
นับเป็นครั้งที่ 4 ต่อเนื่องแล้ว ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ต่อปี ในการประชุมครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 25 ม.ค. หรือรวม ๆ แล้ว ปรับดอกเบี้ยขึ้นมาแล้ว 1% ต่อปี นับตั้งแต่เดือน ส.ค. 2565 โดยรอบนี้ทำให้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.50% ต่อปี
แบงก์รัฐสุดอั้นขึ้นดอกกู้ 0.25%
ไม่ว่าอย่างไร การขึ้นดอกเบี้ยของ กนง.รอบนี้ ส่งผลให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (แบงก์รัฐ) ต้องออกมาประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ในทันที หลังจากที่ผ่านมา พยายามตรึงไว้มาตลอด แม้ว่า กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยถึง 3 ครั้งก่อนหน้านี้ โดยปรับขึ้นแต่ดอกเบี้ยเงินฝากตามทิศทางตลาด
- เปิดชื่อ 10 อันดับโรงเรียนดัง กทม. นักเรียนแห่สมัครสอบเข้า ม.1 สูงสุด
- Café Amazon เฉลยเอง ไวรัลนกหน้าร้านสะดวกซื้อ กำลังจะเกิดอะไรขึ้น?
- ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม เสียชีวิต อายุ 55 ปี หลังซ้อมแข่งรถที่บุรีรัมย์
เริ่มจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท 0.25% ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค. 2566 เป็นต้นไป ประกอบด้วย ดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) มเป็น 6.40% ต่อปี, ดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) เป็น 6.00% ต่อปี และดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้เบิกเกินบัญชี (MOR) เป็น 6.15% ต่อปี
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ขึ้นอัตราดอกเบี้ย prime rate (อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ สำหรับลูกค้าทั่วไปและลูกค้า SMEs เทียบเท่า MRR ของธนาคารพาณิชย์) 0.25% เป็น 6.00% ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2566 เป็นต้นไป
ขณะที่ธนาคารออมสิน ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ทุกประเภท 0.25% ผ่านทางเว็บไซต์ของธนาคาร โดย MRR ปรับเป็น 6.495%, MOR เป็น 6.245% และ MLR เป็น 6.400% มีผลตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค. 2566 เป็นต้นไป
ด้านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D BANK ประกาศในเว็บไซต์ธนาคาร ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำ (MLR) จาก 0.675% เป็น 7% มีผลมาตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค. 2566
ฟากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท 0.125-0.25% ต่อปี โดย MRR ปรับขึ้น 0.125% เป็น 6.625%, MLR ปรับขึ้น 0.25% เป็น 5.125% และ MOR ปรับขึ้น 0.25% เป็น 6.50% มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2566 เป็นต้นไป
BBL ขึ้นดอกกู้-ฝากออมทรัพย์
ฝั่งธนาคารพาณิชย์ ก็มีธนาคารกรุงเทพ (BBL) ที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงียบ ๆ โดยประกาศผ่านเว็บไซต์ธนาคาร มีผลตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค. 2566 ซึ่งเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท 0.15-0.20% ได้แก่ MLR ปรับขึ้น 0.20% เป็น 6.45%, MOR ปรับขึ้น 0.15% เป็น 6.90% และMRR ปรับขึ้น 0.15% เป็น 6.80%
ทั้งนี้ BBL ยังปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากสะสมทรัพย์ 0.05% จาก 0.45% เป็น 0.50% อีกด้วย
สินเชื่อบ้านทยอยขยับ
นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า กนง.ยังส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง เพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง และสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี ในแง่ผลกระทบต่อลูกค้ารายย่อย จะมีบางผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เช่น สินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต เนื่องจากเป็นการอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยคงที่ ส่วนกลุ่มสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเช่าซื้อ จะพบว่าก่อนหน้านี้ ดอกเบี้ยเช่าซื้อได้ปรับเพิ่มขึ้นไปแล้ว ส่วนดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านกำลังทยอยปรับขึ้น
โดยประเมินว่าหากดอกเบี้ยปรับขึ้นไม่ถึง 1% จะยังไม่กระทบต่อค่างวด ซึี่งทุก ๆ 1% ที่ปรับขึ้น คาดว่าจะกระทบค่างวดประมาณ 8-10%
ดังนั้น ผู้กู้จะต้องเตรียมตัวรับมือกับภาระค่างวดที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มรายได้ปานกลาง และมีรายได้คงที่จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เนื่องจากจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และรายได้เริ่มบางลง
เอสเอ็มอีแบกภาระเพิ่ม
ด้านกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ที่มีการอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (floating rate) ยอมรับว่าได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น แต่ผลกระทบจะต้องดูตามประเภทของอุตสาหกรรม หากเป็นกลุ่มที่มีรายได้ต่อเนื่อง เชื่อว่ากลุ่มยังสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ เนื่องจากต้นทุนดอกเบี้ยคิดเป็น 3-5% ของต้นทุนในกิจการทั้งหมด ดังนั้น ดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นกระทบบางส่วน แต่ก็มีต้นทุนอื่น ๆ ที่กระทบต่อธุรกิจด้วย
“กนง.ส่งสัญญาณชัดเจนว่ายังคงต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อ โดยในช่วงที่ผ่านมา เข้าใจว่าดอกเบี้ยยังปรับไม่ถึง 1% ผลกระทบต่อลูกค้าทยอยเริ่มเห็น ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งกดดันกำลังซื้อและการจ่ายหนี้ โดยเรามีการประเมินว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) คงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
และเป็นสิ่งที่แบงก์ต้องติดตาม โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ในช่วงจังหวะที่ดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น ดังนั้น ผู้กู้จำเป็นต้องเตรียมตัวไว้ เพราะรายได้ต่อภาระหนี้จะบางลง” นางสาวธัญญลักษณ์กล่าว
คงต้องติดตามว่า จะมีแบงก์พาณิชย์อื่น ๆ ขยับปรับขึ้นดอกเบี้ยตามกันอีกแค่ไหน
อย่างไรก็ตาม จากการส่งสัญญาณของ กนง.รอบนี้ ทำให้คาดการณ์กันว่า ทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทย น่าจะยังไม่ถึงจุดสูงสุดในเร็ว ๆ นี้ ดังนั้นลูกหนี้ควรจะวางแผนรับมือกันไว้ให้ดี
- จับตาธนาคารกลางขยับดอกเบี้ย คาดเฟดขึ้น 0.25% หนุนบาทแข็งค่า
- เงินบาทแข็งค่าสุดรอบ 10 เดือน จับตาปัจจัยสำคัญสัปดาห์หน้า ผลประชุมเฟด
- Kbank คาดบาทแข็งทั้งปี ลุ้นนักท่องเที่ยวทะลัก 30 ล้านคนดันเศรษฐกิจโต
- คลังคงจีดีพีปีนี้โต 3.8% รายได้ท่องเที่ยวพุ่ง1.2 ล้านล้าน ส่งออกเสี่ยงติดลบ
- ธปท. ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% แบงก์ไหนขึ้นตามแล้วบ้าง
- กนง.ยัน เงินบาทแข็งค่านับตั้งแต่ต้นปี 4-5% ไม่มีสัญญาณเก็งกำไร