7 วัน เปิดประเทศ เช็กมาตรการรัฐบาลพร้อมแค่ไหน ?

นับถอยหลัง 7 วัน เปิดประเทศ เช็กความพร้อมรัฐบาล

แม้หลายฝ่ายแสดงความกังวลว่า ประเทศไทยจะไม่สามารถเปิดประเทศได้ภายใน 120 วัน ตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศ แต่หลังจากการให้คำมั่นของนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนมิถุนายน รัฐบาลได้ทยอยเปิดตัวโครงการและดำเนินนโยบายต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยว และควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในเวลาเดียวกัน 

วันที่ 7 ตุลาคม 2564 กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมออกแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เพื่อประกาศเป้าหมายการเปิดประเทศภายใน 120 วัน เมื่อวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา

นั่นหมายความว่ากำหนดเปิดประเทศจะตรงกับวันที่ 14 ตุลาคม 2564 หรืออีก 7 วันข้างหน้า ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ให้คำมั่นว่า จะทำให้ทุกคนสามารถกลับมาทำมาหากินกันได้ปกติอีกครั้ง โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

เพื่อนับถอยหลังเข้าสู่กำหนดเปิดประเทศ “ประชาชาติธุรกิจ” สรุปมาตรการ-การเตรียมพร้อมของรัฐบาล ที่เกิดขึ้นในห้วงเวลา 120 วัน ดังนี้

ภูเก็ตแซนด์บอกซ์

เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2564 พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศชัดเจนว่า เป้าหมายเปิดประเทศ 120 วัน จะเริ่มนำร่องที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งจะผ่อนคลายบางมาตรการ และเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามาแบบ Sandbox ก่อนเปิดประเทศในระยะต่อไป โดยในขณะนั้น พล.อ.ประยุทธ์ คาดหวังว่าการเปิดประเทศจะเกิดขึ้นในช่วงที่หลายประเทศเริ่มผ่อนคลาย ชาวต่างชาติสามารถเดินทางออกมาท่องเที่ยวได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภูเก็ต แซนด์บอกซ์ ซึ่งเป็นโครงการต้นแบบรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ คิกออฟเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางความหวังว่าจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ต ก่อนขยายไปสู่จังหวัดอื่น ๆ

เดิมที การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประมาณการนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ภายใต้โครงการภูเก็ต แซนด์บอกซ์ จำนวน 100,000 คน ในไตรมาส 3 (เดือน ก.ค.-ก.ย. 64) คาดว่าจะสร้างรายได้อยู่ที่ 8,900 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 27 กันยายนรายงานโครงการแผนภูเก็ต แซนด์บอกซ์ ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ถึงวันที่ 25 กันยายน 2564 ว่า นับตั้งแต่เริ่มโครงการถึงปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาแล้ว 36,875 คน

นักท่องเที่ยวที่เดินทางมามากที่สุดอันดับหนึ่งคือ สหรัฐอเมริกา 5,678 คน ตามมาด้วยอิสราเอล 5,341 คน อังกฤษ 4,662 คน เยอรมนี 3,709 คน และฝรั่งเศส 3,578 คน ขณะที่คนไทยเดินทางเข้าประเทศตามโครงการนี้ 7,222 คน

ในส่วนของรายได้จากการท่องเที่ยว ข้อมูล ณ วันที่ 5 กันยายน มีจำนวน 1,634 ล้านบาท ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนต่อระบบเศรษฐกิจเป็นจำนวนเงิน 3,818 ล้านบาท นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาจะมีการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวรวมทั้งสิ้นจำนวน 1,634 ล้านบาท แบ่งเป็น

  1. การใช้จ่ายด้านที่พัก 565 ล้านบาท
  2. การซื้อสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว 376 ล้านบาท
  3. การซื้ออาหารและเครื่องดื่ม 350 ล้านบาท
  4. ค่าบริการทางการแพทย์และสุขภาพ 229 ล้านบาท
  5. 5.ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีก 114 ล้านบาท

การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจำนวน 1,634 ล้านบาท ก่อให้เกิดเม็ดเงินที่หล่อเลี้ยงและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตลอดจนมีผลช่วยกระจายประโยชน์ด้านเศรษฐกิจสู่ภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวโดยตรง เช่น โรงแรม ร้านอาหาร การขนส่งโดยสาร เป็นต้น และธุรกิจอื่นที่เป็นห่วงโซ่อุปทานสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่น ภาคการเกษตร อุตสาหกรรม พลังงาน เป็นต้น

ด้าน นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเปิดประเทศตามนโยบายภูเก็ตแซนด์บอกซ์ ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม แม้ยังมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนไม่มากนัก แต่ถือว่าประสบความสำเร็จในเชิงสัญลักษณ์อย่างมาก นักท่องเที่ยวทั่วโลกรับรู้ว่า ภูเก็ต ประเทศไทย พร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยว

ที่สำคัญ น่าพอใจมากที่พบว่ายังไม่มีการติดเชื้อระหว่างนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทยเกิดขึ้น สะท้อนชัดเจนว่ามาตรการการเปิดรับนักท่องเที่ยวมีมาตรฐาน และความปลอดภัยสูง

สมุยพลัส

หลังเปิดภูเก็ต แซนด์บอกซ์ ได้ครึ่งเดือน ต่อมาในวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 จึงมีการเปิดพื้นที่เป้าหมายลำดับถัดไปคือ สุราษฎร์ธานี เฉพาะเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า ในชื่อโครงการสมุย พลัส โดยวางมาตรการทั้งด้านสาธารณสุข การเดินทาง และการตลาดไว้อย่างรัดกุม

เบื้องต้น นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดการณ์ว่าเมื่อผ่านไป 1 เดือน คือ ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม ถึง 15 สิงหาคม 2564 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาประมาณ 1,000 คน สร้างรายได้ประมาณ 180 ล้านบาท

ล่าสุด เมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อ 15 กรกฎาคม โครงการนี้มีนักท่องเที่ยวสะสม 1,018 คน ทุกคนได้รับการตรวจคัดกรองอย่างต่อเนื่อง พบผู้ติดเชื้อเพียง 5 ราย และนำเข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างเหมาะสม สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 38,722,100 บาท

เปิดพื้นที่สีฟ้า

เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยมติที่ประชุม ศบค. เรื่องการเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว หรือ “พื้นที่สีฟ้า” ว่า การเปิดพื้นที่สีฟ้า มีทั้งหมด 3 เฟส ได้แก่

  • เฟส 1 วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เปิดพื้นที่เพิ่มเติม 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กระบี่ พังงา (ทั้งจังหวัด) ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน หนองแก) เพชรบุรี (ชะอำ) ชลบุรี (พัทยา บางละมุง จอมเทียน บางเสร่) ระนอง (เกาะพยาม) เชียงใหม่ (อ.เมือง แม่ริม แม่แตง ดอยเต่า) เลย (เชียงคาน) และ บุรีรัมย์ (เมือง)
  • เฟส 2 อีก 20 จังหวัด หัวเมืองหลัก ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน แพร่ หนองคาย สุโขทัย เพชรบูรณ์ ปทุมธานี อยุธยา สมุทรปราการ ตราด ระยอง ขอนแก่น นครราชสีมา นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา ยาละ และนราธิวาส
  • เฟส 3 ประมาณต้นปีหน้าหรือเดือนมกราคม 2565 อีก 13 จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นจังหวัดที่มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ สุรินทร์ สระแก้ว จันทบุรี ตาก นครพนม มุกดาหาร บึงกาฬ อุดรธานี อุบลราชธานี น่าน กาญจนบุรี ราชบุรี และสตูล

นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวด้วยว่า โดยสรุปพื้นที่สีฟ้าสามารถเปิดกิจการ กิจกรรมต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ทั้งเดินทางได้ บริโภคในร้านได้ เปิดกิจการ ทำกิจกรรมได้ตามปกติ ศูนย์การค้า ร้านเสริมสวย นวด เหมือนพื้นที่สีเขียว แต่ก็ต้องมีมาตรการบริหารจัดการ มาตรการเรื่อง Covid Free ด้วย

เราเที่ยวด้วยกันเฟส 3 – ทัวร์เที่ยวไทย

เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ปรับปรุงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 และ โครงการทัวร์เที่ยวไทย โดยเปลี่ยนแปลงระยะเวลาสิ้นสุดการดำเนินโครงการฯ ทั้ง 2 โครงการ เป็นวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 และกำหนดให้ประชาชนใช้สิทธิได้ไม่เกินวันที่ 31 มกราคม 2565

เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 จำนวน 2 ล้านสิทธิ โดยประชาชนที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการสำเร็จ จะสามารถใช้จ่ายในโรงแรม ร้านอาหาร หรือสถานที่ท่องเที่ยว ได้ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ยกเว้นจังหวัดตามทะเบียนบ้านของผู้ใช้สิทธิ ซึ่งจะเริ่มเปิดให้ประชาชนจองโรงแรม/ที่พัก ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคมเป็นต้นไป และเริ่มเข้าพักตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคมเป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดมีความรุนแรงในช่วงระหว่างดำเนินโครงการ ททท. สามารถขอยุติดำเนินโครงการฯ ได้

การจัดหา-การจัดสรรวัคซีน

เมื่อวันที่ 27 กันยายน นายแพทย์ทวีศิลป์ ยังกล่าวถึงแผนการจัดหาวัคซีนในปี 2564 ด้วยว่า จะจัดหาวัคซีนได้ทั้งหมด 178.2 ล้านโดส เฉพาะไตรมาสสุดท้ายมีแผน ดังนี้

ตุลาคม 24 ล้านโดส

  • ซิโนแวค 6 ล้านโดส
  • แอสตร้าเซนเนก้า 10 ล้านโดส
  • ไฟเซอร์ 8 ล้านโดส
  • ซิโนฟาร์ม 6 ล้านโดส

พฤศจิกายน 23 ล้านโดส

  • แอสตร้าเซนเนก้า 13 ล้านโดส
  • ไฟเซอร์ 10 ล้านโดส
  • ซิโนฟาร์ม 12.5 ล้านโดส

ธันวาคม 24 ล้านโดส

  • แอสตร้าเซนเนก้า 14 ล้านโดส
  • ไฟเซอร์ 10 ล้านโดส
  • ซิโนฟาร์ม 12.5 ล้านโดส
  • โมเดอร์นา 2 ล้านโดส

เป้าหมายฉีดวัคซีนประชาชน 70%

โฆษก ศบค. ยังเผยเรื่องการจัดสรรวัคซีนว่า ในเดือนตุลาคม ตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรทั้งหมด รวมชาวต่างประเทศที่อยู่ในไทย อย่างน้อย 50% ทุกจังหวัด และมีอย่างน้อย 1 อำเภอ ที่ครอบคลุมประชากร 70% ส่วนในเดือนพฤศจิกายน ตั้งเป้ามีผู้รับวัคซีนเข็ม 1 อย่างน้อย 70% รวมถึงกลุ่มอายุ 12-17 ปี และในเดือนธันวาคม ตั้งเป้ามีผู้ได้รับวัคซีนเข็ม 1 อย่างน้อย 80% และได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม 70%

ปิดท้ายที่เดือนธันวาคม หากมีวัคซีนครบตามแผนจำนวน 126.2 ล้านโดส คนไทย 62 ล้านคน จะได้รับวัคซีนครอบคลุม 90%

ล่าสุดในวันที่ 5 ตุลาคม นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ไอซ์แลนด์จะบริจาควัคซีนไฟเซอร์ให้กับไทย 100,000 โดส ขณะที่เยอรมนีจะบริจาควัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 346,100 โดส คาดว่าทั้งไอซ์แลนด์และเยอรมนีจะส่งมอบวัคซีนให้ได้ภายในเดือนตุลาคมนี้

วันเดียวกัน คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการจัดซื้อวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าจากฮังการี 400,000 โดส

นายธนกรให้เหตุผลว่า การจัดซื้อวัคซีนเพิ่มเติมเป็นไปตามแผนการจัดหาวัคซีนให้ครบ 126.2 ล้านโดส มั่นใจว่าปีนี้จะสามารถฉีดวัคซีนให้ได้ 70% ของประชากรกลุ่มเป้าหมายภายในเดือนธันวาคม 2564

ผู้สื่อข่าวรายงานสรุปผลการฉีดวัคซีนในประเทศ ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2564 พบว่า ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันแรกของการฉีดวัคซีนในประเทศ มีผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรกที่ 1 จำนวน 33,774,684 คน คิดเป็น 46.9% ของประชากร ส่วนผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 มีจำนวน 22,005,722 คน คิดเป็น 30.5% ของประชากร และผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 มีจำนวน 1,606,646 คน คิดเป็น 2.2% ของประชากร

ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ณ วันที่ 7 ตุลาคม 2564 กลับมาแตะหลักหมื่นอีกครั้ง หลังจาก 3 วันก่อนหน้านี้ลดไปอยู่ที่ระดับ 9 พันคน

ส่วนอันดับประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมสูงสุดในโลก ประเทศไทยค่อย ๆ ขยับขึ้นมาถึงอันดับที่ 26 แซงหน้าชิลีและแคนาดา ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 1.6 ล้านคน ตามรายงานของเว็บไซต์ worldmeters เว็บไซต์รายงานข้อมูลล่าสุดที่มีการรวบรวมจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลก

แต่หากย้อนไปเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2564 ซึ่งเป็นวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศเปิดประเทศภายใน 120 วัน ประเทศไทย ถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 79 มีผู้ติดเชื้อสะสมเพียง 2 แสนราย

ลดเคอร์ฟิว เปิดห้าง-ร้านอาหารถึง 3 ทุ่ม

เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2564 ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. เป็นประธานการประชุม ครั้งที่ 15/2564 เห็นชอบขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรถึง 30 พฤศจิกายน นี้

สาระสำคัญคือ การลดระยะเวลาห้ามออกนอกเคหสถานเป็น 22.00-04.00 น. และให้เปิดร้านเสริมสวย นวด/สปา สถานเสริมความงาม โรงภาพยนตร์ เล่นดนตรีในร้านอาหารได้ตามปกติ เริ่ม 1 ตุลาคมเป็นต้นไป รวมถึงขยายเวลาสำหรับกิจการ-กิจกรรม เปิดบริการได้ถึง 21.00 น. ได้แก่ ศูนย์การค้า ร้านสะดวกซื้อ กีฬากลางแจ้งหรือในร่มเป็นที่โล่ง กีฬากลางแจ้งมีผู้ชมได้ 25%

ก่อนหน้านั้น ศบค.ได้คลายล็อกดาวน์ให้ร้านอาหารในพื้นที่สีแดงเข้มเปิดได้บางส่วนเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา

ปรับมาตรการผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร

สำหรับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทยในทุกช่องทาง ที่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์มาแล้วอย่างน้อย 14 วัน ให้กักตัวอย่างน้อย 7 วัน และต้องตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง ครั้งแรก วันที่ 0-1 ครั้งสอง วันที่ 6-7

ส่วนผู้ที่เดินทางเข้าประเทศซึ่งโดยสารมาทางเครื่องบิน และไม่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน ให้กักตัวอย่างน้อย 10 วัน และต้องตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง ครั้งแรก วันที่ 0-1 ครั้งสอง วันที่ 8-9

ขณะที่ผู้เดินทางเข้าประเทศไทยทางช่องทางบก และไม่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน ให้กักตัวอย่างน้อย 14 วัน และตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 0-1 ครั้งสองวันที่ 12-13 ทั้งนี้ จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ตุลาคม 2564 นี้

ส่วนการเข้าพักที่โรงแรมกักตัวทางเลือกหรือ Alternative Quarantine (AQ) อนุญาตให้ทำกิจกรรมออกกำลังกายกลางแจ้ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน สั่งซื้อสินค้าและอาหารจากภายนอก และประชุมสำหรับนักธุรกิจระยะสั้นได้

สำหรับสถานกักกันของรัฐ หรือ State Quarantine (SQ) และ การกักกันผู้เดินทางในสถานที่เอกเทศ ซึ่งดำเนินการโดยองค์กร หรือหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนหรือ Organizational Quarantine (OQ) รวมถึงอนุญาตให้ทำกิจกรรมออกกำลังกายกลางแจ้ง สั่งซื้อสินค้าและอาหารจากภายนอกได้

ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยุบ ศบค.

เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบวาระสำคัญของรัฐบาล ยกร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 พ.ศ. ….(พ.ร.ก.โรคติดต่อ) โดยจะไม่ขยายระยะเวลาการบังคับใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่สิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน 2564 ซึ่งส่งผลให้เป็นการยกเลิกการประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไปโดยอัตโนมัติ

นอกจากนี้ การไม่ขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังทำให้ ศบค. ซึ่งตั้งขึ้นโดยอาศัยอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 7 วรรคห้า ต้องมีอันสิ้นสภาพไป

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ครม.เห็นชอบร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 พ.ศ….. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ให้เป็นร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 พ.ศ….

เพื่อกำหนดให้มีมาตรการที่จำเป็นและมีประสิทธิภาพในการป้องกัน ระงับ ควบคุม หรือขจัดโรคติดต่อที่มีการระบาดในกรณีปกติและในกรณีที่มีความรุนแรงให้ยุติหรือบรรเทาลงโดยเร็ว และเพิ่มหมวดเกี่ยวกับการจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข เพื่อแยกการจัดการกรณีโรคติดต่อในสถานการณ์ปกติออกจากโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงที่มีลักษณะของการเป็นโรคอุบัติใหม่หรือโรคติดต่ออุบัติซ้ำ ซึ่งต่อไปจะได้ไม่ต้องประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน)

ในส่วนบทบัญญัติคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ร่าง พ.ร.ก.ฯ กำหนดให้ยกเว้นความรับผิดให้แก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อและเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลใด ซึ่งได้รับมอบหมายหรือได้รับการร้องขอให้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ “ที่ปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข” เช่นเดียวกับในกรณีสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข (ครอบคลุมไปถึง ผู้ช่วย อสม. พนักงานกู้ภัย) นับตั้งแต่วันที่ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร คือ วันที่ 26 มีนาคม 2563

ขณะที่แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเผยว่า ศบค. ได้เร่งจัดทำโครงสร้างหน่วยงาน มารองรับการแก้ไขสถานการณ์โควิดในระยะต่อไปตาม พ.ร.ก. แก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 และอยู่ในกระบวนการดำเนินการ จากนั้นจะจัดตั้ง “ศูนย์อำนวยการโรคติดต่อแห่งชาติ” (ศรช. ) แทน ศบค. 

ทั้งหมดนี้คือภาพการเตรียมความพร้อมเพื่อเปิดประเทศในวันที่ 14 ตุลาคม ของรัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าพลาดเป้าทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงเม็ดเงินที่ไหลเข้าประเทศ อีกทั้งยังมีแนวโน้มว่าจะไม่สามารถฉีดวัคซีนให้ครบ 70% ของประชากรในประเทศ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ให้ทันภายในสิ้นปี

อย่างไรก็ตาม โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังว่า การเตรียมการเปิดประเทศของรัฐบาลยังเป็นไปตามกำหนด 120 วัน ที่นายกฯประกาศไว้ ทั้งนี้ ไม่ได้เปิดทีเดียวทั้งหมด แต่เป็นการทยอยเปิด ซึ่งที่มีการเปิดแล้วคือภูเก็ตแซนด์บอกซ์ นี่คือความหมายของ พล.อ.ประยุทธ์