4 ยักษ์ญี่ปุ่นพร้อมชน EV จีน ดีมานด์เต็มพฤติกรรมเปลี่ยน

Honda SUV ePrototype

4 ประธานใหญ่ค่ายรถญี่ปุ่นลั่นพร้อมชน EV แบรนด์จีน ประกาศ “ปักธง” สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน “ฮอนด้า” พร้อมขึ้นไลน์ปลายปีนี้ ประเดิมด้วย SUV “โตโยต้า” ส่ง “ไฮลักซ์ บีอีวี” เขย่าตลาด “มิตซูบิชิ มอเตอร์” ลั่นปล่อยจีนสร้างดีมานด์และอีวีอีโคซิสเต็มให้พร้อมก่อน ย้ำศักยภาพแข่งขันได้สบาย ๆ ส.อ.ท.ปลื้มปีนี้รถ EV ทะลุ 4 หมื่นคัน 2 เดือนแรกโต 700%

ถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าทึ่งสำหรับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเรา ที่ขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยมีปัจจัยจากการสนับสนุนของภาครัฐและความหลากหลายของโปรดักต์ โดยเฉพาะแบรนด์จีน ส่งผลให้ซีอีโอค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นเกือบทุกแบรนด์ที่ก่อนหน้านี้แบ่งรับแบ่งสู้กับการบุกตลาด EV ในบ้านเราถึงกับออกปากตรงกันว่า พร้อมแล้วที่จะชนกับ EV จีน

ฮอนด้าขึ้นไลน์ผลิตปลายปี

โดยค่ายแรกที่ประกาศความชัดเจนคือ “ฮอนด้า” หลังเข้าไปทำ MOU เพื่อเข้ามาตรการสนับสนุนทั้งเงินอุดหนุนและส่วนลดภาษี โดยแหล่งข่าวฝ่ายบริหาร บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าแผนงานที่ประธานใหญ่ นายโนริยุกิ ทาคาคุระ คาดการณ์คือฮอนด้าจะผลักดันรถยนต์กลุ่ม xEV ในประเทศไทยให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้มากที่สุด พร้อมทั้งเตรียมแผนขึ้นไลน์ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 100% (อีวี) ที่โรงงานประกอบรถยนต์ฮอนด้า สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดปราจีนบุรี

หลังจากบริษัทได้ขอรับการส่งเสริมการลงทุนไปก่อนหน้านี้ ซึ่งตามแผนงานฮอนด้าจะเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 100% ออกสู่ตลาดประเทศไทยอย่างเป็นทางการในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้อย่างแน่นอน ทั้งนี้ รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นดังกล่าวยังเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมการใช้รถ EV ซึ่งกรมสรรพสามิตให้เงินอุดหนุนผู้ซื้อคันละ 150,000 บาท และลดภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2% ด้วย

ตามแผนธุรกิจของบริษัท หลังจากที่บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ได้ขอส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 เพื่อขยายกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (hybrid electric vehicles-HEV) และแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เงินลงทุนทั้งสิ้น 5,821 ล้านบาท ซึ่งบริษัทมีแผนใช้วัตถุดิบภายในประเทศ เช่น ล้อรถยนต์ ชิ้นส่วนตัวถังรถยนต์ กันชนหน้า/หลัง ชุดสายไฟ เป็นต้น คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,766 ล้านบาท รวมทั้งยังมีแผนในการผลิตชิ้นส่วนอื่นภายในประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนการนำเข้าในอนาคต

ปล่อยจีนกรุยทางก่อน

ด้านนายทาคาโอะ คาโตะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยถึงโอกาสและแนวทางการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้า 100% หรือ BEV ในประเทศไทยว่า ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อพัฒนารถกระบะ EV อยู่ เนื่องจากต้องการเดินไปสู่แนวทางความเป็นกลางทางคาร์บอน ก่อนหน้านี้บริษัทได้ประกาศแผนธุรกิจระยะกลางออกมา จะมีการพัฒนารถยนต์เพื่อตอบโจทย์ตลาดอาเซียนเพิ่มมากขึ้น โดยได้เตรียมการในการพัฒนารถยนต์รุ่นต่าง ๆ และจะมีการเปิดตัวออกมาในตลาด และแน่นอนว่าก็จะมีรถ EV ออกสู่ตลาดด้วย

ทั้งนี้ ประเทศไทยถือว่าเป็นตลาดที่มีความสำคัญของมิตซูบิชิ เนื่องจากในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนธุรกิจการส่งออก โดยนโยบายของภาครัฐมีส่วนช่วยทำให้มิตซูบิชิสามารถที่จะขยายเศรษฐกิจของประเทศไทยได้อย่างกว้างขวาง สำหรับแผนธุรกิจจากนี้ มิตซูบิชิพร้อมจะแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ และโมเดลใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดอาเซียนเกือบทุกปี รวมถึงตลาดประเทศไทยด้วย

“รัฐบาลไทยให้การสนับสนุนรถ BEV ออกมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งมองว่าคงจะต้องมีการพัฒนาสินค้าออกมาเพื่อรองรับนโยบายของภาครัฐต่อไป เราต้องการที่จะยกระดับบทบาทของเราในตลาดประเทศไทยไม่ให้แพ้ผู้ผลิตจากประเทศจีนที่ลวงหน้ากันไปก่อน พร้อมทั้งสร้างดีมานด์รวมถึงพฤติกรรมการใช้รถ EV ของลูกค้าชาวไทย และจะมีแบรนด์ใหม่ ๆ เข้ามาเสริมตลาดเพิ่มมากขึ้น คาดว่าภายใน 5 ปีจากนี้น่าจะได้เห็นรถอีวีของมิตซูบิชิในตลาดประเทศไทยแน่นอน”

โฟกัสต้องเหนือแบรนด์จีน

นายคาโตะยังกล่าวถึงแผนการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยว่า สิ่งสำคัญยังต้องรอดูในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยว่ามีความพร้อมและความสามารถที่จะรองรับต่อการใช้งานรถ EV ในจำนวนมาก ๆ ได้หรือไม่

ทั้งนี้ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส จะพยายามแข่งขันกับแบรนด์รถจากจีน โดยเฉพาะเรื่องของการออกแบบดีไซน์ที่ล้ำสมัย ประกอบกับคุณภาพที่มีการพัฒนามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมิตซูบิชิมองว่าการที่จะแข่งขันกับผู้ผลิตจากประเทศจีน คิดว่าเรื่องของดีไซน์นั้นน่าจะมีโอกาสพัฒนารถของมิตซูบิชิเราให้ชัดเจนโดดเด่นเหนือแบรนด์จีนได้

โตโยต้าชู “รีโว่ EV”

นายโนริอากิ ยามาชิตะ ประธานบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยถึงนโยบายเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนว่า โตโยต้าพยายามนำเสนอพลังงานทางเลือกที่หลากหลาย เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และอยากนำเสนอภาครัฐให้พิจารณา เพื่อส่งเสริมพลังงานทางเลือกอื่น ๆ ด้วย นอกจากรถยนต์ไฟฟ้า 100%

ทั้งในส่วนของมาตรการสนับสนุนและส่งเสริมทางด้านภาษี และมาตรการสนับสนุนเพื่อกระตุ้นทางด้านต่าง ๆ เนื่องจากปัจจุบันมีเทคโนโลยีพลังงานที่หลากหลายของรถยนต์เพื่อเดินไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ ไม่เฉพาะแค่พลังงานรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น

อย่างที่ผ่านมาโตโยต้าได้นำเข้ารถยนต์มิไร ที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนมาใช้ทดสอบที่เมืองสะอาดที่พัทยา หรือล่าสุดรถยนต์ ไทยแลนด์ แท็กซี่ (เจแปน แท็กซี่) ซึ่งเป็นรถยนต์ไฮบริด-แอลพีจี มาทดสอบ และก่อนหน้านี้ได้แนะนำรถยนต์ไฟฟ้า bZ4x ออกสู่ตลาดประเทศไทย รวมทั้งเร็ว ๆ นี้ โตโยต้าจะมีการแนะนำรถไฮลักซ์ รีโว่ BEV รถกระบะไฟฟ้า 100% ออกสู่ตลาดประเทศไทยด้วย ซึ่งจะเห็นว่ารถยนต์พลังงานทางเลือกที่หลากหลายมีความเป็นกลางทางคาร์บอนเช่นเดียวกัน

ส่งไฮบริด ลุยตลาดอีก 4 รุ่น

นอกจากแผนเปิดตัวรถกระบะไฟฟ้า 100% ไฮลักซ์ BEV แล้ว โตโยต้ายังมีแผนที่จะนำเข้ารถยนต์ไฮบริดถึง 4 รุ่น เพื่อนำเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย โดยยังไม่รวมถึงรถยนต์โตโยต้า พริอุส ไฮบริด ที่อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด

“เรามองว่าจะเป็นเทคโนโลยีอะไรก็ได้ ขอให้มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อเราจะเดินไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้ ด้วยเทคโนโลยีอะไรก็ได้ ที่สามารถใช้ได้เลย จึงอยากให้ภาครัฐพิจารณาซัพพอร์ต เช่นเดียวกับการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า”

อีซูซุ จ้องเข็นดีแมคซ์ อีวี

ด้านนายทาคาชิ ฮาตะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด เปิดเผยถึงโอกาสที่อีซูซุจะพัฒนารถยนต์กระบะไฟฟ้า (BEV) ว่า ขณะนี้บริษัทยังต้องศึกษาทิศทางและโอกาสความพร้อมของตลาดในประเทศไทยให้ชัดเจนก่อน

และขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างขั้นตอนของการพัฒนารถยนต์ต้นแบบ อีซูซุ ดีแมคซ์ อีวี เพื่อให้ได้โซลูชั่นที่สมบูรณ์ที่สุด เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าชาวไทย ในเบื้องต้นดีแมคซ์ EV นั้นจะเป็นการพัฒนาเพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าในยุโรปเป็นหลักก่อน เนื่องจากมีความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน และความต้องการใช้งานของลูกค้ามีอย่างชัดเจน และคาดว่าหากมีการผลิตเพื่อจำหน่ายจริง ก็จะต้องใช้ฐานการผลิตรถปิกอัพในประเทศไทยเพื่อรับกับตลาดส่งออก

ส่วนรถยนต์บรรทุกอีวีขนาดกลางอย่าง อีซูซุ เอลล์ ที่เพิ่งมีการเปิดตัวในญี่ปุ่นนั้น บริษัทยังต้องรอดูความชัดเจนและความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก ว่าจะนำเข้ามาทำตลาดได้ในช่วงเวลาใดจึงจะเหมาะสมสำหรับตลาดประเทศไทย

ส.อ.ท.ปลื้ม EV โตไม่หยุด

สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จำนวนยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท BEV 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ.) มีจำนวน 12,243 คัน เพิ่มขึ้น 715.66%

โดยเดือน ก.พ. 2566 มียอดจดทะเบียนใหม่จำนวน 7,536 คัน ส่วนยอดจดทะเบียนสะสมประเภท BEV ณ วันที่ 28 ก.พ. 2566 สูงถึง 44,294 คัน