คน | งาน : เศรษฐกิจถดถอย เทคโนโลยีวิ่งแซง

พนักงาน ทรัพยากรบุคคล คนทำงาน ลาออก ปลดพนักงาน
Image from cody lannom on Unsplash / Freepik

เมื่อเศรษฐกิจยังถดถอย เทคโนโลยีเริ่มวิ่งแซงผู้คน แล้วเราจะรับมืออย่างไร? ย้อนภาพการปลดพนักงานครั้งใหญ่ ตลอดปี 2565 และเรียนรู้เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต

ตลอดปี 2565 ที่ผ่านมา แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นจนกลับมาเดินหน้าต่อได้แล้ว แต่รอยแผลจากสถานการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะรอยแผลที่ฝากไว้กับระบบเศรษฐกิจที่ทำให้หลายประเทศถดถอย

ขณะเดียวกันการมาของสถานการณ์โควิด-19 ก็ทำให้เทคโนโลยีพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้หลายบริษัทเลือกที่จะนำเทคโนโลยีมาทดแทนคนในบางเนื้องาน ผลร้ายก็กลับมาที่เหล่าพนักงานที่ต้องตกงานไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ย้อนเหตุการณ์ หลายองค์กร “ปลดพนักงาน”

เหตุการณ์การปลดพนักงานตลอดปี 2565 มีหลาย ๆ ครั้งที่สั่นสะเทือนต่อผู้คนอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยี ที่มีการปลดคนจำนวนมาก จนทำให้ใครหลายคนตั้งคำถามถึงความมั่นคงในหน้าที่การงาน ที่แม้แต่คนทำงานบริษัทเทคโนโลยี ที่เป็นโลกอุตสาหกรรมใหม่และเป็นอนาคตของโลกวันนี้ ยังเสี่ยงตกงานได้

หนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีที่มีการประกาศปลดพนักงาน คือ Meta Platform Inc. เจ้าของเฟซบุ๊ก (Facebook) และอินสตาแกรม (Instagram) ที่ประกาศปลดพนักงานครั้งใหญ่ มากถึง 11,000 คน ซึ่งนับเป็นสถิติการปลดพนักงานที่มากที่สุดตลอดทั้งปี

สาเหตุหลักของการปลดครั้งนี้ คือ การปรับโครงสร้างองค์กรให้เหมาะสม หลังธุรกิจด้านเมตาเวิร์สที่เป็นหมุดหมายใหม่ของบริษัทฯ ยังอยู่ในสถานะขาดทุน ไม่สามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัทได้

นอกจากบริษัทระดับโลกแล้ว บริษัทเทคโนโลยีในเอเชียก็มีการประกาศปลดพนักงานด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น Sea (ซี) ของสิงคโปร์ เจ้าของ Shopee, ShopeePay ที่ประกาศปลดพนักงานอย่างต่อเนื่อง จากปัญหาขาดทุนสะสม จนล่าสุดมีการปลดแล้วอย่างน้อย 7,000 คน หรือ GoTo เทคสตาร์ทอัพสัญชาติอินโดนีเซีย ที่ประกาศปลดพนักงาน 1,300 คน เพื่อลดต้นทุน และรับมือกับโลกข้างหน้าที่ยังรวนเร

นอกจากบริษัทเทคโนโลยีที่ปลดพนักงานกันเป็นจำนวนมากแล้ว ธุรกิจประเภทอื่น ๆ ก็ต้องปลดพนักงานไปไม่น้อยเช่นกัน ทั้งบริษัทสื่อ บันเทิง และบริษัทที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ไฟฟ้า

Shopee-JSL สองเคสปลดพนักงานครั้งใหญ่ ในเมืองไทย

ในประเทศไทยเอง การปลดพนักงานครั้งใหญ่ ๆ ที่เกิดขึ้นและเป็นกระแสข่าวอย่างยาวนาน หนึ่งในนั้นคือ Shopee (ช้อปปี้) แบรนด์อีคอมเมิร์ซยอดนิยมในไทย ที่ความนิยมและรายได้มีทิศทางที่สวนทางกันอย่างมาก

โดยประเทศไทย เป็นหนึ่งในประเทศที่บริษัทแม่ Sea (ซี) ตัดสินใจปลดและปรับลดพนักงาน ทั้งส่วนของ Shopee, ShopeePay อีวอลเล็ต และบริการฟู้ดเดลิเวอรี่ ShopeeFood ซึ่งมีการปลดแล้วถึง 2 ครั้ง โดยเริ่มจากปลดพนักงานส่วนของบริการ Pay และ Food ราว 50% เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และตามมาด้วยพนักงานส่วนอีคอมเมิร์ซที่โดนปลดราว 10% เมื่อเดือนกันยายน 2565

อีกหนึ่งการปลดที่ยิ่งใหญ่และน่าตกใจ คือ กรณีของบริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย ที่ประกาศยุติการดำเนินงานบางส่วน ตั้งแต่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้พนักงานนับร้อยคน กลายเป็นคนตกงานในทันที

ย้อนกลับไปในแถลงการณ์ของบริษัทฯ ระบุเหตุผลการปิดตัวไว้ว่า “บริษัท จะพยายามปรับตัวในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้สามารถยืนหยัดในอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงได้ต่อไป เพื่อที่จะได้สร้างผลงานที่ดีมีคุณภาพให้กับผู้ชมของเรา แต่ก็ยังไม่บรรลุผลตามที่ตั้งเป้าหมายได้”

แต่เมื่อ “ประชาชาติธุรกิจ” ย้อนกลับไปดูผลประกอบการก่อนบริษัทปิดตัว พบว่า มีรายได้ที่ลดลง แม้บางปีจะสามารถทำรายได้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่ก็ยังไม่ช่วยให้ภาวะขาดทุนสะสมที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2560 บรรเทาลงได้

นอกจากนี้ ปัญหาด้านรายได้และผลประกอบการของบริษัทฯ ที่อยู่ในภาวะขาดทุนมาโดยตลอด ยังกระทบถึงพนักงาน ตั้งแต่การจ่ายเงินเดือนที่ไม่สามารถจ่ายได้เท่ากับช่วงปกติ ไปจนถึงการจ่ายค่าชดเชยกรณีตกงาน ที่บริษัทไม่สามารถจ่ายได้เต็มจำนวน จนทำให้เกิดการร้องเรียนจากพนักงาน ท้ายที่สุด บริษัทฯ ต้องตัดใจขายสำนักงานของตัวเองในซอยลาดพร้าว 107 เพื่อนำเงินมาชดเชยให้กับพนักงานจนครบจำนวน

ไม่ใช่แค่เศรษฐกิจ ที่อาจกระทบคนทำงาน (และบริษัท)

นอกจากปัญหาเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ รอบตัว ที่อาจทำให้บริษัทตัดสินใจปลดพนักงานได้ ในมุมของพนักงานเอง ก็อาจตัดสินใจที่จะทิ้งบริษัทได้เช่นกัน ดังเช่นกระแสต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น Great Resignation ภาวะที่คนทำงานส่วนใหญ่ลาออกเนื่องจากความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งรูปแบบการทำงานและการใช้ชีวิต

รวมถึงภาวะหมดไฟ ที่เป็นปัญหาสำคัญของคนทำงาน จนทำให้ใครหลายคนตัดสินใจลาออกจากงานได้โดยง่ายกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นระบบการทำงาน ภาระงาน หรือความเครียดจากการทำงาน ซึ่งล้วนเป็นตัวเร่งให้เกิดภาวะนี้

คนทำงาน (และบริษัท) จะรับมืออย่างไร? ในวันที่โลกไม่เหมือนเดิม

ทางออกสำคัญในการรับมือการเปลี่ยนแปลงด้านทรัพยากรบุคคล ในมุมของคนทำงาน การพัฒนาตนเอง เติมความรู้ให้ตนเองอยู่เสมอ ยังเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ยังทำงานในบริษัทเดิมต่อได้ หรือหากต้องลาออก หรือถูกปลดออก ก็ยังทำให้มีภาษีที่ดีกว่าในการได้งานทำในที่ทำงานใหม่

ยิ่งในปัจจุบัน โลกออนไลน์ ทำให้เราสามารถเข้าถึงเนื้อหาการเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ง่ายขึ้นและมากขึ้นกว่าในอดีต ทำให้โอกาสในการพัฒนาตนเองอยู่ใกล้แค่เอื้อม

ขณะที่บริษัทเอง ต้องพัฒนาการทำงานของบริษัท ทั้งรูปแบบการทำงาน ระบบการทำงาน รวมถึงความเป็นอยู่ของพนักงาน ให้ตอบสนองกับความต้องการของพนักงานมากที่สุด รวมถึงพยายามสำรวจและรับฟังความต้องการหรือปัญหาของพนักงานอยู่เสมอ เพื่อให้บริษัทหรือองค์กร ยังคงเป็นมิตรกับคนทำงานต่อไป

แม้เราจะปฏิเสธหรือหนีความเปลี่ยนแปลงของโลกไม่ได้ แต่การเตรียมตัวเองให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ยังเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เราอยู่รอดในวันที่โลกใบเดิมไม่แน่นอนได้