เด็กกำพร้าสู่มหาเศรษฐี โรมัน อับราโมวิช รับบทเจรจาสันติ รัสเซีย-ยูเครน

โรมัน อับราโมวิช
Wall Street Journal reported March 28, 2022. (Photo by Justin TALLIS / AFP)

เจ้าของสโมสรฟุตบอล เชลซี แห่งเกาะอังกฤษ โรมัน อับราโมวิช ตกเป็นข่าวมาเป็นระลอกนับจากรัสเซียยกทัพบุกยูเครน เพราะถูกรัฐบาลชาติตะวันตกเล่นงาน ด้วยเชื่อว่าเป็นบุคคลใกล้ชิดและได้ดีมาจาก ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน

ก่อนถูกมาตรการแซงก์ชั่นจากรัฐบาลอังกฤษ มหาเศรษฐีชาวรัสเซีย ประกาศขายสโมสรเชลซีที่ตนเองซื้อมาเมื่อปี 2003  เพราะรู้ตัวว่าต้องถูกเช็กบิลในที่สุด ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ

Roman Abramovich / REUTERS/Andrew Winning//File Photo

ธุรกิจต่าง ๆ ของมหาเศรษฐีรัสเซียรายนี้ในอังกฤษ ถูกระงับดำเนินกิจการ เพราะอับราโมวิชถูกมองว่า เป็นคนวงในใกล้ชิดปูตินและถือว่ามีส่วนสนับสนุนให้รัสเซียรุกรานยูเครนไปโดยปริยาย

“การที่พวกเขามีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับปูตินนั้น เสมือนกับว่าได้เป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในการรุกรานครั้งนี้ไปด้วย มือพวกเขาเปื้อนเลือดของประชาชนชาวยูเครน” ลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษกล่าว

หลังถูกแซงก์ชั่นผันร่วมเจรจาสันติ

อับราโมวิชปฏิเสธมาตลอดว่าไม่ได้สนิทสนมกับผู้นำที่ทรงอิทธิพลของรัสเซีย แต่ก็หนีไม่พ้นโดนหางเลขในมาตรการแซงก์ชั่นที่ชาติยุโรปและอเมริการ่วมกันฟาดรัสเซียอย่างหนักหน่วง

 

เสี่ยหมีกล่าวกับแฟนบอลทีมเชลซี “ผมยังหวังว่าจะสามารถไปเยือนสนามสแตมฟอร์ดบริดจ์ได้เป็นครั้งสุดท้าย เพื่อบอกลาพวกคุณทุกคนด้วยตัวเอง”

อย่างไรก็ตาม หลังจากไม่มีโอกาสไปนั่งเชียร์เชลซีในสนามอีก “เสี่ยหมี” ไม่ได้หายหน้าไปไหน กลับปรากฏตัวร่วมคณะผู้แทนเจรจาสันติภาพ  ทั้งยังเป็นข่าวว่าต้องสงสัยถูกวางยาพิษระหว่างทริปไปร่วมเจรจาที่พรมแดนยูเครน-เบลารุส เมื่อช่วงต้นเดือน มี.ค. โดยมีอาการแสบตาและผิวหนังลอก

แต่ตกเป็นข่าวได้ไม่กี่วัน เมื่อ 29 มี.ค. อับราโมวิชก็ปรากฏตัวอยู่ในคณะเจรจาอีกที่นครอิสตันบูล ประเทศตุรกี เป็นนัดที่การเจรจาได้ผลคืบหน้า ว่ารัสเซียจะยุติปฏิบัติการทางทหารที่กรุงเคียฟ และเมืองทางเหนือของยูเครน

อับราโมวิชไปนั่งอยู่ในวงคณะเจรจาหาทางสงบศึก รัสเซีย-ยูเครน เมื่อ 29 มี.ค. (Turkish Presidency via AP)

วันที่ 31 มี.ค. นายเมฟลุต คาวูโซกลู รมว.ต่างประเทศตุรกี กล่าวชื่นชม อับราโมวิช ว่า แสดง “บทบาทที่เป็นประโยชน์” ในการยุติสงคราม ระหว่างการเจรจาที่อิสตันบูล

หากมรสุมครั้งนี้ลงเอยด้วยดี อับราโมวิชมีโอกาสที่จะเป็นที่จดจำของผู้คนในฐานะมือประสานสันติภาพ นอกเหนือไปจากการเป็นเจ้าของสโมสรเชลซีก็เป็นได้

เผยเบื้องหลังชีวิตเด็กกำพร้ายากจน

ด้าน บีบีซีไทย รายงานเจาะประวัติมหาเศรษฐีผู้เผชิญชะตาพลิกผันตั้งแต่เป็น เด็กชายโรมัน อับราโมวิช กำพร้าพ่อแม่ ตั้งแต่อายุ 3 ขวบ หลังจากเกิดเมื่อปี 1966 ที่เมืองซาราตอฟ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของรัสเซีย ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากพรมแดนยูเครนมากนัก

แม่ของเด็กน้อยเสียชีวิตเพราะโลหิตเป็นพิษ ขณะอับราโมวิชมีอายุได้เพียงขวบเดียว ในอีกสองปีต่อมาพ่อของเขาก็จากไปอีกคนเพราะอุบัติเหตุจากปั้นจั่นในพื้นที่ก่อสร้าง เขาจึงต้องย้ายไปอยู่กับญาติผู้มีฐานะยากจน ที่เมืองโคมีทางตะวันตกเฉียงเหนือซึ่งอากาศแสนหนาวเหน็บ

โรมัน อับราโมวิช
อับราโมวิชวัยหนุ่มถูกเกณฑ์ทหาร east2west news

“บอกตามตรง ชีวิตวัยเด็กของผมไม่ได้แย่นะ เพราะเด็ก ๆ ยังไม่รู้จักเปรียบเทียบ หากคนหนึ่งได้กินแครอตขณะที่อีกคนได้กินลูกกวาด พวกเขาจะบอกว่ามันอร่อยเหมือนกัน นั่นเพราะเด็ก ๆ ยังไม่รู้จักความแตกต่าง” อับราโมวิชเผยถึงชีวิตวัยเด็กที่ยากลำบาก กับสื่อ เดอะการ์เดียน ของอังกฤษ

เขาออกจากโรงเรียนเมื่ออายุ 16 ปี มาทำงานเป็นช่างซ่อมรถยนต์ ก่อนจะเข้าเป็นทหารเกณฑ์ในกองทัพแดงของรัสเซีย เมื่อปลดประจำการแล้วเขาผันตัวมาเป็นพ่อค้าขายของเล่นพลาสติกในกรุงมอสโก ก่อนจะหันมาขายน้ำหอมและยาระงับกลิ่นกาย

อับราโมวิชกับเพื่อนๆ ที่กรุงมอสโก / EAST2WEST NEWS

อับราโมวิชค่อย ๆ สั่งสมความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นทีละน้อย ในยุคของอดีตประธานาธิบดีมิกฮาอิล กอร์บาชอฟ ที่เศรษฐกิจรัสเซียเปิดกว้างให้โอกาสนักลงทุนหน้าใหม่มากขึ้น

การล่มสลายของสหภาพโซเวียต และการเปิดเสรีในอุตสาหกรรมเกี่ยวกับแร่ธาตุและทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้อับราโมวิชในวัยราว 25 ปี สบโอกาสเพิ่มพูนความมั่งคั่งให้กับตนเองอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด ถึงขั้นเข้าแย่งซื้อกิจการบริษัทน้ำมัน Sibneft ซึ่งเคยเป็นของรัฐได้ในปี 1995

อับราโมวิชลงทุนจ่ายเงินในการประมูลที่ถูกกล่าวหาว่ามีการฉ้อโกงเพียง 250 ล้านดอลลาร์ หรือราว 8,250 ล้านบาท แต่ในอีกสิบปีต่อมา เขาขายคืนกิจการดังกล่าวให้รัฐบาลรัสเซียในราคาถึง 13,000 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 4.3 แสนบาท เลยทีเดียว

แต่งงานกับภรรยาคนแรก โอกลา เมื่อปี 1987 ที่มอสโก / east2west news

ทนายความของอับราโมวิชระบุว่า ไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่ยืนยันถึงการได้มาซึ่งทรัพย์สินของเขาว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม อับราโมวิชยอมรับต่อศาลของสหราชอาณาจักรในปี 2012 ว่า เขาได้จ่ายสินบนเพื่อให้การขายคืนบริษัทน้ำมัน Sibneft เป็นไปอย่างราบรื่น

ช่วงทศวรรษ 1990 อับราโมวิชยังได้เข้าร่วมชิงชัยในสมรภูมิทางธุรกิจที่เรียกว่า “สงครามอะลูมิเนียม” ของรัสเซีย ซึ่งบรรดาเศรษฐีใหม่ผู้สะสมเงินทองและอิทธิพลทางการเมืองมาจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต พากันแก่งแย่งเพื่อเข้าครอบครองอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มูลค่ามหาศาลนี้

อับราโมวิชเล่าเรื่องดังกล่าวไว้เมื่อปี 2011 ว่า “มีคนถูกฆ่าตายทุกสามวัน” จนทำให้เขาลังเลที่จะเข้าร่วมการแก่งแย่งแข่งขันดังกล่าวในตอนแรก เพราะเสี่ยงต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของเขามากเกินไป แต่ในที่สุดเขาได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความแข็งแกร่งอดทนที่ยากจะมีผู้ใดเทียบได้ จนสามารถทำกำไรจากธุรกิจอะลูมิเนียมได้นับพันล้านดอลลาร์

เข้าสู่แวดวงการเมือง

อับราโมวิชเริ่มได้ใกล้ชิดผู้มีอำนาจบารมีทางการเมืองของรัสเซีย หลังก้าวเข้ามาเป็นพันธมิตรของ อดีตประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน ซึ่งเขาสนิทสนมด้วยอย่างมาก จนถึงขนาดมีห้องชุดส่วนตัวในพระราชวังเครมลินเลยทีเดียว

เยลต์ซิน – ปูติน

นอกจากนี้ อับราโมวิชยังลงเล่นการเมืองยุคใหม่หลังสหภาพโซเวียตล่มสลายด้วยตนเอง โดยเป็นผู้หนึ่งที่สนับสนุนให้นายวลาดิมีร์ ปูติน นายกรัฐมนตรีและอดีตสายลับเคจีบี ได้ขึ้นเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งผู้นำประเทศต่อจากนายเยลต์ซิน ในปี 1999

ต่อมาเมื่อประธานาธิบดีปูตินมีอำนาจมั่นคงแล้ว เขาพยายามแสดงความเหนือกว่าต่อบรรดาผู้ทรงอิทธิพลวงในที่กระด้างกระเดื่องไม่จงรักภักดี บ้างก็ถูกจำคุกหรือต้องลี้ภัยไปยังต่างประเทศ แต่อับราโมวิชไม่เคยต้องรับเคราะห์จากความหวาดระแวงของปูตินเหมือนกับคนอื่นเลย

อับราโมวิช เข้าพบปูติน ที่ทำเนียบเครมลิน เมื่อปี 2005 / Reuters

ในปี 2000 เขายังได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการภูมิภาคชูคอตกา เขตที่ยากจนและด้อยพัฒนาทางตะวันออกเฉียงเหนือสุดของรัสเซีย เขาใช้ทรัพย์สินส่วนตัวลงทุนสร้างบริการสาธารณะต่าง ๆ จนเป็นผู้ว่าการภูมิภาคที่ได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างสูง กระทั่งเขาก้าวลงจากตำแหน่งในปี 2008

ซื้อสโมสรฟุตบอลของกรุงลอนดอน

อับราโมวิชนั้นได้ชื่อว่าเป็นคนพูดน้อย ทั้งยังชอบเก็บตัวเงียบ จนดูเหมือนเป็นคนขี้อายที่พยายามหลีกหนีสังคมและชื่อเสียง แต่หลังจากตัดสินใจซื้อสโมสรฟุตบอลเชลซีของอังกฤษด้วยเงิน 140 ล้านปอนด์ในปี 2003 อับราโมวิชได้กลายเป็นคนดังระดับโลกไปในชั่วข้ามคืน

เขาเผยกับหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ว่า “หลักปรัชญาทั้งหมดในชีวิตของผมก็คือการสร้างทีมมืออาชีพ ที่ชูคอตกาผมมีทีมมืออาชีพประจำถิ่นอยู่ทีมหนึ่งแล้ว และผมจะทำเช่นเดียวกันกับที่นี่ด้วย”

Chelsea’s Russian owner Roman Abramovich applauds, as players celebrate their league title at Stamford Bridge in London on May 21, 2017.  (Photo by Ben STANSALL / AFP) /

ภายใต้การบริหารทีมของโชเซ มูรินโญ ความมั่งคั่งของอับราโมวิชช่วยให้ทีมฟุตบอลเชลซีคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกถึง 5 ครั้ง ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 2 ครั้ง และแชมป์เอฟเอคัพอีก 5 ครั้ง

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เงินทองจากมหาเศรษฐีผู้มีอิทธิพลทางการเมืองของรัสเซีย ได้ไหลเข้าซื้อทรัพย์สินหรูหรามูลค่าสูงในกรุงลอนดอนอย่างท่วมท้น

Photo by GLYN KIRK / AFP

อับราโมวิชเองนั้น เขามีคฤหาสน์ 15 ห้องนอน ในย่านใกล้สวนพระราชวังเคนซิงตันทางตะวันตกของกรุงลอนดอน ซึ่งคาดว่ามีมูลค่ากว่า 150 ล้านปอนด์

นอกจากนี้ อับราโมวิชซึ่งผ่านการหย่าร้างมาแล้ว 3 ครั้ง ยังมีห้องชุดในย่านเชลซีของกรุงลอนดอน บ้านไร่ที่รัฐโคโลราโดของสหรัฐ และบ้านพักตากอากาศชายทะเลที่เฟรนช์ริเวียราของฝรั่งเศสด้วย เรือยอชต์ของเขาทั้งสองลำที่ชื่อ Solaris และ Eclipse จัดว่าเป็นหนึ่งในบรรดาเรือยอชต์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

คดีหมิ่นประมาท

แม้จะร่ำรวยมหาศาล แต่อับราโมวิชบอกกับหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนเมื่อปี 2006 ว่า “เงินไม่สามารถซื้อความสุขให้คุณได้ แต่พอซื้อความเป็นอิสระได้บ้าง”

สื่อบลูมเบิร์กประมาณการว่าเขามีทรัพย์สินทั้งหมด 13,700 ล้านดอลลาร์ และเป็นมหาเศรษฐีอันดับที่ 128 ของโลก ในขณะที่นิตยสารฟอร์บส์ประมาณการไว้ต่ำกว่าที่ 12,300 ล้านดอลลาร์  เป็นมหาเศรษฐีอันดับที่ 142 ของโลก

เรือยอชต์โซลาริส ของอับราโมวิช จอดอยู่ใกล้รีสอร์ตโบดรัมของตุรกี เมื่อ 21 มี.ค.(IHA via AP)

แต่สิ่งน่าสงสัยที่สุดในสายตาผู้คนทั่วโลกขณะนี้ก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับประธานาธิบดีปูตินนั้นแนบแน่นแค่ไหน เขาเป็นอิสระทางการเมืองจากผู้นำรัสเซียได้มากน้อยเพียงใดกันแน่

เมื่อปีที่แล้วอับราโมวิชยื่นฟ้องสำนักพิมพ์คัสตอมเฮาส์-ฮาร์เปอร์คอลลินส์ ในคดีหมิ่นประมาท เนื่องจากหนังสือ “คนของปูติน” (Putin’s People) ที่เขียนโดยแคเทอรีน เบลตัน อ้างว่าผู้นำรัสเซียสั่งให้อับราโมวิชเข้าซื้อสโมสรฟุตบอลเซลซี

แม้ในเวลาต่อมาทั้งสองฝ่ายจะสามารถไกล่เกลี่ยกันได้ในศาล สำนักพิมพ์ยอมแก้ไขรายละเอียดบางตอนในหนังสือให้ชัดเจนขึ้น แต่อับราโมวิชยังไม่อาจสลัดภาพลักษณ์ความเป็นคนของปูตินให้หลุดออกไปได้