เบื้องหลังชิงประธานสภา-ครม. เพื่อไทย-ก้าวไกล โผใครโผมัน

เพื่อไทย-ก้าวไกล
คอลัมน์ : Politics policy people forum

ศึกระหว่าง 2 พรรค พรรคเพื่อไทย-พรรคก้าวไกล คู่แข่งในลู่เดียวกัน แต่ก็กล้ำกลืนอยู่ร่วมรัฐบาลด้วยกัน

แม้ต่อหน้าชื่นมื่น แต่ลับหลังเต็มไปด้วยความร้อนระอุ มีเรื่องระหว่างทางมากมายตั้งแต่เป็นฝ่ายค้านด้วยกันในสมัยที่แล้ว

จนถึงตอนนี้…ที่ต้องมาจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน เสียงในสภาคู่คี่สูสี ห่างกันเพียง 10 แต้ม

โดยเฉพาะ ส.ส.เขต 112 คนเท่ากัน ต่างกันแค่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยได้ 29 ที่นั่ง พรรคก้าวไกลได้ 39 ที่นั่ง ศักดิ์ศรี-ดีกรีพอ ๆ กัน

การชิงตำแหน่งทั้งในฝ่ายบริหาร ในฝ่ายนิติบัญญัติ ยิ่งเข้มข้น จึงเกิดเกมการ “ชิงเก้าอี้ประธานสภา”

พท.ไม่มีใครเอารองประธาน

เกมชิงเก้าอี้ประธานสภา กลายเป็นเกมเฉือนคมของทั้ง 2 พรรค เมื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะเสียงอันดับหนึ่ง ส่งขุนพลก้าวไกล ออกมายืนยันผ่านสื่อว่า เก้าอี้ประธานสภา ต้องเป็นของพรรคก้าวไกลเท่านั้น แต่พรรคเพื่อไทย ออกมาโวยเช่นกันว่า พรรคก้าวไกลได้เก้าอี้นายกฯไปแล้ว ก็ไม่ควรได้ประธานสภา เก้าอี้ประธานสภาควรเป็นของพรรคเพื่อไทย

“ภูมิธรรม เวชยชัย” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวต่อหน้า ส.ส.ใหม่ 141 คน เมื่อวันที่ 21 มิถุนายนว่า

ช่วงที่ผ่านมาตนเป็นตัวแทนพรรคไปเจรจาจัดตั้งรัฐบาล

โดยสรุปว่าการจะแบ่งจัดสรรรัฐมนตรี รัฐมนตรีช่วยว่าการ ควรจะเป็นของ 2 พรรคหลัก ที่จะได้พรรคละ 14 ที่นั่งเท่ากัน เนื่องจาก ส.ส.เขต เท่ากันคือ 112 เสียง ต่างกันแค่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ต่างกันไม่มาก

“ดังนั้น เพื่อความเหมาะสม พรรคก้าวไกลในฐานะที่ได้เสียงอันดับหนึ่งก็ควรได้ 14 รัฐมนตรี บวก 1 เก้าอี้ประมุขฝ่ายบริหาร ส่วนพรรคเพื่อไทย 14 รัฐมนตรี บวกประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อให้กองเชียร์ก็รู้สึกสบายใจ ซึ่งพรรคก้าวไกลเขาขอกลับไปพิจารณา ยังไม่มีการเจรจาต่อจากนั้นเลย เริ่มต้นที่วันไหนก็ยังอยู่อย่างนั้น”

เกมชิงเก้าอี้ประธานสภา ลากไปค่อนเดือน พรรคเพื่อไทยทำท่าเหมือนยอมถอย ยกเก้าอี้ประธานสภาให้พรรคก้าวไกลตามคำขอ แต่ขอรองประธานสภา 2 คน มาอยู่ในความครอบครอง

ทว่า การถอยของพรรคเพื่อไทย ถอยอย่างเป็นระบบ-รุกอย่างเป็นจังหวะ

21 มิถุนายน ในสัมมนา ส.ส.พรรค พลันที่สิ้นเสียงของ “ภูมิธรรม” ถึงคิวให้ ส.ส.หยิบไมค์ซักถาม “อดิศร เพียงเกษ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ มือเก๋าสายตรงดูไบ ก็เปิดฉากถล่มการตัดสินใจของทีมเจรจา ยืนยันไม่ต้องการได้ “สามเณร” มาเป็น “เจ้าอาวาส” แล้วหลัง “อดิศร” พูดจบ ทางพรรคจึงให้ “นักข่าว” ออกจากห้อง

ประหนึ่งพรรคเพื่อไทย ตั้งใจให้คำพูดของ “อดิศร” ได้ยินไปถึงพรรคก้าวไกล จากนั้นตามด้วยข่าวจากวงในห้องประชุมว่า ส.ส.เกือบทั้งห้อง ไม่พอใจที่ทีมเจรจาพรรคเพื่อไทย ยกเก้าอี้ประธานสภาให้

ไม่นานจากนั้น แหล่งข่าวจากหนึ่งในแกนนำพรรคเพื่อไทย พยายามส่งสัญญาณออกมานอกห้องว่า “ตอนแรกคิดว่าจะพูดคุยกันได้ง่าย ส.ส.น่าจะเข้าใจ แต่ไป ๆ มา ๆ ไม่ใช่ ดูแล้วเหนื่อย แต่คงไม่ให้ ส.ส.ฟรีโหวตเลือกประธานสภา ถ้าทำอย่างนั้นจะยุ่ง ยังต้องทำความเข้าใจกันต่อไป”

ผ่านมา 4 วัน 25 มิถุนายน “ประยุทธ์ ศิริพานิชย์” ประธาน ส.ส.อีสาน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หากยังมีปัญหาอยู่ควรนำปัญหานั้นเข้าสู่ที่ประชุม ส.ส. รับฟังความคิดเห็น ไม่ใช่เห็นอย่างไรแล้วว่าไปเลย

ปิดห้องกล่อม ส.ส.

โดยพรรคเพื่อไทยปิดห้องคุย ส.ส.วันที่ 27 มิถุนายน อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวบอกว่า พรรคเพื่อไทยยังไม่มีการพูดคุยถึงเรื่องชื่อรองประธานสภา 2 คน ว่าใครจะมาเป็น เพราะ “คงไม่มีใครอยากมาเป็นรองประธานสภา”

แต่สำหรับเก้าอี้ประธานสภา มี 2 คนที่มีข่าวว่าต้องการครอบครอง คนแรก “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” ส.ส.น่าน 6 สมัย ในฐานะหัวหน้าพรรค เคยเป็น “แคนดิเดต” รองประธานสภามาแล้วหลายหน ใกล้ที่สุดคือยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพราะแม่นกฎหมายและข้อบังคับพรรค แต่ถูกมอบหมายให้นั่งเก้าอี้ รมช.สาธารณสุขแทน

คนที่ 2 คือ “สุชาติ ตันเจริญ” อดีตรองประธานสภาสมัยที่แล้ว ย้ายกลับมาพรรคเพื่อไทย มีลุ้นจะได้นั่งเก้าอี้ประธานสภา หรือรัฐมนตรี ซึ่งมีข่าวลือเรื่องได้รับแรงหนุนจากพรรคพลังประชารัฐ

ก้าวไกลปิดปาก

ช่วงเข้าด้ายเข้าเข็มทางการเมือง พรรคก้าวไกลต้องเดินเกมด้วยความระมัดระวังขั้นสุด มิอาจตกเป็นรองพรรคเพื่อไทย แกนนำพรรคทั้งหมดปิดปากเงียบ ไม่ปริปากเรื่องเกมชิงเก้าอี้ เว้นไว้เฉพาะ “ชัยธวัช ตุลาธน” เลขาธิการพรรคก้าวไกล ที่ออกมาพูดผ่านสื่อ

“ชัยธวัช” ย้ำหลักการเก้าอี้ประธานสภาควรเป็นของพรรคก้าวไกลว่า เรายังเสนอเช่นนั้นอยู่ หลักการทั่วไปแล้วประธานสภาควรจะเป็นของพรรคอันดับที่ 1 ซึ่งคงต้องให้เวลาพรรคเพื่อไทยได้พูดคุยกันและหาข้อสรุป ซึ่งเป็นกระบวนการภายในพรรค

“เราไม่มีเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้พรรคเพื่อไทยยกเก้าอี้ประธานสภาให้กับพรรคก้าวไกล ตนคิดว่าเป็นหลักการทั่วไปในระบบรัฐสภา”

พรรคก้าวไกลมี 3 แคนดิเดต ตัวเต็งสุด ๆ คือ “ณัฐวุฒิ บัวประทุม” ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค ว่ากันว่าได้รับการสนับสนุนจาก “ชัยธวัช” คนต่อมา “ปดิพัทธ์ สันติภาดา” ส.ส.พิษณุโลก ได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ส.ในพรรค ส่วน “ธีรัจชัย พันธุมาศ” ส.ส.กทม. ก็เป็นมือกฎหมาย-มือเดินเกมในสภา ตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่-ก้าวไกล

ชิงเก้าอี้รัฐมนตรี

นอกจากนี้ เก้าอี้รัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย จองไว้ 14 เก้าอี้เช่น พาณิชย์ คมนาคม เกษตรและสหกรณ์ พลังงาน ต่างประเทศ สาธารณสุข ท่องเที่ยวและกีฬา ชื่อที่ปรากฏเป็นรัฐมนตรีเวลานี้ อาทิ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค, ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค, สมศักดิ์ เทพสุทิน, สุทิน คลังแสง, เผ่าภูมิ โรจนสกุล

ขณะที่พรรคก้าวไกล ยืนยันว่า ต้องได้กระทรวงกลาโหม มหาดไทย คลัง ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ศึกษาธิการ แรงงาน มีคนที่จะนั่งเก้าอี้รัฐมนตรี

อาทิ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (อาจควบรัฐมนตรี), ชัยธวัช ตุลาธน, สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ, ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ, วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

ซึ่งพรรคก้าวไกลอาจมีเรื่องหาคนที่มานั่งเป็นรัฐมนตรี เพราะบุคลากรที่มี ทั้งรูปสมบัติ-คุณสมบัติเพียงพอเป็นรัฐมนตรีมีน้อย เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 160 ระบุว่ารัฐมนตรีต้องมีอายุ 35 ปีขึ้นไป

ในบรรดา ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคก้าวไกล 39 คน ที่คาดหมายว่าเป็นสัดส่วนที่จะมาเป็นรัฐมนตรี ระดับดาวเด่นที่ไม่สามารถเอื้อมถึงตำแหน่งรัฐมนตรี เพราะอายุไม่ถึง 35 ปีอยู่ 4 คน โดยเฉพาะรังสิมันต์ โรม และ พริษฐ์ วัชรสินธุ

ส่วนที่ “คาบเส้น” อายุ 35 ปีพอดี เช่น นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง หรือผ่านเกณฑ์มาเล็กน้อย “ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” อายุ 36 ปี จึงมีแนวโน้มถูกวางไว้เป็น รมต.ดีอีเอส

พรรคเพื่อไทย-พรรคก้าวไกล ยังคงเป็นทั้งคู่แข่ง คู่แค้น และเพื่อนร่วมทางในการจัดตั้งรัฐบาลที่ยังอีกยาว