14 ศูนย์อาหารรัฐ-เอกชน เดินตามกรอบ UN ลดขยะอาหารช่วยโลก

ปัจจุบันมีภาคเอกชนหลายแห่งทั้งในประเทศ และต่างประเทศต่างให้ความสำคัญกับขยะอาหาร และอาหารส่วนเกินค่อนข้างมาก โดยเฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ และฟู้ดคอร์ตที่ต่างเป็นต้นทางของขยะเหล่านั้น ผลเช่นนี้ จึงทำให้ตลอดหลายปีผ่านมา ผู้บริหารของสถานที่ดังกล่าว จึงพยายามกำจัดขยะอาหาร และอาหารส่วนเกินเพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

บางแห่งนำไปทำปุ๋ย บางแห่งนำผัก ผลไม้ และอาหารที่ใกล้หมดอายุไปบริจาคให้กับกลุ่มเปราะบาง หรือบางแห่งนำขยะอาหาร และอาหารส่วนเกินไปผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ เพราะเศษอาหารเหล่านี้ก่อให้เกิดก๊าซมีเทน อันส่งผลเสียต่อระบบนิเวศ จนทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก รองจากคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งมีผลทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

ที่สำคัญ มีรายงานว่าปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณขยะอาหารเกิดขึ้นประมาณ 9.7 ล้านตัน หรือ 146 กิโลกรัม/คน/ปี ซึ่งถือเป็นปริมาณค่อนข้างมาก ดังนั้น ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนจึงพยายามหาทางกำจัดตลอดมา ซึ่งเหมือนกับครั้งนี้ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรุงเทพมหานคร (กทม.),

กรมควบคุมมลพิษ (คพ.), กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.), กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม, กรมอนามัย, สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) และศูนย์อาหารของรัฐและเอกชน 14 แห่งทั่วประเทศ จึงร่วมแสดงเจตจำนงร่วมจัดการขยะอาหาร และอาหารส่วนเกิน เพื่อป้องกัน ลด กำจัด ใช้ประโยชน์จากขยะอาหาร และอาหารส่วนเกิน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพในเขตเมือง

“ดร.ชาติวุฒิ วังวล” ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันการจัดการขยะอาหาร และอาหารส่วนเกินเป็นปัญหาสำคัญระดับโลก ทั้ง UN ยังกำหนดให้การลดขยะอาหารเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยปี 2558 มีการกำหนดเป้าลดขยะอาหารในระดับค้าปลีก และบริโภคทั่วโลกลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2573

สำหรับประเทศไทย ขยะอาหาร และอาหารส่วนเกินเป็นปัญหาสำคัญ โดยเฉพาะเมืองใหญ่มีขยะอาหาร และอาหารส่วนเกินถูกทิ้งจากหลายแหล่ง ทั้งบ้านเรือน ตลาด ซูเปอร์มาร์เก็ต โรงแรม ร้านอาหาร ศูนย์อาหาร ก่อนที่จะส่งไปกำจัดด้วยการนำไปเทกองกลางแจ้ง หรือเผากลางแจ้ง

จนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย แถมยังสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชน เพราะทำให้เกิดกลิ่นเหม็น น้ำเสียจากน้ำชะขยะปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำผิวดิน และแหล่งน้ำใต้ดิน เป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค กระทั่งเกิดมลพิษทางอากาศ

กล่าวกันว่า กรุงเทพฯ และปริมณฑลล้วนเป็นแหล่งรวมการค้า การบริการ สถานประกอบการ ศูนย์การค้า สำนักงาน อาคารขนาดใหญ่ ทั้งยังมีประชากรหนาแน่น มีการดำเนินชีวิตแบบคนเมือง แต่ไม่ค่อยมีพื้นที่จัดการขยะอาหารและอาหารส่วนเกิน อีกทั้งไม่สะดวกในการดำเนินการด้วยตนเอง

ดังนั้น การแก้ปัญหาด้วยการจัดการขยะอาหาร และอาหารส่วนเกินที่ต้นทาง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค และการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างผู้ก่อให้เกิดขยะอาหาร และอาหารส่วนเกินผ่านวิธีการนำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการส่งต่อยังกลุ่มเปราะบาง ตรงนี้จึงเป็นทางออกสำคัญในการลดปริมาณขยะอาหารและอาหารส่วนเกิน ทั้งยังช่วยลดมลพิษ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพในเขตเมือง

“ปรีญาพร สุวรรณเกษ” อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันไทยมีปริมาณขยะอาหารเกิดขึ้นประมาณ 9.7 ล้านตัน หรือ 146 กิโลกรัม/คน/ปี แหล่งกำเนิดที่มีการทิ้งของขยะอาหารสูงสุดคือ ตลาดสด รองลงมาคือห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อ รวมถึงอาคารสำนักงาน ตามลำดับ ซึ่งแหล่งกำเนิดดังกล่าว ส่วนใหญ่มีศูนย์อาหารอยู่ด้วย ทั้งยังเป็นแหล่งที่ก่อให้เกิดขยะอาหารที่สำคัญ เราจึงควรวางแผนบริหารจัดการตั้งแต่ต้นทาง

ดังนั้น ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นสมาชิก UN จึงต้องดำเนินการตามเป้า SDGs ในการลดขยะอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่ง จนเมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2567 ผ่านมา “สมศักดิ์ เทพสุทิน” รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการอาหารแห่งชาติเห็นชอบแผนที่นำทางการจัดการขยะอาหาร (พ.ศ. 2566-2573) และแผนปฏิบัติด้านการจัดการขยะอาหาร ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566-2570)

เพื่อเป็นกรอบและทิศทางดำเนินการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการจัดการขยะอาหารของประเทศ ด้วยการมุ่งเน้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมป้องกัน และลดขยะอาหาร พร้อมจัดระบบคัดแยกขยะอาหารบริเวณแหล่งกำเนิด และสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย เพื่อผลักดันให้ประชาชนคัดแยกขยะอาหารออกจากขยะทั่วไป รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็จะต้องมีระบบคัดแยก และเก็บขนขยะแบบแยกประเภทด้วย

“ดร.วิจารย์ สิมาฉายา” ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า การประกาศเจตจำนงความร่วมมือจัดการขยะอาหารจากศูนย์อาหารวันนี้ เป็นตัวอย่างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดการขยะอาหาร และอาหารส่วนเกินของประเทศ ซึ่งมีความร่วมมือสำคัญทั้งหมด 5 ด้านด้วยกันคือ

หนึ่ง สนับสนุนให้ศูนย์อาหาร และหน่วยงานต่าง ๆ มีข้อมูล และกำหนดเป้าหมายลดปริมาณขยะอาหาร และอาหารส่วนเกิน ด้วยระบบคัดแยก พร้อมเอื้อต่อการนำไปใช้ประโยชน์ และกำจัดอย่างเหมาะสม

สอง ส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมป้องกัน และลดการเกิดขยะอาหารและอาหารส่วนเกิน

สาม ส่งเสริมองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดี สำหรับผู้ประกอบอาหาร และผู้จำหน่ายอาหารในการป้องกัน ลด คัดแยก และจัดการขยะอาหารและอาหารส่วนเกิน

สี่ พัฒนา และขยายผลรูปแบบที่เหมาะสม และแนวปฏิบัติที่ดีในการป้องกัน และลดการเกิดขยะอาหาร, อาหารส่วนเกินจากศูนย์อาหาร ด้วยการจัดการขยะอาหาร และอาหารส่วนเกินที่แหล่งกำเนิด

ห้า ขับเคลื่อนนโยบาย และแผนจัดการขยะอาหาร, อาหารส่วนเกิน ด้วยกลไกข้อมูล กฎระเบียบ และการสื่อสาร เพื่อให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และกว้างขวาง โดยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย สนับสนุนให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการจัดการขยะอาหารอย่างเป็นระบบ สนับสนุนทางวิชาการ การเผยแพร่ข้อมูล และผลักดันให้เกิดการจัดการขยะอาหารจากแหล่งอาหารอย่างเป็นรูปธรรม

เพราะการจัดการขยะอาหาร และอาหารส่วนเกินเป็นปัญหาสำคัญระดับโลก ที่สหประชาชาติกำหนดไว้ในแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ประเทศสมาชิกต้องปฏิบัติตาม