อย่ามองข้าม ปัญหาผู้สูงวัย

คอลัมน์ : สามัญสำนึก
คอลัมน์ : สมปอง แจ่มเกาะ

ต้นเดือนที่ผ่านมา (6 ก.พ.) ท่านสุุทธิพงศ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กรุณาโพสต์ข้อมูลจำนวนประชากรประเทศไทยล่าสุด ผ่านเฟซบุ๊ก Suttipong Juljarern…ต้องขออนุญาตอ้างอิงท่านปลัดเก่งครับ

ข้อมูลจำนวนประชากรที่ว่า คือ ประกาศสำนักทะเบียนกลาง เรื่องจำนวนประชากรทั่วราชอาณาจักร ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 ที่ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา

เป็นข้อมูลที่น่าสนใจไม่น้อย มีความยาวประมาณ 3 หน้ากระดาษ A4 หากใครมีเวลาลองเข้าไปอ่านรายละเอียดดูได้

ด้วยความอยากรู้อยากเห็นต่อ พอมีเวลาว่างก็คลิกเข้าอ่านเว็บไซต์โน่นนี่นั่นไปเรื่อย และมาสะดุดที่ https://www.dop.go.th เว็บไซต์กรมกิจการผู้สูงวัย (ผส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

โดยเฉพาะกับ “สถิติผู้สูงอายุ” (ผู้สูงอายุ คือ บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป) ซึ่งเป็นข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 อ้างอิงมาจาก กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และมีการจำแนกรายละเอียดต่าง ๆ อย่างชัดเจน

เริ่มจากตัวเลขรวมประชากรทั้งหมดมี 66,052,615 คน ขณะที่ ตัวเลขประชากรไทยรวมทั้งสิ้นอยู่ที่ 65,061,190 คน

ที่น่าสนใจคือ จำนวนผู้สูงอายุที่มีถึง 13,064,929 คน หรือคิดเป็นสัดส่วน 20.08% ของจำนวนประชากร นอกจากนี้ ยังมีการจำแนกออกเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย 1) ผู้ที่มีอายุ 60-69 ปี มี 7,315,739 คน หรือคิดเป็นสัดส่วน 56%

2) ผู้ที่มีอายุ 70-79 ปี มี 3,896,773 คน หรือ 29.83% 3) ผู้ที่มีอายุ 80-89 ปี มี 1,505,189 คน หรือ 11.52% 4) ผู้ที่มีอายุ 90-99 ปี มี 310,796 คน หรือ 2.38% และ 5) ผู้สูงอายุที่มีอายุ 100 ปีขึ้นไป มี 36,432 คน หรือ 0.28%

หรือหากใครสงสัยว่า จังหวัดไหนมีผู้สูงอายุมากหรือน้อยอย่างไร เว็บไซต์นี้ก็มีคำตอบเช่นกัน

อีกด้านหนึ่ง ด้วยตัวเลขผู้สูงอายุที่มีมากดังกล่าวก็ย่อมจะส่งผลกระทบในวงกว้างในหลายมิติ โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ

อย่างไรก็ตาม อย่างที่รับรู้กันดีว่า ประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aging Societies) หรือมีคนอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 10% หรือมีคนอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 7% ของประชากรทั้งประเทศ มาตั้งแต่ 2548 แล้ว และถึงวันนี้เวลาผ่านมา 19 ปีแล้ว จำนวนผู้สูงอายุก็เพิ่มมากขึ้น และก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged Societies) แล้ว หรือมีคนอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 20% หรือมีคนอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่า 14% ของประชากรทั้งประเทศ

คาดว่าอีกไม่นาน ประเทศไทยก็จะก้าวเข้าสู่ระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-aged Society) หรือมีคนอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ

เมื่อถึงวันนั้นเชื่อว่าปัญหาจะทวีความรุนแรงมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปจะพบว่าที่ผ่านมา ประเทศไทยเราค่อนข้างมีความตื่นตัวกับเรื่อง Aging Societies พอควร สะท้อนจากมีการจัดทำแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ มาตั้งแต่ปี 2525 และมีแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (2525-2544) และฉบับที่ 2 (2545-2565) และปัจจุบันก็มีแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 3 (2566-2580)

จากนี้ไป ประเทศไทยคงมีเวลาไม่มากนักในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรครั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น

กระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ต้องเร่งปรับตัวอย่างรวดเร็วและจริงจัง

ที่สำคัญคืออยากเห็น นโยบายของรัฐบาลในเรื่องผู้สูงอายุ อย่างเป็นรูปธรรม อย่างยิ่งในแง่ของการเตรียมความพร้อม เพื่อรับมือกับปัญหาและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา

หรือหากรัฐบาลมองว่า เรื่องผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่ยังไม่เร่งด่วน ไม่สำคัญ ไม่ต้องบรรจุเป็นวาระแห่งชาติ เหมือนการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ เรื่องยาเสพติด หรือการส่งเสริมการมีบุตร ที่เตรียมจะผลักดันเป็นวาระแห่งชาติก็ได้

เพียงแค่หันมาเหลียวมองและดูแลปัญหาของผู้สูงอายุอย่างจริง ๆ จัง ๆ บ้าง…เท่านั้นเอง