จีนเผชิญ “เงินฝืด” แบบยืดเยื้อ กระทบเศรษฐกิจโลกอย่างไรบ้าง ? 

จีน เงินฝืด เศรษฐกิจ
ตลาดกลางแจ้งในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน/ บันทึกภาพวันที่ 12 มกราคม 2024 (ภาพโดย Florence Lo/ REUTERS)

ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของจีนในเดือนมกราคม 2024 ลดลง 0.8% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) ซึ่งเป็นการลดลงในอัตราเร็วที่สุดในรอบ 14 ปีกว่า นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2009 และลดลงติดต่อกันมาแล้ว 4 เดือน อัตราการขยายตัวอยู่ต่ำกว่า 1% มาแล้ว 9 เดือนต่อเนื่อง ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ก็หดตัวมาติดต่อกัน 16 เดือน ซึ่งหมายความว่าจีนเผชิญภาวะ “เงินฝืด” แบบยืดเยื้อแล้ว   

ภาวะเงินฝืดที่จีนเผชิญมาแล้ว 3 ไตรมาสติดต่อกัน ถือเป็นภาวะเงินฝืดที่ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์การเงินเอเชีย (วิกฤตต้มยำกุ้ง) ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 และมีแนวโน้มว่าภาวะนี้จะดำเนินต่อไป ซึ่งเพิ่มความท้าทายให้กับผู้กำหนดนโยบายที่กำลังพยายามหาทางกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจและคลี่คลายวิกฤตหนี้ที่คุกรุ่นอยู่

เงินฝืดของจีนมีสาเหตุมาจากการที่กำลังซื้อของผู้บริโภคอ่อนแอ บวกกับการตกต่ำของภาคอสังหาริมทรัพย์บั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ส่งผลให้ผู้คนไม่ซื้อสินค้าชิ้นใหญ่ ผู้ผลิตสินค้าจึงลดราคาสินค้าลง แล้วเกิดการลดราคาสินค้าลงตามกัน บวกกับราคาพลังงานก็ลดลงจากปี 2022 เพราะอุปทานในตลาดฟื้นตัวจากภาวะช็อกเนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนแล้ว 

การที่สินค้ามีราคาต่ำลงนั้น ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ดีต่อผู้บริโภค แล้วปัญหาคืออะไร และการที่จีนเผชิญเงินฝืดแบบยืดเยื้อยาวนานนั้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างไรบ้าง ? 

ปัญหาของภาวะเงินฝืดที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจคือ ราคาสินค้าที่ถูกลงไม่ได้กระตุ้นการบริโภค เพราะเมื่อผู้บริโภคเห็นว่าสินค้ามีแนวโน้มที่จะราคาต่ำลง ผู้บริโภคก็จะชะลอการซื้อสินค้าและบริการ เพราะคาดการณ์ว่าราคาสินค้าจะลดลงอีกในอนาคต ซึ่งนั่นทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง สร้างแรงกดดันต่อรายได้ของธุรกิจไปจนถึงแรงงาน แล้วอาจส่งผลให้การใช้จ่ายน้อยลงและราคาสินค้าลดลงอีก 

ในอีกทางหนึ่ง ภาวะเงินฝืดยังส่งผลให้ระดับของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (อัตราดอกเบี้ยที่ปรับผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อแล้ว) สูงขึ้น เมื่อต้นทุนทางการเงินสูงขึ้นก็ทำให้ธุรกิจทั้งเล็กและใหญ่ลงทุนได้ยากขึ้น ซึ่งจะทำให้ดีมานด์ในระบบเศรษฐกิจลดลง 

ด้วยวงจรแบบนี้ เมื่อภาวะเงินฝืดเกิดขึ้นต่อเนื่องมาระยะหนึ่งแล้วมันจึงแก้ยาก และเสี่ยงที่จะทำให้เป็นภาวะเงินฝืดที่ลึกลงไปเรื่อย ๆ กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ ดังตัวอย่างของประเทศญี่ปุ่นที่อยู่ในภาวะเงินฝืดมายาวนาน 20 กว่าปี

ส่วนผลกระทบของเงินฝืดในจีนต่อเศรษฐกิจโลกจะมีสองด้านเหมือนดาบสองคม คือเมื่อผู้ผลิตสินค้าในจีนลดราคาสินค้าลงเพื่อลดอุปทานส่วนเกิน จะเกิดแรงกระเพื่อมไปยังประเทศต่าง ๆ ทั้งสหรัฐอเมริกา และประเทศต่าง ๆ ในเอเชียและยุโรป ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในแง่การทำให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศเหล่านั้นลดลง ช่วยลดความเดือดร้อนของผู้บริโภคที่เผชิญภาวะเงินเฟ้อสูงมานาน และเป็นการช่วยงานธนาคารกลางในประเทศเหล่านั้นให้ “จบงาน” ได้เร็วขึ้น แต่อีกคมหนึ่งของดาบคือ อาจจะเพิ่มความตึงเครียดทางการค้าได้ เพราะสินค้าที่ผลิตภายในประเทศหรือในภูมิภาคนั้น ๆ จะถูกสินค้าจีนตัดราคา ซึ่งอาจกระทบรายได้และกำไรของบริษัทต่าง ๆ

ในทางกลับกัน การที่กำลังซื้อในจีนอ่อนแอ ก็ส่งผลกระทบต่อยอดขายสินค้าและบริการจากต่างประเทศในตลาดจีนอย่างแน่นอน รวมไปถึงการท่องเที่ยวที่คนจีนยังไม่ออกเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศมากอย่างที่ประเทศต่าง ๆ หวัง ก็เป็นหนึ่งผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจภายในของจีน และความไม่มั่นใจของชาวจีนในการที่จะใช้จ่ายเงินในภาวะเศรษฐกิจที่น่ากังวลเช่นนี้ 

นอกจากนั้น ผลกระทบที่ชัดเจนมากในระดับย่อยลงไปคือ รายได้และกำไรของบริษัทจีนที่น้อยลง จะส่งผลกระทบต่อนักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในบริษัทจีน ซึ่งนี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตลาดหุ้นจีนตกต่ำต่อเนื่องมาหลายเดือนจนถึงขณะนี้

นักเศรษฐศาสตร์บางคนเชื่อว่า “ภาวะเงินฝืด” ของจีนสามารถกระตุ้นให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำได้ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจริงก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างมาก เพราะจีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และมีส่วนอย่างมากในการขับเคลื่อนความเป็นไปของเศรษฐกิจโลก