เศรษฐกิจโลก แนวโน้มยังไม่ดี การผลิตอ่อนแอทั้งสหรัฐ ยุโรป เอเชีย

โรงงาน จีน การผลิต
โรงงานในจีน (ภาพแจก จัดหาโดย AFP)

กิจกรรมการผลิตในเดือนพฤศจิกายน 2023 ของโรงงานในประเทศหลัก ๆ ทั่วโลกยังคงอ่อนแอ เนื่องจากอุปสงค์ยังน้อย สะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้าว่าจะยังไม่ฟื้นตัวดีขึ้นได้เท่าไรนัก

ดัชนีผู้จัดการฝายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐซึ่งจัดทำโดยเอสแอนด์พี โกลบอล (S&P Global) อยู่ที่ 49.4 จุด ลดลงจาก 50.0 จุดในเดือนตุลาคม ซึ่งค่า PMI ที่อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 นั้นบ่งชี้โน้มเศรษฐกิจว่าจะหดตัว

ส่วนในยุโรป รอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของยูโรโซนซึ่งจัดทำโดยธนาคาร “ฮัมบูร์ก คอมเมอร์เชียล แบงก์” (Hamburg Commercial Bank : HCOB) และรวบรวมโดย “เอสแอนด์พี โกลบอล” (S&P Global) นั้นยังคงอยู่ต่ำกว่า 50.0 

PMI ภาคการผลิตของยูโรโซนเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ 44.2 จุด สูงกว่าประมาณการเบื้องต้นที่ประมาณการไว้ 43.8 จุด และเพิ่มขึ้นจาก 43.1 จุดในเดือนตุลาคม ส่วน PMI แบบคอมโพสิต (เฉลี่ยถ่วงน้ำหนักทั้งภาคการผลิตและภาคการบริการ) ในเดือนพฤศจิกายนเพิ่มขึ้นเป็น 44.6 จุด จาก 43.1 จุดในเดือนตุลาคม 

HCOB เตือนว่า การปรับตัวดีขึ้นนั้นยังถือว่าเล็กน้อย และเร็วเกินไปที่จะเรียกว่าเป็นแนวโน้มขาขึ้น 

อย่างไรก็ตาม โฮลเกอร์ ชไมดิง (Holger Schmieding) จากธนาคารเบเรนเบิร์กกล่าวว่า แม้ว่าตัวเลขของยูโรโซนไม่ดีนัก แต่ก็ได้เห็น upward revision (การแก้ไขดีขึ้น) ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี เป็นสัญญาณว่าช่วงเวลาที่เลวร้ายน้อยลงกำลังจะมาถึง ช่วงเลวร้ายที่สุดสำหรับยูโรโซนจะจบลงในต้นปีหน้า  

ในเยอรมนีซึ่งเป็นประเทศที่ขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรป PMI อยู่ต่ำกว่า 50 จุด แม้ว่ามีสัญญาณดีขึ้นก็ตาม ขณะที่โรงงานในฝรั่งเศสได้รับความเดือดร้อนจากดีมานด์ที่อ่อนแออีกครั้ง 

ส่วนสหราชอาณาจักรซึ่งอยู่นอกสหภาพยุโรป มีสัญญาณเพิ่มเติมว่าอาจผ่านพ้นความยากลำบากในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำในระยะยาวได้ แต่บริษัทต่าง ๆ ก็ยังคงระมัดระวังการผลิตและการลงทุน ซึ่งเหนือกว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ 

ในฝั่งทวีปเอเชีย PMI ภาคการผลิตของจีนที่จัดทำโดยไฉซินและเอสแอนด์พีโกลบอล (Caixin/S&P Global manufacturing PMI) เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 50.7 ในเดือนพฤศจิกายน จาก 49.5 ในเดือนตุลาคม ซึ่งดีขึ้นกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์  

ตัวเลข PMI ที่จัดทำโดยไฉซินและเอสแอนด์พีโกลบอล ต่างจากตัวเลขการสำรวจอย่างเป็นทางการของจีนที่พบว่า กิจกรรมทั้งในภาคการผลิตและนอกภาคการผลิตหดตัวลง ซึ่งตอกย้ำถึงปัญหาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในประเทศจีน ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก 

“ตลาดในประเทศไม่สามารถชดเชยความสูญเสียในยุโรปและสหรัฐอเมริกาได้ ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าโรงงานต่าง ๆ กำลังผลิตน้อยลงและจ้างคนน้อยลง” แดน หวัง (Dan Wang) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ ฮั่งเส็ง แบงก์ ไชน่า (Hang Seng Bank China) กล่าว 

ขณะที่ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ซึ่งพึ่งพาการส่งออกในระดับสูงก็ยังเผชิญกับภาวะอุปสงค์ซบเซา ทำให้การผลิตในเดือนพฤศจิกายนยังคงซบเซา 

โทรุ นิชิฮามะ (Toru Nishihama) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ตลาดเกิดใหม่จากสถาบันวิจัย ได-อิจิ ไลฟ์ (Dai-ichi Life) กล่าวว่า เป็นเรื่องยากที่จะคาดหวังการฟื้นตัวในเอเชียในเร็ว ๆ นี้ แม้ว่าการส่งออกอาจจะถึงจุดต่ำสุดแล้ว แต่ก็ไม่สามารถเร่งตัวขึ้นจากจุดนี้ได้มากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกขาดตัวขับเคลื่อนการเติบโต 

PMI ภาคการผลิตเดือนพฤศจิกายนของญี่ปุ่นซึ่งจัดทำโดยธนาคารออ จีบุน (au Jibun Bank) ลดลงลงสู่ระดับ 48.3 จาก 48.7 ในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นการลดลงเร็วที่สุดในรอบ 9 เดือน

ส่วน PMI ของเกาหลีใต้ในเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ 50.0 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 49.8 ในเดือนตุลาคม เป็นการฟื้นตัวขึ้นครั้งแรกหลังจากอยู่ต่ำกว่า 50.0 มา 16 เดือนติดต่อกัน ถือเป็นการชะลอตัวยาวนานที่สุด นับตั้งแต่เริ่มมีการการสำรวจในเดือนเมษายน 2004 

ส่วนในไต้หวัน เวียดนาม และมาเลเซีย กิจกรรมการผลิตก็หดตัวเช่นกัน มีเพียงในอินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ที่กิจกรรมการผลิตขยายตัวขึ้น