สธ.แถลง พบผู้ติดเชื้อ “โอไมครอน” รายแรกในประเทศไทย

REUTERS/Chalinee Thirasupa

กรมวิทย์ฯ ยอมรับพบผู้ป่วย “โอไมครอน” รายแรกของไทย เดินทางมาจากสเปน ย้ำประชาชนอย่ากังวล จ่อเพิ่มมาตรการตรวจจีโนมถี่ขึ้น-เข้มชายแดนมาเลเซีย ศบค.แจงไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อละเอียดยิบ

วันที่ 6 ธันวาคม 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเฝ้าระวังสายพันธุ์โอไมครอนว่า ปัจจุบันภาพรวมการติดเชื้อโควิดในประเทศไทยเกือบ 100% ยังคงเป็นสายพันธุ์เดลต้า มีอัลฟ่าเล็กน้อย ส่วนเบตhาอยู่ในพื้นที่วงจำกัด ขณะที่สัปดาห์ก่อนมีการสุ่มตรวจหาสายพันธุ์โควิดราว 800 ราย ส่วนใหญ่ยังเป็นเดลตhามากถึง 99.87%

ส่วนเกณฑ์ในการสุ่มตรวจสายพันธุ์โควิด จะพิจารณาจากผู้ป่วยมีอาการหนัก เดินทางมาจากต่างประเทศ หรือเกิดคลัสเตอร์แบบไม่ทราบสาเหตุขึ้น ซึ่งโดยปกติจะมีการตรวจ 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.RT-PCR ใช้เวลา 1-2 วัน 2.Target Sequencing ดูรหัสพันธุกรรม ใช้เวลา 3 วัน และ 3.ตรวจจีโนม ตรวจรหัสพันธุกรรมเชื้อโควิดทั้งหมดใช้เวลาราว 7 วัน

สำหรับโควิดโอไมครอนจะดูการกลายพันธุ์ได้ที่การพบการกลายพันธุ์ที่ del69-70 และ K417N ซึ่งช่วงที่ผานมาพบผู้ต้องสงสัยว่า ติดโอไมครอน 1 ราย เป็นชายชาวอเมริกัน เดินทางมาจากประเทศสเปน ในรูปแบบ Test and Go แต่ยังไม่ทราบว่าได้เดินทางไปในพื้นที่แอฟริกาหรือไม่

ทั้งนี้ จากการตรวจหารหัสพันธุกรรมของไวรัสโควิด พบมีการกลายพันธุ์ 3-4 ตำแหน่ง ได้แก่ del69-70, K417N, T478K และ N501Y ซึ่งยืนยันได้ว่า 99.92% เป็นโควิดสายพันธุ์โอไมครอน แต่ทั้งนี้ได้มีการตรวจจีโนมในวันที่ 3 ธ.ค. เพื่อยืนยันเพิ่มเติม

แสดงว่าขณะนี้ประเทศไทยพบสายพันธุ์โอไมครอนเป็นรายแรกในประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และคาดว่าจะมีรายต่อ ๆ ไปตามมา แต่ขอประชาชนอย่าเพิ่งตื่นตระหนก ในส่วนของมาตรการต่อจากนี้ไปจะมีการสุ่มตรวจจีโนมมากขึ้น โดยเฉพาะชายแดนมาเลเซียที่พบมีการติดโควิดโอไมครอนเช่นเดียวกัน

ทางด้านศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19(ศบค.) สรุปรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับประวัติของผู้ติดเชื้อโอไมครอนรายนี้ว่า ไม่มีอาการแสดงของโรค ไม่มีโรคประจำตัว และไม่มีประวัติการตรวจพบเชื้อโควิดมาก่อนในอดีต  เมื่อวันที่ 29 พ.ย.บินมาจากสเปน และวันที่ 1 ธ.ค.ได้รับแจ้งจากรพ.ว่าตรวจพบเชื้อโควิด-19(รายละเอียดตามกราฟิกด้านล่าง)