คิดแบบ Greenery แพลตฟอร์มสร้างสรรค์เพื่อเปลี่ยนโลก

หลายองค์กรในปัจจุบันตระหนักถึงความยั่งยืนมากขึ้น จากที่เคยทำเพื่อสังคมในรูปแบบกิจกรรมซีเอสอาร์ในระยะสั้น จากนั้นจึงวิวัฒนาการมาสู่ซีเอสอาร์ที่อยู่ในกระบวนการ (CSR in process) ไปจนถึงการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อของสหประชาชาติ (UN’s 17 SDGs) มาใส่ไว้ในนโยบายดำเนินธุรกิจ หรือแม้แต่การใช้กรอบแนวคิด ESG มาเป็นเกณฑ์คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล เพื่อให้การพัฒนาธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน

“ธนบูรณ์ สมบูรณ์” ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ Greenery (กรีนเนอรี่) กล่าวว่า หากภาคธุรกิจไม่ปรับตัวไปทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนและเพื่อโลก ผู้บริโภคจะเป็นผู้เปลี่ยนเอง โดยจะเลือกซื้อสินค้า และบริการที่มีส่วนช่วยโลกให้ดีขึ้น เนื่องจากพวกเขาให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีของตนเองในอนาคต ซึ่งต่อจากนี้ไปผู้บริโภคจะเป็นตัวกำหนดสินค้าและบริการที่ตนเองต้องการ

สอดคล้องกับความเชื่อของ Greenery ที่ต้องการส่งเสริมการใช้ชีวิตที่ยั่งยืน และสร้างสรรค์ของผู้คน โดยนำ SDGs ทั้ง 17 ข้อ มาสื่อสารให้ผู้บริโภคเข้าใจง่าย เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และนำไปสู่การปฏิบัติจริง โดยกรีนเนอรี่เป็นแพลตฟอร์มที่ส่งเสริมการใช้ชีวิตที่ยั่งยืนอย่างสร้างสรรค์ (one stop service platform for creative sustainable lifestyle)

“ถึงเราจะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ แต่เรามีจุดแข็งด้าน insight ผู้บริโภค รู้ว่าผู้บริโภคต้องการอะไร และปัญหาบนโลกสามารถช่วยบรรเทาหรือแก้ไขได้อย่างไร ที่สำคัญ เรามีเครือข่ายคนสายครีเอทีฟกว่า 27,000 คน ที่มีโซเชียลมิชชั่น (social mission) ต้องการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการเปลี่ยนศิลปะ และการออกแบบทำให้โลกนี้ดีขึ้น

และเราเชื่อว่าความคิดสร้างสรรค์ ศิลปะ และการออกแบบสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ (creativity, art and design can change the world)”

“ธนบูรณ์” เล่าย้อนให้ฟังว่า ก่อนจะมาเป็น Greenery ได้ก่อตั้งธุรกิจเพื่อสังคมในปี 2555 ชื่อว่า CreativeMOVE เป็นเอเยนซี่ที่สร้างนวัตกรรมสังคม (Social Innovation Agency) มีเป้าหมายในการใช้ความคิดสร้างสรรค์ การออกแบบ และศิลปะ เพื่อขับเคลื่อนปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยทำงานร่วมกันบุคคลหลายภาคส่วน

ปัจจุบัน CreativeMOVE ให้บริการด้านการวิจัย และออกแบบพัฒนานวัตกรรมสังคม ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โครงการ และกิจกรรมเพื่อความยั่งยืน แคมเปญรณรงค์ เป็นต้น นอกจากนั้นยังให้บริการด้านสื่อสารกับองค์กรภาครัฐ เอกชน และองค์กรด้านสังคมต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ

“ไอเดียการสร้าง CreativeMOVE มีจุดเริ่มต้นจากช่วงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ซึ่งเป็นช่วงที่คนจำนวนมากต้องการความช่วยเหลือ แล้วผมเห็นช่องว่างว่าองค์กรที่ทำงานช่วยเหลือสังคม อย่างเช่น NGOs หรือมูลนิธิต่าง ๆ มีจุดอ่อนด้านการสื่อสาร จึงเข้าไปช่วยทำสื่อดิจิทัลผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก เพื่อสื่อสารความต้องการออกไปสู่สาธารณะ โดยทำเพจชื่อว่าอาสาสมัครฟื้นฟูประเทศไทย (SiamArsa) มีผู้ติดตามหลักแสนคน เพื่อใช้เชื่อมโยงระหว่างผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ กับคนที่ต้องการจะช่วยเหลือผู้อื่นมาเจอกัน”

จุดเด่นของอาสาสมัครฟื้นฟูประเทศไทย คือมีคนจากหลากหลายอาชีพมาช่วยเหลือในรูปแบบที่แตกต่างออกไป สามารถแบ่งออกเป็น 3Ts คือ 1.Time อุทิศเวลา 2.Treasure บริจาคทรัพย์ และ 3.Talent ใช้ความสามารถมาช่วยเหลือ จากนั้นงาน และกลุ่มคนก็ขยายตัวออกไปเรื่อย ๆ และเริ่มมีภาคธุรกิจ ภาครัฐ และ NGOs ติดต่อมาให้เราช่วยออกแบบงานเพื่อสังคม จึงก่อตั้ง CreativeMOVE ขึ้นมา และเชื่อมโยงคนครีเอทีฟให้มาทำงานด้านสังคมร่วมกัน

“ต่อจากนั้นเรารับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อทำเครือข่ายพลเมืองสร้างสรรค์ Creative Citizen ซึ่งเป็นกลุ่มนักสร้างสรรค์ นักออกแบบ และศิลปิน ที่มีความเชื่อเหมือนกันว่าความคิดสร้างสรรค์ สามารถเปลี่ยนโลกได้ และมีการทำเว็บไซต์เพื่อรวมคอนเทนต์เปลี่ยนโลก ปัจจุบันมีคนเข้าชมกว่า 4 ล้านคน และมีกว่า 2,000 คอนเทนต์”

จัดกิจกรรมเวิร์กช็อป

นอกจากนั้น ยังมีจัดกิจกรรมเวิร์กช็อป Creative Citizen Academy ล่าสุดเพิ่งจัดไปเมื่อเดือนกรกฎาคมผ่านมา เป็นรุ่นที่ 3 โดยเป็นกิจกรรมไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่เป็นองค์กรเพื่อสังคม มูลนิธิ หรือองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานด้านสังคม สุขภาวะ และสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ เพื่อให้ทุกคนที่เข้าร่วมเข้าใจพื้นฐานของการสร้างสื่อคอนเทนต์ออนไลน์ เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนสังคมอย่างสร้างสรรค์ไปด้วยกัน

“ธนบูรณ์” อธิบายต่อว่า ปัจจุบันมีการปรับโครงสร้าง CreativeMOVE โดยชู Greenery ให้มาเป็นร่มใหญ่ เพราะตั้งใจจะสร้างเครือข่ายผู้บริโภคอาหารปลอดภัย ผ่านการสื่อสารที่เข้าใจง่ายบนพื้นที่ออนไลน์ที่ทุกคนเข้าถึงสะดวก นำเสนอสองเรื่องราวหลักที่นิยามได้ด้วยวลีสั้น ๆ “eat good. live green”

“ผมเชื่อว่าท่ามกลางข้อจำกัดของชีวิตที่หลากหลาย เราทุกคนควรใส่ใจเลือกกินอาหารที่ดี ปลอดสารพิษ ปรุงอย่างตั้งใจ ออกกำลังกาย อย่างสม่ำเสมอ และเราเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาสิ่งแวดล้อมที่เชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกับตัวเรา เพื่อสร้างสุขภาพชีวิตที่ดีเท่าที่ทำได้”

สำหรับธุรกิจของ Greenery ประกอบด้วย 5 ยูนิต คือ

หนึ่ง Green Agency บริการด้านสื่อสารกับองค์กรภาครัฐ เอกชน และองค์กรด้านสังคมต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ที่เน้นการสร้างอิมแพ็กต์เพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคมเท่านั้น

สอง Green Media ทำอินโฟกราฟิก 3 ด้าน คือ 1.Clean Power (พลังงานสะอาด) 2.Eat Good (การกินดี) 2.Live Green (การใช้ชีวิตที่เน้นลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม)

สาม Green Events & Activities จัดกิจกรรมและเวิร์กช็อป กินดี และใช้ชีวิตที่ดี เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

Green Marketplace

สี่ Green Marketplace ตลาดที่เปิดให้เกษตรกรมาขายของโดยตรงที่เน้นสินค้ากรีน อาหารปลอดภัย ผักสด และผลไม้อินทรีย์ ปศุสัตว์อินทรีย์ ผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติ กิจการเพื่อสังคม และจัดให้มีเวิร์กช็อป นิทรรศการ เสวนา ดนตรี ภายใต้วิถี “กินดี กรีนดี” ทั้งนี้ กรีนเนอรี่กำลังจะสร้างตลาดออนไลน์ ที่ขายเฉพาะสินค้ากรีน วางแผนจะเปิดตัว 1 ปีต่อจากนี้

ห้า Green Products ตอนนี้มี Greenery Water น้ำดื่มบรรจุกระป๋องอะลูมิเนียม ซึ่งเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาขยะพลาสติก

Greenery Water

“น้ำดื่ม Greenery ยึดหลักเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดทั้งกระบวนการผลิตและบริโภค เนื่องจากอะลูมิเนียมคือวัสดุที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ 100% จึงช่วยลดการใช้ทรัพยากรในการผลิต รวมถึงลดคาร์บอนฟรุตพรินต์ อันเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาโลกร้อนในปัจจุบัน

ที่สำคัญ ยังตอบโจทย์การพัฒนาตามแนวทาง SDGs ข้อที่ 12 ในมิติของการบริโภคและพัฒนาที่ยั่งยืน ปัจจุบันเราขายผ่านโรงแรมกว่า 40 แห่งทั่วประเทศไทย”

“ธนบูรณ์” กล่าวด้วยว่า กรีนเนอรี่ให้ความสำคัญกับการชวนคนรุ่นใหม่มาร่วมกันแก้ไขปัญหาขยะ จึงทำโครงการ Greenery Challenge โดยร่วมกับ TikTok ตั้งเป้าร่วมกันแบ่งปัน ประสบการณ์ ความสำเร็จ ความผิดพลาดและแนวทางแก้ไข รวมถึงเทคนิค หรือความรู้ ในการลดขยะในชีวิตประจำวัน

“นอกจากปัญหาขยะ เรายังให้ความสำคัญกับมิติความหลากหลาย เช่น การรับอาสาสมัคร TikToker ทำกิจกรรม TikTok Volunteers for Health ล่าสุดมีเวิร์กช็อป TikTok กับคุณธรรมชาติ (Thammachad) ที่มีผู้ติดตามบน TikTok กว่า 5.5 ล้านคน เพื่อทำภารกิจสื่อสารประเด็นความหลากหลายทางเพศ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ LGBQ+ ด้วยโจทย์จาก Genderation และยังได้รับการสนับสนุนโดย สสส. ด้วย”

“ธนบูรณ์” กล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งสำคัญในการออกแบบโครงการเพื่อสังคม คือเมื่อเราได้โจทย์มาแล้ว เราต้องเข้าถึงปัญหานั้น ๆ ด้วยการนำโจทย์ไปทำ research คุยกับคนที่ประสบปัญหา เพื่อหาคำตอบว่าสิ่งที่เราคิดมาจะใช้แก้ปัญหาได้หรือไม่ จากนั้นจึงค่อย ๆ พัฒนามาเป็นโครงการจริง เพราะการคิดโครงการเพื่อสังคม ไม่ใช่เพียงการคิดไอเดียบนกระดาษและส่งผลงานให้กับผู้ว่าจ้าง

นับว่า Greenery เป็นแพลตฟอร์มที่รวมกลุ่มคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ และความตั้งใจจะขับเคลื่อนสังคม ผ่านข้อมูลความรู้ แนวคิด สร้างสรรค์ และแรงบันดาลใจ ในการใช้ชีวิตที่เชื่อมโยงกับโลกรอบตัว