นกแอร์ เสริมฝูงบินใหม่ 6 ลำ เพิ่มความถี่รับไฮซีซั่น-กวาดมาร์เก็ตแชร์

สายการบินนกแอร์

“นกแอร์” เปิดแผนรุกไตรมาส 4 เผยเสริมฝูงใหม่อีก 6 ลำ เพิ่มความถี่เที่ยวบินขึ้นอีก 14% พร้อมปรับตารางการบินให้สอดรับกับดีมานด์ตลาด ทั้งเส้นทางในประเทศ-ต่างประเทศ รักษามาร์เก็ตแชร์ แย้มเคาะฤกษ์เปิดเส้นทางบินใหม่สู่ “ไต้หวัน-อินเดีย” ปลายปีนี้ โอดต้นทุนน้ำมันพุ่งสวนทางค่าตั๋วโดยสาร วอนรัฐออกมาตรการอุ้มสายการบินต่อ

ดร.วุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันสายการบินนกแอร์มีฝูงบินจำนวน 17 ลำ แบ่งเป็น

เครื่องบินแบบโบอิ้ง 737-800 NG จำนวน 13+1 ลำ (หนึ่งลำประสบอุบัติเหตุลื่นไถลออกนอกทางวิ่ง) และเครื่องบินแบบบอมบาร์ดิเอร์ คิว400 อีกจำนวน 3 ลำ มีอัตราการตรงต่อเวลาอยู่ที่ราว 85-90%

ขณะที่อัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบิน (Aircraft Utilization) อยู่ที่ประมาณ 8 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งยังต่ำกว่าในช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 ที่ทำได้สูงสุดถึง 11-12 ชั่วโมง

โดยขณะนี้มีแผนนำเข้าเครื่องบินเพื่อเสริมฝูงบินอีก 6 ลำ โดยเป็นเครื่องบินแบบโบอิ้ง 737-800 NG ทั้งหมด แบ่งเป็น การนำเข้ามาภายในปีนี้ 1 ลำ ส่วนอีก 5 ลำที่เหลือจะพิจารณาตามปริมาณความต้องการตลาดเส้นทางบินญี่ปุ่น อินเดีย และจีน เป็นหลัก

“หลังจากเกิดอุบัติการณ์เครื่องบินสายการบินนกแอร์เที่ยวบินที่ DD108 ลื่นไถลออกนอกทางวิ่งที่ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ส่งผลให้ตารางบินเที่ยวบินอื่นได้รับผลกระทบจากการที่มีเครื่องบินต้องหยุดให้บริการไปหนึ่งลำ

สายการบินจึงแก้ปัญหาด้วยการเร่งนำเครื่องบินที่นำไปตรวจสภาพตามวงรอบในต่างประเทศกลับเข้ามาให้บริการให้เร็วที่สุดภายในปีนี้ เพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดเอาไว้” ดร.วุฒิภูมิกล่าว

เร่งเพิ่มความถี่เที่ยวบิน

สำหรับสายการบินนกแอร์นั้น ปัจจุบันยังให้บริการเส้นทางบินในประเทศเป็นหลัก โดยมีสัดส่วนของนักเดินทางชาวไทยสูงถึง 80-90% หากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยในไตรมาส 4 ไม่ถึง 5 ล้านคนตามที่คาดการณ์ไว้ เชื่อว่านกแอร์จะได้รับผลกระทบไม่มากนัก

ขณะเดียวกัน นกแอร์มีแผนเพิ่มความถี่เที่ยวบินในภาพรวมขึ้นอีก 14% โดยจะเน้นการปรับตารางการบินให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดในแต่ละเส้นทางเป็นหลัก

“ในไตรมาส 4 ไปจนถึงปีหน้าเรามีแผนร่วมจัดกิจกรรมทางการตลาดกับแบรนด์อื่น ๆ โดยอาจนำสินค้าของแบรนด์ที่ร่วมมือ หรือแบรนด์ให้บริการบนเที่ยวบิน-สนามบิน พร้อมทั้งเน้นสื่อสารจุดเด่นของโปรดักต์ที่มีภายในห้องโดยสารที่เหนือกว่าคู่แข่งรายอื่น ในบรรดาสายการบินต้นทุนต่ำในไทย เช่น ช่องว่างระหว่างเบาะที่นั่งที่กว้างที่สุด เป็นต้น” ดร.วุฒิภูมิกล่าว

เปิดเลานจ์ดอนเมือง

นอกจากนี้ สายการบินยังมีแผนเปิดตัวห้องพักรับรอง (lounge) ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง ในเดือนตุลาคม 2565 นี้ รวมทั้งอยู่ระหว่างการศึกษาการให้บริการไว-ไฟบนครื่องบินอีกด้วย

ส่วนแผนการให้บริการ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมินั้น คาดว่าจะขยับไปเป็นช่วงต้นปี 2566 จากเดิมที่มีแผนจะเปิดให้บริการเส้นทางกรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ)-เชียงใหม่ ในช่วงปลายปี 2565 นี้

จ่อเปิดบินสู่ไต้หวัน-อินเดีย

ด้านเส้นทางบินต่างประเทศนั้น ดร.วุฒิภูมิกล่าวว่า ในไตรมาส 4 นี้สายการบินนกแอร์มีแผนเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางกรุงเทพฯ-โฮจิมินห์ จากเดิม 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์เป็น 1 เที่ยวบินต่อวัน, กรุงเทพฯ-ย่างกุ้ง จากเดิม 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 10 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และมีแผนเปิดเส้นทางบินกรุงเทพฯ-ไทเป (ไต้หวัน) ในช่วงปลายปีนี้ด้วย

ในส่วนเส้นทางญี่ปุ่นนั้นแม้ทางการญี่ปุ่นเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทางไปบ้างแล้ว แต่มองว่าเส้นทางญี่ปุ่นเป็นเส้นทางที่ชาวไทยให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ทำให้แต่ละสายการบินแข่งขันด้านราคาอย่างรุนแรง ประกอบกับระยะทางบินที่ไกลนั้นใช้น้ำมันปริมาณที่สูง ทำให้อาจมีผลกำไรกว่าเส้นทางอินเดียและจีน

สำหรับเส้นทางสู่ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดที่มีกระแสการเดินทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนั้นปัจจุบันรัฐบาลอินเดียยังคงกำหนดโควตาจำนวนที่นั่งเข้าออกใน 6 เมือง ซึ่งในส่วนของนกแอร์ อยู่ระหว่างการขออนุญาตสิทธิการบินเส้นทางเมืองรอง คาดว่าจะเปิดเที่ยวบินไปยังอินเดียได้ในช่วงปลายปีนี้ด้วยเช่นกัน

“ตลาดจีนยังต้องรอการผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 เป็นศูนย์ และผ่อนคลายมาตรการเข้าออกพรมแดน ซึ่งทิศทางน่าจะชัดเจนมากขึ้นหลังการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนในวันที่ 16 ตุลาคมนี้ ณ ปัจจุบันนกแอร์ทำการบินเส้นทางจีนอยู่ที่ 6 เที่ยวบินต่อเดือน” ดร.วุฒิภูมิกล่าว

ดัมพ์ราคาแย่งมาร์เก็ตแชร์

ดร.วุฒิภูมิยังถึงแนวโน้มการแข่งด้วยว่า หลายสายการบินยังคงใช้กลยุทธ์สงครามราคาเพื่อแย่งชิงผู้โดยสาร โดยพบว่าค่าเฉลี่ยราคาบัตรโดยสารในปัจจุบันต่ำกว่าช่วงเวลาก่อนการระบาดของโควิด-19 ซึ่งสะท้อนว่าสายการบินมีรายได้ต่อที่นั่งน้อยลง ภายใต้สถานการณ์ที่ต้นทุนราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น

โดยสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บางสายการบินเลือกทำสงครามราคานั้นอาจเกิดจากความต้องการกระแสเงินสด รวมถึงการเปิดขายที่นั่งล่วงหน้านาน ๆ ทำให้สายการบินคู่แข่งเดิมหรือรายใหม่ที่ต้องเข้ามาในตลาดทำงานยากขึ้น

“ขอฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าควรดูแลการแข่งขันด้านราคา รักษาให้สายการบินของคนไทยให้แข่งขันได้” ดร.วุฒิภูมิกล่าว

ต้นทุนน้ำมันพุ่ง-คนเที่ยวใน ปท.

ดร.วุฒิภูมิกล่าวต่อไปอีกว่า ปัจจุบันสายการบินมีรายจ่ายค่าเช่าเครื่องบิน ค่าซ่อมบำรุง ค่าน้ำมัน ฯลฯ เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเงินบาทอ่อนค่าลง ทำให้สายการบินได้รับผลกระทบจากต้นทุนทางค่าเงินที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ประกอบกับปัญหาความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน เป็นเหตุให้ราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูง สายการบินต้องแบกภาระค่าน้ำมันจากเดิมมีสัดส่วนราว 30% เพิ่มขึ้นเป็นสูงสุดถึง 40%

ขณะเดียวกันราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นสูง ส่งผลให้ค่าครองชีพของประชาชนปรับตัวเพิ่มขึ้น นักท่องเที่ยวชาวไทยที่ต้องออกเดินทางในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี อาจเลือกเดินทางภายในประเทศแทนการเดินทางไปต่างประเทศ นกแอร์ในฐานะที่เป็นสายการบินที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดเส้นทางในประเทศสูง จึงจะได้รับประโยชน์ในส่วนดังกล่าว

นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวที่เดินทางอาจเลือกใช้บริการสายการบินเพิ่มขึ้นจากความคุ้มค่ามากกว่าการขับรถยนต์ส่วนตัว

วอนรัฐช่วยอุ้มสายการบินต่อ

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท สายการบินนกแอร์ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า อยากขอบคุณหน่วยงานรัฐที่ช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยวในช่วงของวิกฤตการณ์โควิด-19 นี้ แต่จนถึงปัจจุบันธุรกิจยังต้องการมาตรการกระตุ้นการออกเดินทางในประเทศอยู่

จึงขอเสนอให้รัฐออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยววันธรรมดา เพื่อให้เกิดการหมุนเวียน การจ้างงานอย่างสม่ำเสมอไม่ใช่แค่ช่วงวันหยุดเท่านั้น

รวมถึงเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาลด หรืองดเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับธุรกิจการบิน เพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมการบินเดินหน้าต่อไปได้ เนื่องจากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสายการบินทุกค่ายประสบภาวะขาดทุนอย่างหนัก