อนุทิน เปิดเงื่อนไขจับขั้วรัฐบาล ทักษิณ-เพื่อไทย ไม่เกลียด แต่มีเส้นแบ่ง

อนุทิน ชาญวีรกูล
อนุทิน ชาญวีรกูล
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ

พรรคภูมิใจไทย ที่มี “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข เป็นหัวหน้าพรรค

สยายปีกจากเมื่อ 4 ปีก่อนที่ได้ ส.ส.ตัวเป็น ๆ 51 เสียง แต่วันนี้สยายปีกเป็นพรรคเกินร้อย

พรรคภูมิใจไทยกลายเป็นพรรคตัวแปรที่ใครก็ขาดไม่ได้ ถ้าอยากเป็นรัฐบาล

“อนุทิน” หัวหน้าขั้วตัวแปร ตอบคำถามถึง position พรรคภูมิใจไทยหลังเลือกตั้ง เขาพร้อมเป็นนายกฯหรือไม่ ปัจจัยอะไรที่จะยอมร่วมเป็นพรรครัฐบาล อะไรคือ “เงื่อนไข” ต้องห้าม

เป็นนายกฯ ไม่เล่นนอกระบบ

อนุทินตอบคำถามแรกถึง “ความพร้อม” ในการเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ว่า “ผมเป็นแคนดิเดตนายกฯ คนเดียวของพรรคภูมิใจไทย เป็นประเพณีปฏิบัติอยู่ตลอด คำตอบชัดเจนคือเป็นแคนดิเดตนายกฯ คนเดียวของพรรค”

“ส่วนจุดแข็ง แสดงให้เห็นตลอดพูดแล้วทำ ทำได้เร็ว ทำได้เลย ทำทันที ส่วนใหญ่เน้นเรื่องการทำงาน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของรัฐมนตรีในสังกัดพรรคภูมิใจไทย”

“แต่การจะเป็นอะไรนั้น ต้องได้รับความไว้วางใจจากประชาชน เราก็พยายามจากทุกวิถีทางเพื่อให้ได้รับความไว้วางใจ ถ้าประชาชนให้การยอมรับพรรคภูมิใจไทย จนเราสามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ เราก็พร้อมให้เป็นนายกฯ ก็ต้องเป็น”

“สิ่งที่เราสัญญากับประชาชนไว้ เราก็ทำตามทุกอย่าง ประชาชนก็ต้องเชื่อ เพราะไม่งั้นเขาไม่เลือกเราเข้ามา เพราะเขาดูจาก 4 ปีที่ผ่านมาที่เราเป็นรัฐบาล ถ้าเขามีความพึงพอใจ กัญชาก็สำเร็จ เรื่องปลดค้ำประกัน กยศ. ลดดอกเบี้ย แม้เหลือ 1% แต่เที่ยวหน้าจะทำให้ไม่มีดอกเบี้ย เรื่องการสาธารณสุขถ้วนหน้า ไปถึงคนทุกคน รักษาได้ทุกที่ก็ทำสำเร็จ”

“เรื่องระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน คมนาคม ขนส่ง โลจิสติกส์ ทุกอย่างสำเร็จอยู่ในรัฐบาลช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ทั้งสาธารณสุข คมนาคม ท่องเที่ยวถ้ามองด้วยความเป็นธรรม จะเห็นว่า 3 กระทรวงนี้มีบทบาทอย่างมากในการนำพาประเทศไทยฟันฝ่า สถานการณ์โควิด-19 ที่คุกคามประเทศของเรา”

เขายืนยันว่า ถ้าพรรคภูมิใจไทยเป็นรัฐบาล จะ “ไม่เล่นนอกระบบ”

“ถ้าประชาชนเลือกผมเข้ามา แล้วผมไปอยู่จุดนั้นได้ สิ่งที่ผมทำก็คือสิ่งที่บอกไว้ นโยบายทั้งหลาย ที่เราได้หาเสียงไว้กับประชาชน แต่ให้มั่นใจได้เลยว่า ไม่ว่าเป็นนายกฯ หรือร่วมรัฐบาล หรือเป็นฝ่ายค้าน สิ่งที่พรรคภูมิใจไทยยึดถือเสมอคือ แก้ปัญหาในระบบ ไม่เล่นนอกระบบ ไม่เชื่อถือเรื่องความรุนแรง”

“ไม่เป็นสาเหตุแห่งความแตกแยก และนอกเหนือจากนั้นพยายามอย่างเต็มที่จะนำมาซึ่งความสงบสุข ความเป็นปึกแผ่น และนำประเทศเดินหน้าต่อไป นี่คือเอกลักษณ์ของพรรคภูมิใจไทย”

มั่นใจดีกว่า 8 ปีที่ผ่านมา

“อนุทิน” มั่นใจว่าหลังเลือกตั้งประเทศไทยจะดีกว่าที่ผ่านมา

“ด้วยประสบการณ์ที่ทำงานมาโดยตลอด 4 ปี ก็น่าจะดีกว่า 8 ปีที่แล้ว 4 ปีต่อไปถ้าพรรคภูมิใจไทยมีโอกาสกลับมาทำงานอีก จะไม่เป็นชนวนความขัดแย้งใด ๆ ทั้งสิ้น และจะเป็นตัวเชื่อมของทุก ๆ ฝ่ายในการนำประเทศไทยเดินไปข้างหน้า ไม่เฉพาะฝ่ายการเมือง เราต้องทำให้ประชาชนเข้าใจ ทำให้ประชาชนรักกัน ทำให้ภาคธุรกิจ ภาครัฐ เอ็นจีโอ มีความสมานฉันท์สามัคคี เข้าใจตรงกันว่าความเป็นปึกแผ่นเท่านั้นที่จะนำชาติเดินหน้าไปได้ด้วยความมั่นคง”

“พื้นฐานของประเทศไทยเราดีมาก ๆ อยู่แล้ว ในที่ประชุมเศรษฐกิจโลก world economic forum เขากำหนดไว้ว่า ทศวรรษนี้จะเป็นทศวรรษของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราเห็นโอกาสมากมาย สถานการณ์โลกในปัจจุบันทุกมิติ ต้องเบนความสนใจ ความเจริญก้าวหน้า เบนมายังภูมิภาคนี้ เพราะภูมิภาคนี้ไม่ได้เป็นปัญหากับใคร”

“แล้วเราจะปล่อยโอกาสนี้ let’s go ปล่อยโอกาสนี้ไป กว่าวงรอบจะกลับมาใช้เวลาเป็นทศวรรษ ดังนั้น พรรคภูมิใจไทยจะเป็นพรรคหนึ่งที่ไม่ยอมปล่อยให้โอกาสนี้หลุดออกจากมือประชาชน และจะทำทุกวิถีทางในการที่จะสร้างความสมานฉันท์ ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางความเจริญ การค้า การคมนาคมขนส่งของภูมิภาคนี้”

เป็นพรรคพลัก ไม่ใช่พรรคตาม

อนุทินบอกว่า พรรคภูมิใจไทยไม่เคยเป็น “พรรคตาม” ที่พร้อมร่วมรัฐบาลกับทุกขั้ว มีแต่ตามให้เป็นนายกฯ

จริง ๆ พรรคภูมิใจไทยไม่ได้ตามใครนะ คราวที่แล้วถ้าไม่มีพรรคภูมิใจไทย จะมีรัฐบาลไหม ตอนนั้นมี 51 เสียง ตอนนี้มี 70 กว่าเสียง ใครถูกตามกันแน่ มีแต่จะถูกตามให้เป็นนายกฯด้วยซ้ำ แต่ถามว่าทำแล้ว ประเทศไปได้ไหม ถ้าประเทศไปไม่ได้ เป็นนายกฯ ก็ไม่สำคัญ

“ตอนนั้นเราต้องรีบตั้งรัฐบาลให้ได้ ทำไมต้องรีบตั้งรัฐบาล ก็เพราะรัฐบาล คสช.จะได้หมดไปไง ถ้าไม่ตั้งรัฐบาล รัฐธรรมนูญบอกว่าไง…รัฐบาลเดิมรักษาการไปด้วยอำนาจเต็มจนถึงวันที่รัฐบาลใหม่จะถวายสัตย์ฯ ผมคิดว่าผมควรจะได้แต้มมากกว่า อย่างน้อยพรรคภูมิใจไทย ก็สามารถบอกตัวเองได้เต็มปากว่าเราเป็นคนตัดระบบเดิม”

“ที่ไม่ออกมาเถียงก็ไม่รู้จะเถียงทำไม สนับสนุนเผด็จการ สนับสนุนตรงไหน วันนี้ลองให้พรรคภูมิใจไทยยกมือโหวตไม่ไว้วางใจรัฐบาลช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จบไปหรือยัง เลยกึ่งหนึ่งมา 3 เสียงเอง”

“ดังนั้น การกระทำของเราเป็นคำตอบหมดแล้ว เว้นแต่แฟน ๆ จะวิเคราะห์ลึก ๆ หรือเปล่า ถ้าวิเคราะห์ลึกจะเห็นว่าพรรคภูมิใจไทยทำมาตลอดคือ สิ่งที่พรรคภูมิใจไทยจะนำระบอบประชาธิปไตยกลับมาสู่ในระบบให้เร็วที่สุด”

“ถ้ารัฐบาลตอนนั้นไม่ถึงกึ่งหนึ่ง พรรคภูมิใจไทยไม่ร่วม เราจะไม่ให้ ส.ว.มาเป็นเสียงส่วนมากในการตั้งรัฐบาล พรรคภูมิใจไทยไม่ได้ผิด 253 เสียง เกินกึ่งหนึ่ง ถ้าตอนนั้นได้ 240 เสียง แล้วเอา ส.ว.มาทำให้เสียงเกิน 375 เสียง พรรคภูมิใจไทยก็ถอนตัว เลือกตั้งเที่ยวหน้าก็เหมือนกัน ต้องเกินกึ่งหนึ่ง”

แต่ถ้าวันนั้น พรรคที่ได้ ส.ส. 25 เสียง เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ สมัยที่ 3 พรรคภูมิใจไทยจะทำอย่างไร “อนุทิน” ตอบว่า “เกินกึ่งหนึ่งหรือเปล่า พล.อ.ประยุทธ์ มากี่คน ตอนนี้ตอบได้หรือยังว่าท่านจะมามาก หรือน้อย ใครตอบได้ไหม”

“หรือที่บอกว่าพรรคภูมิใจไทยน่าจะเป็นพรรคที่มี ส.ส.เยอะ ฟังแล้วขอบคุณมาก แต่จะมีพลาดไหม เราก็ต้องเผื่อ ๆ ไว้ก่อน ถ้าหลังเลือกตั้งเสร็จ เมื่อรู้แล้วเรามีเท่าไหร่ มี 50 60 70 มี 100 ตอนนั้นเราจะมีคำตอบที่ชัดเจน แต่ถ้ามี 30 ไม่ต้องมาหรอก คงไม่มีแรงพูด”

ภท.สยายปีก ทุกพื้นที่

“อนุทิน” ภูมิใจว่า ถ้าเทียบกันพรรคภูมิใจไทยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว กับตอนนี้หนังคนละม้วน ในฐานะที่พรรคมีที่ยืนหลายจังหวัด หลายพื้นที่ บางจังหวัดได้ ส.ส.ภูมิใจไทยยกจังหวัด เราก็ต้องพยายามขยายฐานของเราออกไป ไม่ใช่ กทม.ที่เดียว ตอนนี้ภาคเหนือเราขยายพื้นที่ไปตั้งแต่นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก ตาก ลำปาง เชียงราย เราเห็นตัวผู้สมัครว่ามีแวว หลายคนเป็น ส.ส.แล้ว

พื้นที่อีสานเหนือ เราก็มีผู้สมัครหลายจังหวัด ขอนแก่นเราไม่เคยส่งใครแล้วชนะ เที่ยวนี้เราคาดว่าจะได้ ส.ส.ขอนแก่น อุดรธานี บึงกาฬ นครพนม สกลนคร ร้อยเอ็ด คนที่เราส่งไปก็มีความใกล้ชิดพื้นที่ ใกล้ชิดชาวบ้านเป็นอย่างมาก

คอนเซ็ปต์นี้เป็นคอนเซ็ปต์เดียวกับ กทม. 4 ปีที่แล้วก็ส่งเหมือนกันแต่ได้ 4 หมื่นคะแนน ก็ถือว่าบุญแล้ว แต่ 4 ปีที่ผ่านมา เรารักษาผลประโยชน์ให้คนกรุงเทพฯ ก็เยอะ ทั้งเรื่องค่าโง่ต่าง ๆ ผ่านไปได้เพราะพรรคภูมิใจไทย รวมถึงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน แม้ไม่มี ส.ส.ใน กทม.สักคนเดียว

“วันนี้คุณพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ โชคดีมากคุยกันรู้เรื่อง สไตล์เดียวกัน เข้าใจคอนเซ็ปต์ภูมิใจไทย ก็มาทำงานร่วมกัน แต่เที่ยวนี้ พรรคภูมิใจไทยมี ส.ส.เป็นผู้สมัคร ดังนั้น งานก็จะต่อเนื่องและ ส.ส.ก็มีความคุ้นเคยมากกว่าผู้สมัครที่ไม่ได้เป็น ส.ส. เขาสามารถไปแนะนำภูมิใจไทยให้กับพี่น้อง กทม.นี่คือบริบทที่ต่างกันจาก 4 ปีที่แล้ว”

อนุทินกับทักษิณ

“อนุทิน” ตอบคำถามความสัมพันธ์ระดับส่วนตัว และระดับการเมือง กับชายที่ชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ยกให้เป็นผู้บังคับบัญชาชั่วชีวิต

“คนที่อยู่ในพรรคภูมิใจไทยมากกว่า 80% มีจุดเริ่มต้น เป็นตัวเป็นตนทางการเมืองก็เป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยมาทุกคน ท่านนายกฯ ทักษิณก็เป็นหัวหน้าพรรค และเป็นรัฐมนตรีอยู่ในรัฐบาลของท่านทักษิณ”

ความเป็นนายกฯ กับรัฐมนตรี ก็เหมือนผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา ในส่วนนั้นท่านมีพระคุณกับเรา เป็นคนที่ทำให้เราเป็นรัฐมนตรี มีพื้นฐานในการบริหารราชการแผ่นดิน เติบโตทางการเมืองจนถึงทุกวันนั้น แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง เมื่อบทบาทของท่านหมดไป ทุกคนก็ต้องมีทางเลือกในการเดินหน้าต่อไป

“นี่คือสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็น อะไรถูกว่าตามถูก อะไรผิดไม่เอาด้วย ถ้าผิดกฎหมายยิ่งไม่เอาใหญ่เลย ทุกอย่างมีเส้นแบ่งมีแนวทางเป็นของเราเอง ถามว่าเกลียดไหม ไม่เกลียด มุ่งหวัง ปองร้ายไหม ไม่มีในหัว ปรารถนาดี อยากเห็นทุกคนมีความสุข แต่อยากเห็นทุกอย่างเป็นไปตามกลไกของกฎหมาย อุดมการณ์ของแต่ละพรรค”

ส่วนจะทำงานร่วมกับพรรคเพื่อไทยได้หรือไม่นั้น “อนุทิน” ตอบว่า ดูแล้วไม่เห็นมีใครมีปัญหาในทางส่วนตัว ส่วนจะทำได้หรือทำไม่ได้ มันขึ้นอยู่กับการเลือกตั้ง เราอาจต้องเป็นฝ่ายค้านก็ได้ ใครจะไปรู้ ดังนั้น เราทำของเราให้ดีที่สุด แล้วดูตัวเลข ส.ส.ของแต่ละพรรคในวันนั้น แล้วอะไรคือจุดที่ทำให้รัฐบาลเข้มแข็ง สำคัญที่สุดคือรัฐบาลที่เข้มแข็ง

อนุทินทิ้งท้ายด้วยเงื่อนไข ถ้าอยากได้พรรคภูมิใจไทยร่วมรัฐบาลว่า “เอาที่ไม่จับมือ คือ อย่างแรก อย่ามาแตะมาตรา 112 ถ้าเราไม่คิดอะไร 112 ไม่มีอิทธิพลกับเราเลย ถ้าเรามั่นใจว่าประเทศของเราต้องมีสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจ เป็นเอกลักษณ์ของประเทศ เป็นขนบธรรมเนียมที่ดี มีความเป็นปึกแผ่น”

มาตรา 112 เรียนตามตรงผมไม่เคยอ่านเลย เพราะไม่มีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของผม

“ส่วนที่จะจับมือ มีเงื่อนไขเยอะแยะไปหมด แต่ที่แท้และแน่วแน่คืออย่ามาแตะ 112”