คืนกำไรให้ลูกค้า

กำไร เงินบาท
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : อำนาจ ประชาชาติ

บรรดาแบงก์พาณิชย์ประกาศผลประกอบการงวดไตรมาส 3/2565 และงวด 9 เดือนแรกปี 2565 ออกมากันหมดแล้ว

โดย 3 ไตรมาสแรก แบงก์กำไรสุทธิรวมกันมากกว่า 1.5 แสนล้านบาท

เรียกได้ว่า กลับสู่ภาวะปกติแล้ว

จากวิกฤตโควิดที่คลี่คลาย การปรับโครงสร้างหนี้คืบหน้า ลูกหนี้ส่วนใหญ่สามารถไปต่อได้ กลับมาชำระหนี้เป็นปกติ

ส่งผลให้ความจำเป็นในการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญลดลงไป

สามารถดึงกลับมาเป็นกำไรได้

ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจที่ฟื้นตัว มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ก็ทำให้ความต้องการสินเชื่อมีมากขึ้น แบงก์จึงมีรายได้จากการปล่อยกู้กันเป็นกอบเป็นกำมากขึ้น

อย่างไรก็ดี มองไปข้างหน้า แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ แต่ก็ฟื้นอย่างเชื่องช้า

เศรษฐกิจยังไม่ทันฟื้นตัวเต็มที่ ก็ต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะปัญหาเงินเฟ้อ ต้นทุนธุรกิจ ค่าครองชีพประชาชนพุ่ง

แล้วถ้าปีหน้า เศรษฐกิจโลกเข้าสู่โหมดถดถอยอีก ส่งออกก็คงชะลอ ซึ่งไทยเราก็คงจะหวังพึ่งภาคท่องเที่ยว แต่ก็ยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับมาเป็นปกติ

และไม่รู้ว่าเศรษฐกิจไทยจะโตได้อย่างเต็มศักยภาพเมื่อไหร่

แน่นอนว่า สิ่งที่น่ากังวล ก็คือ ทิศทางดอกเบี้ยที่เป็นแนวโน้ม “ขาขึ้น” เพราะกระทบกับความสามารถในการชำระหนี้ กระทบกับต้นทุนธุรกิจที่สูงขึ้น

“ดร.อมรเทพ จาวะลา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย มองว่า ดอกเบี้ยจะขึ้นต่อเนื่อง โดยปัญหาเงินเฟ้อสูงมีแนวโน้มลากยาวไปปีหน้า แม้เงินเฟ้อไทยเดือน ก.ย.อยู่ที่ 6.41% ต่อปี ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 7.86% ต่อปี แต่จะเริ่มเห็นการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าแบบเดือนต่อเดือนต่อเนื่อง หลังมีหลากหลายสินค้าทยอยปรับราคาขึ้นหลังเปิดเมือง

“แม้ราคาน้ำมันจะปรับลดลง แต่ค่าไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน และราคาอาหารสดปรับสูงขึ้น มองต่อไป เมื่อเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวในช่วงที่เงินเฟ้อเกินกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ระดับ 1-3% ทาง ธปท.น่าจะทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นไปจนถึงระดับ 2.00% เป็นอย่างน้อยภายในช่วงกลางปีหน้า”

“ดร.อมรเทพ” ยังชี้ว่า กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กในต่างจังหวัดที่ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวและพึ่งพิงภาคเกษตรยังอ่อนแอ แม้การส่งออกสินค้าเกษตรจะเติบโตได้ดี แต่เกษตรกรมีรายได้หักค่าใช้จ่ายลดลง เพราะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วและโตเร็วกว่าราคาสินค้าเกษตร ประกอบกับปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ยังกดดันกำลังซื้อต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีหนี้สูง

กลุ่มเหล่านี้น่าเป็นห่วง หากต้องเจอกับภาวะดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

ยังดีที่ถึงตอนนี้ แบงก์ต่าง ๆ ยังปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้กันแบบไม่รุนแรงนัก

หลายแบงก์เลือกที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยของรายย่อยให้น้อยที่สุด หรือบางแบงก์ไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ของรายย่อยเลย

เป็นเรื่องที่น่าชื่นชม

ถือเป็นการคืนกำไรให้ลูกค้าบ้าง ในภาวะที่หลายคนยังชักหน้าไม่ถึงหลังนี้