Online Booking หลุมหลบภัยโควิด-19 #1 “AP : ยุคนี้ทำคอนเทนต์เพื่อระบายสต๊อก”

ไตรมาส 2/63 บนความหวังโรคระบาดโควิด-19 จะต้องจบแนวทางการประเมิน ถ้าจบในไตรมาส 2 ให้เวลาขยับซ้ายขยับขวาในไตรมาส 3/63 และไปลุ้นเศรษฐกิจกลับมาทำมาค้าขายได้ปกติในไตรมาส 4/63 …ก็ยังดี อย่างไรก็ตาม ธุรกิจที่อยู่อาศัยอาจกล่าวได้ว่ายังไม่มีข่าวดีมากนัก โดย “ดร.วิชัย วิรัตกพันธุ์” รักษาการ ผอ. REIC-ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เผยแพร่ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยใหม่ที่อยู่ระหว่างการขาย พื้นที่ กทม.-ปริมณฑล ประจำไตรมาส 1/63

มีการขยายตัวต่ำสุดนับจากปี 2555 ที่เริ่มจัดทำดัชนี ภาวะของห้องชุดหลุดดาวน์ทำให้ดัชนีราคาติดลบเป็นไตรมาสแรก

โดยดัชนีราคาบ้านจัดสรรใหม่มีค่าดัชนี 128.4 จุด เพิ่มขึ้น 2.6% เทียบกับไตรมาส 1/62 และเพิ่มขึ้น 0.6% เทียบกับไตรมาส 4/62 ไฮไลต์อยู่ที่ดัชนีราคาห้องชุดใหม่ มีค่าดัชนี 153.4 จุด เพิ่มขึ้น 2.7% เป็นอัตราการขยายตัวต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2555 ยังไม่พอ เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/62 มีอัตราการขยายตัวลดลงเป็นไตรมาสแรก 0.3%

ข้อวิเคราะห์ คือ ตลาดห้องชุดได้รับผลกระทบเชิงลบมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 ตั้งแต่ธนาคารแห่งประเทศไทยบังคับใช้มาตรการ LTV-loan to value หรือมาตรการบังคับเงินดาวน์ 20% ในการขอสินเชื่อซื้้อบ้าน-คอนโดมิเนียมหลังที่ 2 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ยังผสมโรงด้วยเทรดวอร์ สงครามการค้าจีน-สหรัฐ ล่าสุดและหนักสุดคือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กระทบรุนแรง และฉุดกำลังซื้อห้องชุดลดลงอย่างรวดเร็ว

สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้ไตรมาส 1/63 ดีเวลอปเปอร์ส่วนใหญ่ 41.8% ใช้กลยุทธ์ลดราคาห้องชุดเหลือขาย และห้องชุดที่นำกลับมาขายใหม่หรือห้องชุดหลุดดาวน์

โดยลดราคาขายลงตั้งแต่ 10.0-36.2% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/62

The show must go on ชีวิตยังต้องดำเนินต่อไป ทางเลือก-ทางรอดในภาวะผู้บริโภค WFH-work from home, #อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ แม้รัฐบาลไม่ได้ห้ามการเปิดสำนักงานขายที่ไซต์โครงการบ้าน-คอนโดฯ

แต่ภาวะจิตตกของผู้บริโภค ความกังวลจะติดเชื้อโรคเอาชนะทุกสิ่ง ทำให้การขายออฟไลน์สะดุด แต่ยังมีออปชั่นการขายบนออนไลน์

ไตรมาส 2/63 เทรนด์การแข่งขันธุรกิจอสังหาฯ จึงพร้อมใจกันเปิดแนวรบ online booking เพื่อช่วงชิงยอดขายให้ได้มากที่สุด

ตอกย้ำว่าไม่มีวิกฤตใดที่ไม่มีโอกาสบนโลกของการทำธุรกิจ

วิทการ จันทวิมล
รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กร 
และการสร้างสรรค์ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)

เอพีทำ 3-4 ปีที่แล้ว ตอนนั้นเปิดขายเป็นฟลอร์ การทำออนไลน์บุ๊กกิ้ง ณ เวลานี้กับเวลานั้นที่ผ่านมาคงไม่เหมือนกัน การทำปัจจุบันนี้ไม่ว่าเจ้าไหนก็ตาม เขาทำเพื่อขายระบายสต๊อกเก่าที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นคอนโดฯพร้อมอยู่ หรือยังสร้างไม่เสร็จ แต่ในอดีตออนไลน์บุ๊กกิ้งจะเกิดขึ้นกับการทำพรีเซล ก็คือตอนที่เราเปิดโครงการใหม่ แล้วให้คนเข้ามาจองซื้อ ก่อนที่เราจะเปิดสำนักงานขายจริง


วิธีการในการเปิดแต่ละโครงการจะมีการพรีเซล เปิดเซลส์ออฟฟิศ เชิญลูกค้า วี.ไอ.พี.เข้าไปดู เชิญลูกค้าทั่วไปเข้าไปดู อันนั้นคือปกติเมื่อ 4-5 ปีที่แล้วที่เราทำกัน ทีนี้มันก็มีเข้ามาว่าก่อนจะเปิดเซลส์ออฟฟิศให้คนเข้าไปซื้อของได้ เราก็ให้เขาเข้าไปดูแล้วมาจองออนไลน์ ซึ่งออนไลน์บุ๊กกิ้งที่ส่วนใหญ่ดีเวลอปเปอร์ทำ จะกัน 4-5 ฟลอร์จากทั้งตึกเพื่อมาเปิดขายออนไลน์

สำหรับโปรโมชั่น ในอดีตที่ทำคือการเปิดคอนโดฯใหม่ ซึ่งก็พิเศษด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว ได้จองก่อนใครในราคาเริ่มต้น โดยธรรมชาติคือวันที่เปิดวันแรก ราคามันจะถูกที่สุด แล้วราคาค่อย ๆ ขึ้นไป วันแรกที่เขาได้ก็จะได้ราคาพิเศษที่สุด

เป้ายอดขายส่วนใหญ่ที่เปิดให้จองซื้อตอนพรีเซลขายหมดอยู่แล้ว จะขึ้นป้าย sold out ในยูนิตที่เราเอามาขาย สัดส่วนก็แล้วแต่โครงการ มีหลากหลายตั้งแต่ 10-20% ของจำนวนยูนิตรวมทั้งโครงการ ซึ่งช่วงเปิดให้จองพรีเซลจะเปิดเป็นวัน เช่น เราบอกเลยว่าวันนี้มาขายมาซื้อเวลา 19.00-22.00 น. ก็จะแย่งเข้ามาซื้อ

ถามว่า learning curve จากการทำออนไลน์บุ๊กกิ้ง ดูที่ consumer behavior เช่น วิธีการตัดสินใจซื้อของเขา แตกต่างจากการซื้อในเซลส์ออฟฟิศหรือเปล่า ล่าสุด เอพีนำเสนอ vTour ของเราคือให้ดู ลงชื่อเข้ามา แล้วก็คุยกับเซลส์ เพราะลูกค้าต้องการต่อรองราคาด้วย เราก็ให้คุยกับเซลส์ ณ วันนี้ลูกค้ายังไม่จองเลย ยังต้องการที่จะต่อรองราคา ยังต้องการหลาย ๆ อย่างอยู่

ส่วนใหญ่ยังไม่มีการจองในเว็บไซต์ เท่าที่ผมดูจะเป็นเหมือนให้วางเงินรักษาสิทธิ์เอาไว้ เช่น 999 บาท, 5,000 บาท 10,000 บาท เพราะการจองต้องมีเซ็นสัญญาจอง เราถึงจะเรียกว่าการจอง ส่วนใหญ่เป็นการจ่ายเงินเพื่อรักษาสิทธิ์ เสร็จแล้วก็ต้องมีการนัดหมายกับเซลส์เพื่อเดินเข้าไปในโครงการเซ็นสัญญาต่อไป

ทั้งนี้ทั้งนั้น ออนไลน์บุ๊กกิ้งเราสามารถให้ลูกค้าเข้ามาจองได้ ผมเชื่อว่าจะค่อย ๆ เปลี่ยน behavior พฤติกรรมคน มันไม่สามารถเปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือได้ในเวลาเดียว ตอนนี้เราค่อย ๆ ทำก่อน วางเงินจองก่อน ต่อไปผ่อนดาวน์เลยไหม เซ็นสัญญาเลยไหม ซึ่งจะมีข้อกฎหมายหลาย ๆ อย่างเข้ามาที่เราจะทำอย่างไรให้เป็นสัญญาโดยไม่เจอหน้ากัน

ยังมีข้อกฎหมายอีกหลายอย่าง สัญญาจะซื้อจะขายอาจจะแตกต่างจากการซื้อ สมมติ let’s say ผมซื้อแชมพู ผมจ่ายเงิน อีกคนก็ส่งแชมพูมาให้ผม ก็จบถูกไหม ถ้าไม่ได้ของก็ไปฟ้องร้องกันอะไรไป

แต่การซื้อที่อยู่อาศัยเป็นสินค้าราคาหลายล้านบาท ปกติต้องมีสัญญาจองซื้อ แล้วก็มีสัญญาจะซื้อจะขาย ไปกระทั่งจนถึงการโอนกรรมสิทธิ์ จะมีสัญญาตรงนี้เข้ามาเกี่ยวเนื่องด้วย ฉะนั้น ณ วันนี้ เราเปลี่ยนให้วางเงินจองได้ แต่ต่อไปอนาคตถ้าพฤติกรรมลูกค้าเริ่มคุ้นเคยกับการซื้อบ้านออนไลน์ จองออนไลน์แล้ว เราอาจจะให้มีการทำสัญญาออนไลน์ ดาวน์เงินออนไลน์ จนถึงโอนนิติกรรมออนไลน์ได้ในอนาคต แต่ผมว่าวันนี้ยังเป็นช่วงแรกของการทำให้เกิดขึ้น

สำหรับกลยุทธ์ vTour ถามว่า คนอยากซื้อบ้านไหม คำตอบคนยังอยากซื้อบ้านอยู่ แต่ว่าคนยังไม่กล้าเข้าไปดู อีกอันคือช่วงนี้เป็นช่วงที่ใคร ๆ ก็รู้ว่าคอนโดฯลดราคาเยอะ แล้วก็มีคอนโดฯที่สร้างเสร็จหลายโครงการกำลังถูกนำออกมาขาย แล้วก็ประกอบกับคนที่เป็นนักลงทุนที่มีเงิน แต่วันนี้ไม่รู้จะไปลงทุนที่ไหน หุ้นก็ตก ทองก็ไม่ดี ซื้อบอนด์ก็ไม่ได้ ก็เอามาลงที่อสังหาฯ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย เก็บไว้อย่างไรในอนาคตก็มีแต่ขึ้น (ราคา) อย่างเดียว

ดังนั้น มีทั้งดีมานด์และซัพพลายที่เกิดขึ้น เพียงแต่ว่าวันนี้มีโควิด-19 เข้ามา ทำให้ดีมานด์ไม่สามารถเข้าไปซื้อของได้ เราก็ทำ vTour เพื่อให้คนอยากได้สามารถเข้ามาดู โดยเซลส์เราเป็นคนพาดู แล้วก็พูดคุยกัน ตัดสินใจซื้อ แต่เวลาที่ตัดสินใจซื้อก็มาเจอหน้ากัน มาเซ็นสัญญากัน

พัฒนาการของ vTour ออนไลน์บุ๊กกิ้งที่เราเคยทำตอนพรีเซล ลูกค้ายังไม่เห็นของ ยังไม่ได้เข้าไปดู เพราะโครงการยังไม่ได้ก่อสร้างเลย ยังไม่รู้ว่าชั้น 20 จะเห็นวิวแบบไหน ลูกค้าได้แต่จินตนาการและไปดูจอมอนิเตอร์ที่เราทำให้ดูว่าชั้น 20 ประมาณนี้ แล้วก็ขึ้นโดรนถ่ายให้ดู ถ่ายรูปมาให้เห็นว่าถ้าสูงประมาณ 20 ชั้น จะเห็นอย่างไร แต่ก็จะเห็นจากจอ

แต่หนนี้ลูกค้าที่อยากไปดูห้องยูนิตนี้ ตรงมุมนี้ เซลส์สามารถพาขึ้นไปดู อยากเห็นวิวมีอะไรบังหรือเปล่า ก็จะเห็นของจริงหมด เป็นพัฒนาการที่ทำให้ลูกค้าสามารถเห็นของโดยที่ไม่ต้องเข้าไปที่โครงการ แน่นอนที่สุด experience ลูกค้าวันนี้ คือ ไม่กล้าเข้าโครงการ วันนี้ลูกค้าก็สามารถเห็นของได้แล้ว และไม่ใช่แค่เห็นแบบวิดีโอแห้ง ๆ ที่ดูไปแล้วก็ไม่สามารถพูดคุยได้ หรืออยากเห็นซอกนี้ มุมนี้ ไม่สามารถเห็นได้ แต่หนนี้สามารถที่จะอยากดูตรงนี้นิดหนึ่งก็ดูได้

ซึ่ง vTour เปิดการขายออนไลน์บุ๊กกิ้งกับบ้านด้วย เร็ว ๆ นี้มีแน่นอน เพราะถ้าทำคอนโดฯได้ก็ทำแนวราบได้หมดเลย เพียงแต่ต้องมีสเต็ปในการทำ เพราะบ้านมีรายละเอียดมากกว่าห้องชุด เวลาคนไปซื้อบ้านก็ต้องไปเดินดู ไม่ได้แตกต่างจากที่เป็นอยู่ แต่ถ้าเทียบกับคอนโดฯอาจจะต้องเดินเยอะหน่อย พื้นที่ใช้สอยมันเยอะกว่า (ยิ้ม)

vTour ตอนนี้เรายิงเข้าไปในกลุ่มเป้าหมายลูกค้าเอพีอยู่แล้ว กำลังดูว่าลูกค้ากลุ่มไหนที่ตอบรับเรามากที่สุด แน่นอนที่สุดวันนี้เราก็ยิงแบบแมสกว้าง ๆ อาจจะเป็นคนที่เด็กลงมาหน่อย คนที่ยอมรับกับการเปลี่ยนแปลง หรือยอมรับกับเทคโนโลยี แต่เราก็ยังตอบไม่ได้ 100% ต้องดูผลอีก เพิ่งเปิดตัวไป ลูกค้ามีเข้ามาเรื่อย ๆ ทั้งที่เราเองก็ยังไม่ได้โปรโมตเต็มที่

ในอนาคตผมว่าต้องค่อย ๆ พัฒนาขึ้น ต้องมีการอัพเกรดเวอร์ชั่น มีพัฒนาการในการซื้อออนไลน์ไปเรื่อย ๆ ให้คนคุ้นเคยมากขึ้น เปลี่ยนพฤติกรรมการซื้ออสังหาฯไปเรื่อย ๆ

คำถามออนไลน์บุ๊กกิ้งเหมาะกับเซ็กเมนต์ไหนของคอนโดฯ ผมมองว่าคอนโดฯที่เรากำลังทดลองอยู่ก็มีหลาเซ็กเมนต์ อยู่ในขั้นที่เราทดลองว่าเซ็กเมนต์ไหนได้ผลตอบรับดีที่สุด กำลังเทสต์ตลาดอยู่ เทสต์การยอมรับว่าลูกค้ายอมรับได้ไหม เป็นลูกค้าหน้าตาแบบไหน ราคาแพง ถูก หรือตรงกลาง ๆ ถ้าได้คำตอบมา เราก็สามารถทำให้กระบวนการขายออนไลน์มันคมขึ้น ดีขึ้น

อย่างคอนโดฯ เอพีตลาดแมสของเราน่าจะเริ่ม 3 ล้านบาท ซึ่งนิยามตลาดแมสถูกเปลี่ยนมาเรื่อย ๆ อยู่แล้ว ตลาดแมสสมัยก่อนเราพูดถึงคอนโดฯ ต่ำล้าน สมัยนี้ค่าที่ดิน ค่าก่อสร้างเปลี่ยนไป คอนโดฯต่ำล้านหายไปหมดเลย หายเข้ากลีบเมฆ หรือต้องไปหาทำเลไกลมากเลยนอกจากกรุงเทพฯ ราคาคอนโดฯแมสเลยขึ้นมาเป็น 1 ล้านกว่าบาท แต่ว่าวันนี้ก็หายาก จะ shift ขึ้นไปเป็น 2 ล้านกว่า-3 ล้านบาท

อันนี้ไม่ได้เกี่ยวกับออนไลน์หรือไม่ออนไลน์ มันเกี่ยวกับธรรมชาติของโครงสร้างธุรกิจต้นทุนที่ดินแพงขึ้น ค่าก่อสร้างแพงขึ้น แต่คนยังอยากอยู่ที่เดิม อยู่ในเมือง ติดรถไฟฟ้า บางสถานีเมื่อ 5-6 ปีที่แล้วขายได้ 1-2 ล้านบาท มาเปิดตอนนี้ต้องขาย 3 ล้านแล้ว

มีคำถามที่ถามกันเยอะ ทำออนไลน์บุ๊กกิ้งแล้ว ต้นทุนการตลาดลดลงหรือเปล่า ยังเร็วเกินไปที่จะตอบ ยังตอบไม่ได้ เราไม่รู้จริง ๆ ว่าตอนนี้ในระหว่างที่ทำจะมีอะไรหรือเปล่า แต่โดยรวมแล้วไม่น่ามีผลมากนักเกี่ยวกับต้นทุน

ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 ผมว่าเป็นในทุกธุรกิจอยู่แล้วที่ต้องหันมาหาสื่อที่วิ่งเข้ามาที่บ้าน ดังนั้นสื่อที่อยู่บนท้องถนนก็อาจจะลดลง คนออกไปอยู่บนท้องถนนลดลง สื่อบนท้องถนนก็อาจจะลดลง เน้นกลับมาสื่อที่ถึงที่บ้าน โมบาย อินเทอร์เน็ต หรือทีวี เอพีทำทุกช่องทางเลย เราเป็นพาร์ตเนอร์ที่ใกล้ชิดกับเฟซบุ๊ก เราเวิร์กกับกูเกิล ไลน์ เราเวิร์กกับทุก ๆ เจ้าเลย

ในช่วงโควิดระบาดกับการใช้งบฯออนไลน์เพิ่มขึ้น… ยังตอบไม่ได้ว่าจริง ๆ budget มันถูก แน่นอนว่าเราเห็นว่า budget ถูกปรับเปลี่ยนแทนที่จะไปลงสื่อดั้งเดิม เราก็ไปลงสื่อประเภทใหม่ เป็นแนวโน้มทางการตลาด อย่างที่กูเกิลบอกว่ามีคนมาใช้งานเยอะขึ้น แต่เขาก็หาเงินมากขึ้นไม่ได้เพราะมันก็มีการต่อรอง ตอนนี้ยังตอบชัด ๆ ไม่ได้ ต้องผ่านไปสัก 1-2 ไตรมาส ถึงจะรู้ว่า budget ถูกปรับซ้าย ปรับขวาอย่างไรหรือเปล่า

ในด้าน KPI การใช้ออนไลน์ เรามองที่ปลายทางมากกว่ามองที่ยอดขาย แน่นอนที่สุดตามแพลนของเอพียังรักษาแพลนเดิมไว้อยู่ แต่ว่าแพลนเดิมด้วยวิธีขายเดิมมันทำไม่ได้ เพราะฉะนั้น ต้องหาวิธีการขายใหม่เพื่อให้ได้ KPI เดิม

แนวโน้มหลังจากนี้ อย่างที่หลายคนพูดไว้ พอโควิดผ่านไป พฤติกรรมคนจะเปลี่ยนไป วันนี้เราตอบไม่ได้ วันนี้ไม่มีใครตอบได้ว่าจะเปลี่ยนไปทางไหน แต่ก็ต้องพยายามปรับตัวให้เร็วที่สุด อย่างวันนี้มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาประกอบกับการตัดสินใจซื้อ หรือกระบวนการขายคอนโดฯ หรืออสังหาฯ ถ้าเราไม่ปรับตัววันนี้มันอาจจะไม่เหมือนเดิมก็ได้

ถามว่าคอนเทนต์แบบไหนที่ได้ผล คลิป เท็กซ์ หรือโปรโมชั่น…แน่นอนว่าคนชอบดูที่สุดคือวิดีโอ แต่วิดีโอก็ต้องไม่ยาวมาก วิดีโอสไตล์ informative ให้ความรู้ ให้คำแนะนำ และไม่ยืดเยื้อ คนสมัยนี้ใจร้อน ไม่ต้องมาอารัมภบทเยอะ ความยาวคลิปอยู่ที่คอนเทนต์ ถ้าเป็นประเภทการมาเล่าเรื่อง สอนหนังสือ มาเล่าทฤษฎี อาจจะ 15 นาทีได้ แต่ถ้าเป็นโฆษณาต้องไม่เกิน 1 นาที หรือภายใน 1.30 นาทีก็ต้องจบแล้ว

ส่วนสถานการณ์ไตรมาส 2/63 ยอดคอลยังไม่เยอะขึ้น เพราะปกติแล้วไตรมาส 2 เป็นไตรมาสที่ค่อนข้างแผ่วอยู่แล้วเทียบกับทุกไตรมาส สมัยก่อนก็เป็นช่วงสงกรานต์ อย่างช่วงนี้เป็นช่วงวันหยุดที่ยอดขายจะแผ่วอยู่แล้ว ปีนี้มาเจอโควิดก็แผ่วไปตามธรรมชาติของฤดูกาลขาย

เทคนิคเพื่อจะปิดการขายออนไลน์ ลูกค้าคอลครั้งที่ 2 เป็นเทคนิคของพนักงานขาย คือการขายที่เก่ง คงไม่ใช่แค่ให้ข้อมูล ต้องรู้จักปิดการขายด้วย เป็นเทคนิคส่วนตัวของแต่ละคน บางคนเก่งมากก็อาจจะปิดการขายในคอลแรกเลย ถ้ายังไม่เก่งก็อาจจะปิดในคอลที่ 2 หรือ 3 ก็ได้ แล้วแต่เทคนิคแต่ละคน โปรโมชั่นก็ใช้ ลูกค้าบางคนควักเร็ว บางคนควักช้า บางคนไม่ต้องควักเลยก็สามารถปิดการขายได้

กับคำถามวิธีการทำออนไลน์ให้ลูกค้าประทับใจมีอะไรบ้างนั้น…อันนี้ผมยังไม่รู้เลย (หัวเราะ) เพราะผมก็ยังตอบไม่ได้ว่าจริง ๆ แล้ว response ลูกค้าเขาต้องการอะไรเพิ่มเติมหรือเปล่า วันนี้ขอฝึกพนักงานเราให้ใช้เทคโนโลยีนี้ให้คล่อง ทั้งวิธีการถือกล้อง วิธีการที่ทำให้คนเห็นภาพที่ชัดเจน ไม่หมุนเยอะเวียนหัว พวกนี้เป็นเทคนิค เรายังไม่รู้ว่าความต้องการลูกค้าเป็นอย่างไร เราจะทำอย่างไรให้รู้ว่าประสบการณ์แรกมันดีแค่นั้นเอง
สุดท้าย ก้าวต่อไปบนออนไลน์ของเอพี… ค่อย ๆ ดูกันไป เราก็ study ไปเรื่อย ๆ มีอีกหลายอย่างที่เราศึกษาอยู่ พยายามทำให้มากขึ้น เพราะถึงแม้ผ่านโควิดไป คนอาจจะขี้เกียจเดินทาง ไม่อยากไปไหนมาไหน นั่นก็เป็นพฤติกรรมที่อาจเปลี่ยนแปลงก็ได้ คนอาจอยากอยู่กับที่ หรือบางทีนั่งอยู่ในร้านอาหาร ร้านกาแฟ อยากนัดเซลส์ดูคอนโดฯก็นัดได้เลย แทนที่จะต้องขับรถวิ่งไป จะมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เราก็ต้องคอยเฝ้าดู

อย่างที่หลาย ๆ คนพูดว่า วิกฤตหนนี้มาเร็ว แรง และหนัก ก็อาจจะเปลี่ยนพฤติกรรมของคนอีกหลายอย่าง แต่ยังไม่มีใครตอบได้ว่า จะเปลี่ยนไปอย่างไร