถึง 4,564 จุด, สปป.ลาว 3,184 จุด และกัมพูชา 828 จุด

กลายเป็นปัญหาฝุ่น PM 2.5 พัดข้ามแดนเข้ามาสมทบกับฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดขึ้นในประเทศอยู่แล้ว โดยล่าสุด จังหวัดเชียงใหม่ได้รับผลกระทบไปเต็ม ๆ จากการจัดอันดับดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) จัดให้เชียงใหม่เป็นเมืองใหญ่ที่มีมลพิษมากที่สุดไปแล้ว

สอดคล้องกับสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ของจังหวัดเชียงใหม่เองในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบค่าฝุ่น PM 2.5 ที่เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (ค่าระหว่าง 37.6-75 pg/m3) หรือ “สีส้ม” ถึง 25 อำเภอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เวียงแหง, ไชยปราการ, ฝาง, แม่อาย และเชียงดาว โดยอำเภอเหล่านี้มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงขึ้น จากการได้รับลมตะวันตกที่พัดเอาฝุ่นที่เกิดจากการเผาจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามา

และจะยิ่งมากขึ้นนับตั้งแต่เดือนมีนาคมต่อเนื่องไปถึงเมษายน ซึ่งถือเป็นช่วง Peak ของฤดูฝุ่นในประเทศ หรือจนกว่าจะเข้าสู่ฤดูฝน จนสภาลมหายใจเชียงใหม่ ได้ออกมาเคลื่อนไหวขอให้จังหวัดประกาศหยุดเรียน หรือให้เริ่มทำงานที่บ้าน (Work from Home) กันแล้ว

ที่น่าสนใจก็คือ สภาลมหายใจเชียงใหม่เสนอว่า จะต้องแก้ไขปัญหา 2 ส่วนไปพร้อม ๆ กันคือ การแก้ไขปัญหาในพื้นที่ประเทศไทย อาทิ การปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว (ข้าวโพด) ให้เป็นพืชที่มีมูลค่าสูง เพื่อลดการเผาไร่ และการบังคับใช้กฎหมายเรื่องการเผาอย่างเข้มงวด กับการแก้ไขปัญหานอกพื้นที่ประเทศไทย ซึ่งก็คือ ฝุ่นควันข้ามแดนที่เกิดจากการเผาไร่เพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยวในประเทศเพื่อนบ้าน เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า แม้จะมีการปลูกข้าวโพดจากฝั่งตรงกันข้าม แต่ผู้รับซื้อข้าวโพดล้วนอยู่ฝั่งไทยทั้งสิ้น

ดังนั้นการจัดการปัญหาฝุ่นข้ามแดนจึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ดูเหมือนปีนี้ก็คงไม่มีอะไรคืบหน้า จังหวัดเชียงใหม่เอง จากที่เคยได้รับการชื่นชมให้เป็นต้นแบบในการบริหารจัดการฝุ่น PM 2.5 ก็คงไม่สามารถรับมือฝุ่น PM 2.5 จากการเผาข้ามแดนที่จะเข้ามาเติมตลอดฤดูแล้งนี้ได้ แม้ในขณะนี้จะมีคำสั่งให้งดการชิงเผาในพื้นที่ป่าอุทยานฯ 100% ไปแล้วก็ตาม

ขณะที่การจัดการฝุ่นควันข้ามแดนในฟากของรัฐบาลปีนี้จะใช้ ยุทธศาสตร์ฟ้าใส (Clear Sky Strategy) โดยจะมีแผนปฏิบัติการร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน 3 ประเทศ ทว่ายุทธศาสตร์นี้รัฐบาลไทยทำได้เพียงการสนับสนุนองค์ความรู้ด้านวิชาการ การแบ่งปันข้อมูล ในการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมติดตามตรวจวัดจุดความร้อน และการใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมถึงถ่ายทอดประสบการณ์ในการบริหารจัดการเกษตรในพื้นที่สูง การจัดทำแผนที่เสี่ยงไฟ การเฝ้าระวังและป้องกันไฟป่า

การหยุดเผา ซึ่งถูกแสดงโดยจุดความร้อนเป็นจำนวนมากมายในพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน จึงเป็นเพียงการ “ขอความร่วมมือ” ที่ไม่สามารถบังคับใช้กับประเทศที่กำลังเกิดปัญหาเศรษฐกิจ-ภาวะเงินเฟ้อหรือประเทศที่กำลังเกิดสงครามในประเทศอย่างกว้างขวางได้