โรงแรมหรูยอดจองพุ่ง ท่องเที่ยวไฮซีซั่นโตกระจุก รายเล็ก 3-4 ดาวยังกระอัก

โรงแรมหรู

ท่องเที่ยวไฮซีซั่นดันโรงแรมหรูยอดจองพุ่ง เผยอัตราเข้าพัก-จองล่วงหน้า 80-90% เผยนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่แห่จองโรงแรม 5 ดาว-ตั๋วบินชั้นบิสซิเนส สภาท่องเที่ยววอนรัฐบาลดูแลซัพพลายไซด์รายกลาง-เล็ก ด้าน ททท.ลุ้นนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ 28 ล้านคน

วันที่ 3 ธันวาคม 2566 นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์การท่องเที่ยวของไทยปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2566 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2567 เนื่องจากเป็นช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยว โดยโรงแรมกลุ่มไฮเอนด์ (luxury hotel) หรือกลุ่มในระดับ 4 ดาวและ 5 ดาวขึ้นมีอัตราการเข้าพักและอัตราการจองล่วงหน้าอยู่ในระดับ 80-90% โดยเฉพาะในกรุงเทพฯและจังหวัดภูเก็ต

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโรงแรมในเซ็กเมนต์ตลาดระดับกลาง ระดับ 3 ดาว และรายเล็กยังคงฟื้นตัวอยู่ในระดับที่ต่ำมาก หรือประมาณ 40-50% เนื่องจากกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเดินทางด้วยตนเอง (FIT) และเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ใช้จ่ายต่อทริปสูง และนิยมพักในโรงแรมระดับ 5 ดาวเป็นหลัก

“นักท่องเที่ยวที่ออกเดินทางในช่วงที่ผ่านมาส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มระดับบน มีกำลังซื้อสูง และสามารถจ่ายค่าเดินทางที่ปรับสูงขึ้นได้ ขณะที่กลุ่มที่เดินทางเป็นกรุ๊ปทัวร์ทั่วไปซึ่งส่วนใหญ่จะใช้บริการโรงแรมในระดับ 3-4 ดาวนั้น ยังไม่ฟื้นกลับมา โดยเฉพาะตลาดจีนที่ยังมีสัดส่วนเดินทางเข้ามาในจำนวนที่ต่ำเมื่อเทียบกับปี 2562” นางมาริสากล่าว

สอดรับกับนางสาวฤดีพรรณ เต็มชื่น ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจของ Trip.com group ที่กล่าวว่า ในช่วงหลังโควิดนักท่องเที่ยวมีการใช้จ่ายสูงขึ้นมาก นักท่องเที่ยวใช้จ่ายเพื่อให้ชีวิตมีคุณค่ามากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้าประเทศไทยปัจจุบันมีสัดส่วนการจอง โรงแรมในระดับ 5 ดาวสูงกว่าระดับ 4 ดาว

“ตอนนี้สัดส่วนการจองโรงแรม 5 ดาวคิดเป็นสัดส่วนกว่า 40% จากทั้งหมดที่จองเข้ามาพักในเมืองไทย สูงสุดเป็นอันดับ 1 จากเดิมสัดส่วนหลักอยู่ที่โรงแรมในระดับ 4 ดาว เช่นเดียวกับการจองบัตรโดยสารสายการบินก็พบว่ามีอัตราการจองบัตรโดยสารบิสซิเนสคลาสก่อนและเต็มต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางเซี่ยงไฮ้-กรุงเทพฯ หรือปักกิ่ง-กรุงเทพฯ” นางสาวฤดีพรรณกล่าว

ด้านนายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงภาพการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในภาพรวมว่า ปัจจุบันกลุ่มผู้ประกอบการที่ฟื้นตัวและอยู่รอดแล้วคือ กลุ่มระดับบน หรือลักเซอรี่เซ็กเมนต์ ส่วนกลุ่มระดับกลางและรายเล็กซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของตลาดยังไม่สามารถกลับมาฟื้นได้

“การเติบโตของซัพพลายไซด์ในวันนี้กระจุกตัวอยู่เฉพาะในเมืองท่องเที่ยวหลัก ๆ เท่านั้น เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต พัทยา ส่วนซัพพลายไซด์ในเมืองรองยังไม่ฟื้น” นายชำนาญกล่าว และว่าสภาท่องเที่ยวอยากเสนอเสนอให้รัฐบาลช่วยดูแลซัพพลายไซด์ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กในเมืองรองด้วย เพื่อให้ธุรกิจสามารถฟื้นกลับมารองรับนักท่องเที่ยวทุกเซ็กเมนต์ได้เหมือนในอดีต

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลของกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า ตั้งแต่ 1 มกราคม-26 พฤศจิกายน 2566 ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวสะสม 24,487,178 คน โดยนักท่องเที่ยวสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.มาเลเซีย จำนวน 3.98 ล้านคน 2.จีน จำนวน 3.05 ล้านคน 3.เกาหลีใต้ จำนวน 1.44 ล้านคน 4.อินเดีย จำนวน 1.43 ล้านคน และ 5.รัสเซีย จำนวน 1.25 ล้านคน

และหากประเมินรายเดือนจะพบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาอยู่ในระดับประมาณ 2 ล้านคนต่อเดือน และยังเติบโตในอัตราปกติ แม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายวีซ่าฟรีให้นักท่องเที่ยวจีน คาซัคสถาน ตั้งแต่ 25 กันยายน 2566 และไต้หวัน อินเดีย ตั้งแต่ 10 พฤศจิกายน 2566 

ขณะที่นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวย้ำว่า ททท.ยังคงกำหนดเป้าหมายมีนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2566 จำนวน 28 ล้านคน และมีรายได้การท่องเที่ยวรวมที่ 2.38 ล้านล้านบาท (ตลาดในประเทศ 8 แสนล้านบาท) โดยมีนักท่องเที่ยวจากตลาดระยะใกล้อย่างอินเดียและไต้หวัน ซึ่งได้วีซ่าฟรีชั่วคราวเช่นเดียวกัน ตลาดจีนเป็นตัวแปรช่วยผลักดัน